ภัยเงียบขี้หู




ใครๆ มักเข้าใจผิดว่า มีขี้หูไม่ดี ควรเอาออก และนี่คือ ภัยเงียบที่คาดไม่ถึง...หลายคนอาจไม่ทราบว่า ขี้หู สร้างจากต่อมสร้างขี้หู ซึ่งอยู่ในช่องหูชั้นนอก ขี้หูมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ มีสารต่อต้านเชื้อโรคและไม่ละลายน้ำ มีหน้าที่ช่วยปกป้องผิวหนังของช่องหูชั้นนอก และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู บางคนมีขี้หูเปียก บางคนก็ขี้หูแห้ง ขี้หูมาก ขี้หูน้อยก็มี

โดยปกติ ขี้หูจะมีการเคลื่อนที่จากเยื่อบุแก้วหูออกไปยังช่องหูชั้นนอกได้เอง ไม่จำเป็นต้องไปแคะออก ปัญหาของขี้หูมักเกิดจาก ?ขี้หูอุดตัน? อยู่ภายในช่องหูชั้นนอก และเมื่ออุดตันนานวันเข้า ขี้หูก็จะจับตัวเป็นก้อนแข็งจนทำให้เกิดปัญหาในการรับฟังเสียงพูด คือ จะได้ยินไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ที่เรียกว่า เกิดอาการหูอื้อ หูตึง นั่นเอง

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ การใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดช่องหูชั้นนอก โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ แล้วมีน้ำเข้าหู จะทำให้รู้สึกรำคาญ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะยิ่งกระตุ้นให้ต่อมสร้างขี้หูทำงานมากขึ้น มีปริมาณขี้หูที่ผลิตออกมามากขึ้น และถ้ายิ่งดันไม้เข้าไป หรือปั่นรูหูแรงๆ จะทำให้ขี้หูในช่องหูอัดแน่นยิ่งขึ้น และอาจทำให้ช่องหูชั้นนอกถลอก อักเสบ ติดเชื้อได้ เนื่องจากผิวหนังภายในช่องหูชั้นนอกนั้น เปราะบางมาก เวลาแหย่ไม้เข้าไปลึกๆ แล้วไปกระแทกโดนเข้าจะเจ็บมาก และอาจทำให้เยื่อแก้วหูบาดเจ็บหรือทะลุได้

ฉะนั้น เมื่อสงสัยว่ามีขี้หูอุดตัน ควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะใช้เครื่องส่องหูตรวจช่องหูชั้นนอกว่าเป็นขี้หูอุดตันจริงหรือไม่

ถ้าเป็นขี้หูอุดตันจริง
1.แพทย์จะพยายามนำขี้หูออกให้ อาจโดยการล้างช่องหูชั้นนอกด้วยน้ำเกลือ การคีบหรือดูด หรือใช้เครื่องดูดขี้หูออก
2.ถ้าไม่สามารถเอาขี้หูออกได้ เนื่องจากขี้หูอัดแน่นมาก หรือเอาออกได้เพียงบางส่วน แพทย์จะสั่งยาละลายขี้หูจำพวกโซเดียมคาร์บอเนตให้ไปหยอดที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ วันละ 7-8 ครั้ง แล้วนัดมาดูอีกครั้ง ซึ่งหลังจากหยอดยาละลายขี้หูแล้ว จะทำให้ขี้หูอ่อนตัวมากขึ้น ทำให้แพทย์เอาขี้หูออกได้ง่าย แต่อาจทำให้ขี้หูในช่องหูขยายตัวและอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น ทำให้หูอื้อมากขึ้นได้

ครั้งต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้ขี้หูอุดตันอีก ควรปฏิบัติดังนี้
1.อย่าใช้นิ้วแหย่ช่องหูเด็ดขาดเพราะขอบเล็บที่ปลายนิ้วจะทำให้ช่องหูชั้นนอกถลอก ติดเชื้อและอักเสบได้ง่าย
2.อย่าใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดหู หรือปั่นหูเมื่อน้ำเข้าหูอีก ควรป้องกันไม่ให้น้ำเข้าขณะอาบน้ำ โดยหาสำลีชุบวาสลินหรือสวมหมวกอาบน้ำดึงลงมาคลุมถึงใบหู ในรายที่เล่นกีฬาทางน้ำ อาจใช้ที่อุดหูสำหรับนักดำน้ำซึ่งมีขายตามร้านกีฬามาช่วย
3.หลายคนมักคิดว่า การทำความสะอาดข้างในช่องหูหรือเช็ดรูหูนั้น ก็เหมือนกับการทำความสะอาดร่างกายทั่วไป แต่จริงๆ แล้ว การปล่อยให้มีขี้หูเคลือบช่องหูบ้าง จะดีกว่า เพราะยิ่งเช็ด หรือแคะหูมาก ช่องหูจะยิ่งแห้ง คันและระคายเคืองได้มากกว่า แต่ถ้าน้ำเข้าหู อาจใช้ไม้พันสำลี ชนิดเนื้อแน่น ขนาดเล็กซับน้ำที่ปากช่องหูเล็กน้อยก็พอ แต่ถ้าน้ำเข้าหูเป็นชั่วโมงแล้ว ยังไม่ออกมา หูยังอื้ออยู่ ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีขี้หูซึ่งอยู่ในส่วนลึกของช่องหู อมน้ำไว้ ถ้ามีอาการเช่นนี้ควรให้แพทย์หู-คอ-จมูก ตรวจทำความสะอาดช่องหูจะดีที่สุด
4.ในรายที่ขี้หูแห้ง อาจใช้ยาละลายขี้หู หยอดรูหูเป็นประจำ เพื่อทำการล้างขี้หู อาจใช้เพียงอาทิตย์ละครั้ง ถ้าไม่มีปัญหา อาจห่างออกไปเป็น 2 หรือ 3 หรือ 4 อาทิตย์ หยอด 1 ครั้ง ก็จะช่วยลดการอุดตันของขี้หูในช่องหูชั้นนอกได้

เพียงเท่านี้........ ท่านก็จะไม่พบกับปัญหาขี้หูอุดตันอีกต่อไป



บทความโดย: ผศ. นพ.ปารยะ อาศนะเสน แพทย์ด้านหู คอ จมูก
ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฏาคม พ.ศ. 2552