การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
ซีละ
ภาคใต้
จังหวัด ยะลา



อุปกรณ์การแสดง และวิธีการแสดง
ซีละ หรือเรียกว่าดีกา หรือบือดีกา เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชาวไทยมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยได้รับอิทธิพลด้านศิลปะการแสดงที่มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเชีย หรือจากมะละกา และแพร่กระจายมายังประเทศมาเลเชีย และมาทางตอนใต้ของประเทศไทย

องค์ประกอบในการแสดง
๑. ผู้แสดง ซีละคณะหนึ่ง ๆ มีอย่างน้อย ๕ คน ผู้เล่นดนตรี ๓ คน ผู้เล่นซีละ ๒ คน การเล่นซีละจะเป็นการแสดงศิลปะการต่อสู้เป็นคู่ ต่อสู้ตัวต่อตัว ผู้เล่นจึงมี ๒ คนเป็นอย่างน้อย
๒. เครื่องดนตรีซีละเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่มีดนตรีประกอบเช่นเดียวกับมวยไทยมี ๓ ชนิด คือ ฆือแน(กลองแขก) จำนวน ๑ - ๒ ใบ ฆง(ฆ้อง) จำนวน ๑ ใบ ซูนา(ปี่) จำนวน ๑ เลา
๓. เวทีการแสดง ปกติแสดงกันบนพื้นดิน สนามหญ้า หรือลานบ้าน ถ้ามีการรับเชิญไปแสดงบนเวทีก็แสดงได้ แต่ไม่ค่อยนิยมกัน

