การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
กรือโต๊ะ
ภาคใต้
จังหวัด นราธิวาส



อุปกรณ์และวิธีการเล่น
กรือโต๊ะ เป็นการละเล่นชนิดหนึ่งของชาวไทยมุสลิม แหล่งที่นิยมเล่นกันมาก คือ แถบอำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
อุปกรณ์ในการละเล่นกรือโต๊ะ จะมีกรือโต๊ะซึ่งประกอบด้วย ๓ ส่วนด้วยกัน คือ ตัวกรือโต๊ะ เด๊าว์หรือใบ และไม้ตีตัวกรือโต๊ะ ทำจากไม้เนื้อแข็งที่เรียกว่า "ไม้ตาแป" จะเอาไม้ตาแปมาตากแดดให้แห้งสนิทแล้วนำมาตัดให้ได้ขนาดแล้วใช้สิวขุดให้เป็นหลุม ลักษณะของหลุมที่นิยมคือ หลุมปากแคบ และป่องตรงกลาง ภายนอกจะตกแต่งหรือกลึงอย่างสวยงามมีการทาสี สีที่นิยมทากันคือ สีฟ้า สีขาว สีเหลือง หรือทาน้ำมันชักเงาให้สวยงาม
เด๊าว์ หรือ เรียกว่า ใบ หรือลิ้นเสียง จะทำจากไม้ตาแปที่แห้งสนิทดีเช่นเดียวกับกรือโต๊ะ กรือโต๊ะใบหนึ่ง ๆ มีเด๊าว์ ๓ อัน คือทำเป็นเสียงต่ำ เสียงกลาง และเสียงสูง อย่างละอัน ขนาดของเด๊าว์ยาวประมาณ ๒-๓ ฟุต กว้างประมาณ ๖-๘ นิ้ว ส่วนความยาวตามความชำนาญของผู้ใช้เล่น
ไม้ตี ทำจากไม้เนื้อแข็ง ขนาดของไม้พอจับถือได้ถนัด ยาวประมาณ ๑ ฟุต ปลายด้ามที่ใช้ตี จะพันด้วยเส้นยางพาราเป็นหัวกลมขนาดโตกว่ากำปั้นเล็กน้อย
วิธีการเล่นกรือโต๊ะ จะมีการตีกรือโต๊ะแข่งขันกันว่ากรือโต๊ะของใครจะมีเสียงดังกว่ากันและมีเสียงที่นิ่มนวลกลมกลืนกันและมีความพร้อมเพรียงกันในการตีกรือโต๊ะ

โอกาสที่เล่นกรือโต๊
การเล่นกรือโต๊ะนิยมเล่นกันหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนา เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตกราวเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม และนิยมเล่นกันในคืนเดือนหงาย เพราะไม่ร้อนและบรรยากาศ ชวนให้สนุกสนาน ในการแข่งขันกรือโต๊ะถือว่าเป็นวันสำคัญของหมู่บ้าน เพราะในแต่ละหมู่บ้าน หรือตำบลหนึ่งจะมีกรือโต๊ะของหมู่บ้านและตำบลคณะเดียวและถ้าหมู่บ้านหรือตำบลของตนชนะก็มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติแห่งความเป็นผู้ชนะกันทั้งหมู่บ้าน
กรือโต๊ะนอกจากนิยมเล่นกันในฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ยังนิยมเล่นกันในงานฉลอง ในงานเทศกาล หรือในวันสำคัญอื่น ๆ อีกด้วย

คุณค่าจากการเล่นกรือโต๊ะ
ในการเล่นกรือโต๊ะ จะเป็นการเล่นที่ส่งเสริมความรักความสามัคคีกันของผู้เล่น เพราะถ้าหากผู้เล่นมีความพร้อมเพรียงกันในการตีกรือโต๊ะ ก็จะมีเสียงดังที่นิ่มนวล เข้าจังหวะกัน และทำให้เกิดความสนุกสนาน