การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
ซัดต้ม
ภาค ภาคใต้
จังหวัด พัทลุง



วิธีการเล่น
การซัดต้ม เริ่มด้วยการเตรียมอุปกรณ์ในการซัดต้ม โดยทำลูกต้มสำหรับปาด้วยข้าวตากผสมทรายห่อด้วยใบตาลโตนด หรือใบมะพร้าวมาสานแบบตะกร้ออย่างแน่นหนา ขนาดเท่ากับกำปั้นพอเหมาะมือ อาจจะใช้หวายสอดภายนอกอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้แน่นและคงทนยิ่งขึ้น หลังจากนั้นก็นำลูกต้มไปแช่น้ำเพื่อให้ข้าวตากพองตัวมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก เมื่อปาถูกฝ่ายตรงข้ามจะทำให้เจ็บ บางครั้งทำให้เลือดตกยางออกได้ ส่วนสนามหรือเวทีในการซัดต้มปลูกยกพื้นสูงประมาณ ๑ เมตร กว้างด้านละ ๑-๒ เมตร ห่างกันประมาณ ๖-๘ เมตร หรืออาจจะใช้พื้นดินธรรมดาก็ได้
การเปรียบคู่ จะเอาคนที่มีลักษณะรูปร่างความแข็งแรงและความชำนาญที่พอจะสู้กันได้ หรืออาจจะให้คนที่มีฝีมือมาสู้กัน คู่ต่อสู้จะยืนบนเวทีหันหน้าเข้าหากัน ห่างกันประมาณ ๖-๘ เมตร โดยมีกรรมการเป็นผู้กำหนด การปาหรือซัดต้มจะผลัดกัน เช่น ปาคนละ ๓ ครั้ง โดยมีลูกต้มวางอยู่ข้างหน้าฝ่ายละประมาณ ๒๕-๓๐ ลูก การแต่งกายจะนุ่งกางเกงหรือนุ่งผ้าโจงกระเบนก็ได้ บางคนอาจจะมีมงคลสวมหัว มีผ้าประเจียดพันแขนเช่นเดียวกับนักมวย ก่อนลงมือแข่งขันก็มีการร่ายคาถาอาคม ลงเลขยันต์ที่ลูกต้มเพื่อให้แคล้วคลาดจากลูกต้มฝ่ายตรงข้าม
ผู้ที่จะเป็นนักซัดต้มได้นั้นต้องเป็นคนใจกล้า สายตาดี เมื่อคู่ต่อสู้ปามาด้วยความเร็วและแรงนั้น ต้องมีความสามารถในการหลบหลีกหรือรับลูกต้มไว้โดยไม่ให้ถูกตัว หรือใช้เท้าถีบลูกต้มให้กระเด็นออก ถ้ารับด้วยมือต้องกำลูกต้มบางส่วนอยู่ในมือ หากรับด้วยมือเปล่าอาจทำให้มือเคล็ดได้ จะเห็นว่าการซัดต้มหรือปาต้มนั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนานตื่นเต้น โดยเฉพาะเสียงเชียร์จากผู้ดู การซัดต้มจึงต้องอาศัยศิลปะ ไหวพริบ และความว่องไวเป็นอันมาก ผู้ใดปาหรือซัดถูกคู่ต่อสู้มากก็จะเป็นฝ่ายชนะ

โอกาส
ซัดต้ม เป็นกีฬาพื้นเมืองที่นิยมเล่นกันในเทศกาลออกพรรษา มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับประเพณีชักพระ ซึ่งจัดในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เข้าใจว่ากีฬาซัดต้มนี้มีเฉพาะจังหวัดพัทลุงเท่านั้น และมีเพียงบางตำบล เช่น ตำบลตำนาน ชะรัด ท่าแค ร่มเมือง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว และในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็เคยปรากฏว่าเจ้าบ้านผ่านเมืองได้คัดเลือกผู้มีฝีมือในการซัดต้มไปแสดงการซัดต้มถวายหน้าพระที่นั่งหลายครั้งหลายครา

ปรัชญา
"ซัดต้ม" เป็นกีฬาการต่อสู้ที่ให้ความสนุกสนาน และส่งเสริมความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาได้เป็นอย่างดี