การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
ซิกโก๋งเก๋ง
ภาคเหนือ
จังหวัด พะเยา



อุปกรณ์
โก๋งเก๋งทำจากไม้ไผ่ ท่อนปลายของไม้รวก หรือไม้ซาง ตัดให้สูง ประมาณ ๒-๒.๕ เมตร ใช้มีดตัดเจาะกิ่งไผ่ที่เป็นปมอยู่ข้อตาไผ่ออกให้หมด แต่ต้องเหลือไว้ตรงข้อแรกของไม้ไผ่ให้เป็นปมอยู่ เหลาข้ออื่นๆ ให้เรียบเพื่อสะดวกในการจับถือ หาปล้องไม้ไผ่ที่ใหญ่กว่า ๒ ท่อนแรก ตัดให้เหลือข้อปล้องไว้ด้านหนึ่งยาวประมาณ๑๕-๓๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน เจาะรู ๒ ด้าน เสร็จแล้วนำไปสวมเข้ากับไม้ ๒ ท่อนแรก โดยให้ไม้ที่สวมนั้นไปค้างติดอยู่กับข้อตาไผ่ที่เหลือไว้ แล้วใช้ผ้าพันตรงไม้ ๒ ท่อนประกบกันให้แน่น

วิธีการเล่น
ใช้มือถือไม้โก๋งเก๋งตั้งขึ้นให้ตรง แล้วค่อยก้าวเท้าใดเท้าหนึ่ง ขึ้นเหยียบบนไม้โก๋งเก๋ง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เท้าซ้ายขึ้นก่อน แล้วก้าวเท้าขวาตามตั้งตัวให้สมดุลแล้วค่อย ๆ ก้าวเท้าใดเท้าหนึ่งออกไป ถ้าล้มก็ขึ้นใหม่เดินใหม่จนคล่อง

โอกาส
การซิกโก๋งเก๋ง เป็นการละเล่นพื้นบ้านของเด็ก ๆ ที่เล่นกันเพื่อความสนุกสนาน ปัจจุบันการซิกโก๋งเก๋งจะเหลือน้อย นอกจากจะเป็นการแสดงหรือสาธิต และเป็นกีฬาของชาวเขาที่ใช้ทำการแข่งขันอยู่ซิกโก๋งเก๋งเกิดขึ้นในชนบท ซึ่งในสมัยก่อนถนนหนทางไม่สะดวกเป็นโคลนเป็นฝุ่น เมื่อเดินด้วยเท้าธรรมดา จะทำให้เกิดโรคเท้าขึ้น ชาวล้านนาเรียกว่า หอกินตีน ชาวชนบทล้านนาถึงคิดหาวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เท้าเปื้อนโคลนฝุ่นและเชื้อโรค จึงคิดทำโก๋งเก๋งออกมาเพื่อใช้เดิน