การละเล่นพื้นบ้าน
ชื่อ
ซัมเป็ง
ภาคใต้
จังหวัด ปัตตานี



อุปกรณ์และวิธีเล่น
เครื่องดนตรี มี ๓ ชนิด คือ
มอรูวัส คือ รำมะนาขนาดเล็ก เป็นเครื่องดนตรีใช้จังหวะ มีลีลาเร้าใจ
ดาบูส มีลักษณะคล้ายซอสามสาย แต่ยาวกว่า เป็นเครื่องดนตรีที่มีทำนองเพลงอย่างไพเราะ
ฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้จังหวะในการเต้น

การแต่งกาย
ผู้เต้นซัมเป็งจะแต่งกายแบบผู้ดีพื้นเมือง คือ ชายจะสวมหมวกซอเก๊าะสีดำ หรือโพกผ้า สวมเสื้อคอกลมแขนยาวสีเดียวกับกางเกง แล้วใช้ผ้าโสร่งแคบ ๆ ที่เรียกว่า "บันดง" สวมทับกางเกง ความยาวเหนือเข่าขึ้นไป หญิง นุ่งผ้าปาเต๊ะยาวกรอมเท้า สวมเสื้อบานงและมีผ้าคลุมไหล่บางๆ สีตัดกับเสื้อ

วิธีเล่น
การเต้นซัมเป็งเป็นการเต้นคู่ชายหญิง เต้นไปตามจังหวะของดนตรี แต่เดิมการเต้นมีเพียงคู่เดียว และท่าของการเต้นเรียกว่า "ปูซิงบันยัง" ซึ่งเป็นท่าที่หมุนไปรอบ ๆ แต่ปัจจุบันจะเต้นกี่คู่ก็ได้ และมีท่าเต้นเพิ่มขึ้นเป็น ๖ ท่า คือ
๑. ยาสันบือโต เป็นท่าเต้นแบบเดินไปข้างหน้า
๒. ฮูโนปลาวัน เป็นท่าเต้นแบบถอยหลัง
๓. ซีกูกูราวัง เป็นท่ากางแขนทำนองค้างคาวบิน
๔. ซีซีอีกัน เป็นท่าเต้นย้ายตำแหน่งระหว่างชายหญิงแบบก้างปลา
๕. ปูซิงปันยัง เป็นท่าเต้นหมุนไปรอบ ๆ
๖. วีนัส เป็นท่าสบัดปลายเท้ามีจังหวะที่เร็วมาก และการเต้นจบในท่านี้
การเต้นซัมเป็งในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งจำนวนผู้เต้น ท่าเต้น และเครื่องดนตรีประกอบ แต่จังหวะทำนองเพลงและการแต่งกายยังเป็นแบบพื้นเมืองเดิมอยู่

โอกาสหรือเวลาเล่น
การเต้นซัมเป็งใช้เต้นในโอกาสพิเศษ เช่น ต้อนรับแขกเมืองสำคัญ หรืองานรื่นเริงที่จัดเป็นพิเศษ

คุณค่า / แนวคิด / สาระ
ซัมเป็งเป็นนาฏศิลป์แบบหนึ่งของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ มีลีลาการเต้นคล้ายคลึงกับรองเง็ง มีความงดงาม อ่อนช้อย เร้าใจ เหมาะสำหรับการต้อนรับแขกเมืองหรือแขกผู้มาเยือน