วิธีการแสดง
ผู้แสดงนิยมแต่งกายรัดกุม นุ่งกางเกงขายาว (แบบกางเกงจีน) ใส่เสื้อยืดคอกลมมีแขน มีผ้าลวดลายสวยงามพันทับจากเอวถึงเหนือเข่าและใช้ผ้าคาดสะเอว ไม่สวมรองเท้า ถ้าเป็นซีละมือเปล่าก็จะไม่พันมือ ถ้าเป็นซีละกริชจะเหน็บกริชด้วย เมื่อดนตรีประโคมนักซีละก็จะก้าวออกมาสู่เวทีทั้งคู่ แล้วผลัดกันไหว้ครูทีละคน และทำความเคารพผู้ชมโดยการโค้งคำนับ นั่งหรือยืนไหว้ หลังจากนั้นคู่ต่อสู้จะออกมาสลามัตต่อกัน (การทำความเคารพแบบพื้นเมือง) คือยื่นมือทั้งสองออกไปขอสัมผัสกัน แล้วเอาฝ่ามือทั้งสองข้างของตนมาแตะที่หน้าผากกับหน้าอก ต่อจากนั้นนักซีละทั้งคู่ก็เริ่มแสดงลวดลายท่าร่ายรำ ดูชั้นดูเชิงกันก่อน ต่างก็ให้คู่ต่อสู้เห็นกล้ามเนื้ออันทรงพลังของตน เพื่อเป็นการข่มขวัญ บางครั้งจะกระทืบเท้า ตบมือฉาด ๆ หรือใช้ฝ่ามือตบต้นขาของตนให้เกิดเสียงดังเพื่อข่มคู่ต่อสู้
พอแสดงลวดลายร่ายรำ กระทืบเท้า ตบมือ ตบขา ขู่สำทับดูชั้นเชิงกันพอสมควรแล้ว ดนตรีจะประโคมเร่งเร้าให้นักซีละคึกคะนอง นักซีละก็จะขยับเข้าใกล้กันและหาจังหวะเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน เพื่อให้คู่ต่อสู้เพลี่ยงพล้ำ พ่ายแพ้ เช่น หาจังหวะใช้มือหรือเท้าฟาดลำตัวหรือกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของคู่ต่อสู้ ถ้าคู่ต่อสู้เตะ อีกฝ่ายหนึ่งก็มักแก้โดยการใช้มือผลักหรือปัดขาคู่ต่อสู้แล้วชกสวนตรงหน้าหรือลำตัวอย่างฉับไว หรือหาจังหวะที่จะใช้น้ำหนักตัวทุ่มทับลงบนบ่า คู่ต่อสู้ก็พยายามต่อสู้แล้วขัดขาให้คู่ต่อสู้ล้ม เมื่อฝ่ายหนึ่งเข้าต่อสู้แบบนี้คู่ต่อสู้ที่ฉลาดจะแก้ไขโดย พยายามสปริงตัวออกห่าง หรือถ้าล้มไปแล้วก็จะพยายามที่จะจับจุดอ่อนของคู่ต่อสู้เพื่อทำลายพลัง มือจึงไขว่คว้าป้องปัดเป็นพัลวัน ขณะนั้นดนตรีจะเร่งรุดโหมประโคมในจังหวะกระชั้นเป็นการเร่งความระทึกใจแก่ผู้ชม และเพิ่มความคึกคะนองให้แก่นักซีละ
เมื่อนักซีละแสดงไปจนหมดลีลา ซึ่งใช้เวลาประมาณคู่ละ ๑๕ - ๒๐ นาที หรือเมื่อมีการแพ้ชนะกันแล้วทั้งคู่จะถอยห่างออกจากกัน แล้วทำความเคารพผู้ชม ทำความเคารพต่อกันเป็นการจบสิ้นสำหรับการแสดงซีละคู่นั้น ถ้ามีการแสดงคู่อื่นอีกก็ก้าวออกไปสู่เวทีแล้วเริ่มต้นตลอดจนจบลงด้วยลักษณะเดียวกัน
การเล่นซีละไม่มีการพักเป็นยก ไม่มีการให้น้ำ ไม่มีพี่เลี้ยง ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนและไม่มีกรรมการ ทั้งนี้เพราะนักซีละแต่ละคนจะมีระเบียบวินัยในตนเอง มีความซื่อสัตย์เคารพกติกา ไม่เอารัดเอาเปรียบคู่ต่อสู้โดยใช้เล่ห์เหลี่ยมนอกลู่นอกทางศิลปะของซีละ
กติกาในการต่อสู้มีข้อห้ามดังนี้
๑. ห้ามใช้นิ้วแทงตา
๒. ห้ามบีบคอ
๓. ห้ามชกต่อยแบบมวย
๔. ห้ามใช้เข่าแบบมวยไทย
๕. ห้ามเตะหรือตัดล่าง
๖. ห้ามใช้ศอก ทั้งศอกสั้นและศอกยาว
สำหรับเกณฑ์การตัดสินนั้น ถ้าฝ่ายใดสามารถทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงได้เพียงฝ่ายเดียวโดยที่ตนไม่ล้มเลย
ถือว่าฝ่ายนั้นชนะขาด แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ล้มหรือล้มพอ ๆ กัน ผู้ชมก็จะเป็นผู้ตัดสินโดยใช้เสียงปรบมือ
ซีละนิยมเล่นกันในหมู่ชายเท่านั้น ในหมู่หญิงไม่นิยม และสามารถพูดได้ว่าไม่เคยเห็นผู้หญิงเล่นซีละเลย ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากการเล่นซีละเป็นการแสดงหรือกีฬาที่ใช้กำลังมาก มีลีลาท่าทางที่ไม่ต้องกับธรรมเนียมของผู้หญิงไทยมุสลิม ซึ่งเรียบร้อย นิ่มนวล อ่อนหวาน ไม่นิยมการเล่นที่โลดโผนโจนทะยาน ซีละจึงเป็นการเล่นที่ผิดเพศสำหรับหญิงไทยมุสลิม ความเชื่อและวัฒนธรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง
การเล่นซีละมีความเชื่อและวัฒนธรรมอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องไม่น้อยทีเดียว นับตั้งแต่การเริ่มฝึกหัด ศิษย์ใหม่จะต้องไหว้ครูมอบตัวยอมรับว่าเป็นศิษย์ของครูเสียก่อนที่จะมีการเรียนการสอน แต่การไหว้ครูของซีละไม่จำเป็นที่จะต้องทำพิธีในวันพฤหัสบดี เพราะไม่ได้นับถือเทพเจ้าพฤหัสบดีว่าเป็นครูของเทพทั้งหลายเหมือนคติที่ชาวไทยนับถือกัน และไม่ได้กระทำอาการกราบเพราะผิดหลักการทางศาสนาที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ตลอดทั้งไม่ต้องทำกันทุก ๆ ปี ศิษย์คนหนึ่งจะประกอบพิธีไหว้ครูเพียงครั้งเดียวเมื่อเข้ามาเป็นศิษย์ใหม่ของสำนักเท่านั้น

โอกาสที่แสดง
ใช้แสดงในงานเทศกาลสำคัญ งานแก้บน งานเข้าสุหนัต หรืองานเฉลิมฉลองในโอกาสต่าง ๆ

คุณค่า
ผู้แสดงได้แสดงไหวพริบด้านศิลปะการต่อสู้ เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอนามัยและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