การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
เพลงเรือบ้านแหลมโพธิ์
ภาคใต้
จังหวัด สงขลา



เพลงเรือแหลมโพธิ์ เป็นการเล่นเพลงเรือของชาวบ้านแหลมโพธิ์ ซึ่งเป็นแหลมเล็กๆ ที่ยื่นลงไปในทะเลสาบสงขลา ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

อุปกรณ์และวิธีการเล่น
เป็นการเล่นเพลงพื้นบ้านในเรือ โดยใช้พายในการให้จังหวะ
การเล่นเพลงเรือหรือการขับเพลงให้ลงกับจังหวะพาย ผู้พายก็ต้องฟังเสียงเพลง ผู้ขับเพลงเรือหรือแม่เพลงต้องเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบที่จะหาคำ หรือหยิบยกเอาเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาสอดแทรกเข้าไปให้เหมาะสม อาจเป็นการแข่งขัน ยกย่อง เสียดสีซึ่งทำให้ผู้ฟังสนุกไปด้วย ก่อนการเล่นเพลงต้องมีการกล่าวกลอนไหว้ครูก่อน จากนั้นจึงจะเอื้อนกลอนพรรณนาหรือชักชวนให้คนอื่นมาเล่นด้วย โดยใช้วิธีว่ากลอนกระทบกระทั่งกระเซ้าเย้าแหย่ จนคู่โต้มิอาจจะทนอยู่ได้ จึงเกิดการเล่นเพลงเรือโต้ตอบกันขึ้น การโต้ตอบกันด้วยเพลงเรือ บางทีก็เผ็ดร้อนใช้คารมที่คมคาย บางทีก็อาจเป็นทำนองรักหวานชื่น ทั้งนี้แล้วแต่โอกาสและสถานการณ์

โอกาสในการเล่น
เพลงเรือบ้านแหลมโพธิ์นิยมเล่นในวันออกพรรษา ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า"ลากพระ" หรือ"ชักพระ" นอกจากผู้เล่นจะร้องกันในเรือแล้วยังถือไม้พายมาว่ากันบนบกในที่ชุมชนด้วย(ที่ชุมชนเรือพระ) ถ้าเรือเพลงต่อเรือเพลงพบกันมักจะมีการโต้คารมกันด้วยเพลง ถ้าเป็นเรือเพลงฝ่ายชายและเรือเพลงฝ่ายหญิงก็จะเพิ่มความสนุกสนานยิ่งขึ้น

สาระของเพลงเรือแหลมโพธิ์
๑ เป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น
๒. ทราบประวัติและศิลปะการตกแต่งเรือพระ
๓. ทราบประเพณีการแต่งกายของชาวบ้านโพธิ์ในอดีต
๔. ทราบสภาพทางสังคมท้องถิ่นในเรื่องชีวิตประจำวันความเชื่อทางไสยศาสตร์และทางเศรษฐกิจ