การละเล่นพื้นบ้าน ชื่อ
ยก
ภาคเหนือ
จังหวัด ตาก



อุปกรณ์ หนังยาง

วิธีการเล่น
๑. แบ่งผู้เล่นออกเป็นทีม ทีมละ ๓ คนขึ้นไป
๒. นำหนังยางมาร้อยให้เป็นเส้นยาวพอสมควร
๓. ทำการเป่ายิงชุบ เพื่อหาว่าทีมไหนแพ้จะเป็นคนจับหนังยางยกเป็นทีมแรก
๔. ขั้นแรก ให้นำเข่าติดกับพื้นมือทั้งสองจับหนังยางพร้อมทั้งยกก้นและ ชูมือให้สุด เพื่อให้ทีมตรงข้ามโดดไม่ผ่าน (ในการเล่นแต่ละขั้นถ้ากระโดดผ่านจะได้เล่นต่อไป)
๕. ขั้นสอง ให้ยกเข่าข้างที่ถนัดแล้วพร้อมทั้งยกก้น และชูมือให้สุดเพื่อให้ทีมตรงข้ามโดดไม่ให้ผ่าน
๖. ขั้นสาม นำหนังยางมาพันเข่าหนึ่งรอบเพื่อให้ทีมตรงข้ามโดด โดยกำหนดว่าต้องโดดไม่โดนหนังยาง แล้วแต่กำหนดว่าจะให้โดดกี่ครั้ง
๗. ขั้นสี่ (ใต้ก้น) คือ นำหนังยางพันใต้ก้นให้ทีมตรงข้ามกระโดดผ่านโดยไม่จัง กำหนดว่าต้องโดดไม่โดนเส้นหนึ่งครั้ง
๘. ขั้นห้า (อีเอว) คือ นำหนังยางไว้ตรงเอวในการเล่นขั้นอีเอวจะมีการกระโดดท่าเพิ่ม คือ อีหญิง อีชาย โดยผู้เล่นจะเลือกท่าไหนก็ได้ จะกำหนดให้เล่นอีหญิง ๒๐ ครั้ง การเล่นอีหญิงคือ การกระโดดโดยการเอาขาข้างที่ถนัดเกี่ยวหนังยางไว้ใต้เข่าและเอาขาอีกข้างโดดข้ามหนังยางไป แล้วทำซ้ำจนครบ ๒๐ ครั้ง ส่วนอีชายคือ การกระโดดเอาขาข้างที่ถนัดเกี่ยวไปข้างหน้าให้ขากระแดะเป็นเลขสี่และเอาขาอีกข้างกระโดดข้ามตามไปจนครบ ๑๐ ครั้ง
๙. ขั้นหก (อีพุง) ทำเหมือนขั้นห้า (อีเอว) แต่กำหนดการเล่นอีหญิง ๑๐ ครั้ง อีชาย ๕ ครั้ง
๑๐. ขั้นเจ็ด (อียก) ทำเหมือนขั้นห้าและหก แต่กำหนดการเล่นอีชาย ๓ ครั้ง และอีหญิง ๕ ครั้ง
๑๑. ขั้นแปด (อีลักแล้) ทำเหมือนขั้นห้า หก และเจ็ด แต่กำหนดการเล่นอีหญิง ๒ ครั้ง อีชาย ๑ ครั้ง
๑๒. ขั้นเก้า (อีคอ) เล่นโดยกระโดดท่าอีหญิงครั้งเดียว
๑๓ ขั้นสิบ (อีหู) เหมือนขั้นเก้า
๑๔ ขั้นสิบเอ็ด (อีหัว) กระโดดท่าหญิง ๑ ครั้ง มีตัวช่วยโดยใช้นิ้วก้อยเกี่ยวหนังยางลงมาพอสมควรแล้วกระโดดท่าอีหญิงข้าม
๑๕. ขั้นสิบสอง (อีธู) เป็นขั้นสุดท้ายในการเล่น มีการเล่น ๒ แบบ คือ ท่าตีลังกาเอาเท้าเกี่ยวหนังยางแล้วข้ามหนังยางไป และอีกท่าคือ ท่าคาราเต้ ใช้สันมือข้างที่ถนัดกดหนังยางลงมาพอสมควรแล้วข้ามด้วยท่าอีหญิง
การเล่นแต่ละขั้น เมื่อจบแล้วให้เปลี่ยนผู้เล่นคนอื่นมาเล่นต่อ ถ้าในการเล่นแต่ละขั้นถ้าผู้เล่นในทีมที่เล่นผ่านจะมีสิทธิ์ใช้แทนเพื่อนที่เล่นไม่ผ่านได้ แต่ถ้าหมดผู้เล่นในทีมแล้ว คือ เล่นไม่ผ่านหมดจะต้องไปจับแทนผู้เล่นอีกฝ่ายตรงข้าม

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
เล่นได้ทุกโอกาสที่มีเวลาว่างและสภาพอากาศเหมาะสมและต้องการออกกำลังกาย หรือหย่อนใจ

คุณค่า / แนวคิด / สาระ
เป็นการออกกำลังกายและเพิ่มพูนทักษะทางด้านยิมนาสติก และช่วยให้มีไหวพริบ รู้แพ้รู้ชนะ มีจิตใจแจ่มใส ช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์