การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
การละเล่นแมงตับเต่า
ภาคเหนือ
จังหวัด เพชรบูรณ์



การละเล่นแมงตับเต่าเป็นการละเล่นพื้นเมืองชนิดหนึ่ง ซึ่งเล่นกันอยู่ในแถบพื้นที่ตอนเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์ คือ อำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า การละเล่นชนิดนี้เคยเป็นที่นิยมกันมากเมื่อสมัย ๕๐ - ๖๐ปีมาแล้ว คล้ายการแสดงลิเก ปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิง

อุปกรณ์และวิธีเล่น
การละเล่นแมงตับเต่าจะมีผู้เล่นจำนวน ๕ - ๑๐ คน ในอดีตผู้เล่นจะใช้ชายล้วน ปัจจุบันมีหญิงเข้ามาเป็นผู้เล่นด้วย การเล่นแมงตับเต่าจะเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิง ผู้เล่นแต่งกายคล้ายลิเก บทร้องและบทเจรจาใช้ภาษาถิ่นกลุ่มภาษาหล่มซึ่งมีสำเนียงลาว ดังนั้นการ ละเล่นแมงตับเต่าบางครั้งจึงเรียกว่า ลิเกลาวเครื่องดนตรีใช้ประกอบการเล่น ได้แก่ ระนาด ๑ ราง กลอง ๑ ลูก แคน ๑ - ๒ เต้า ฉิ่ง ๑ คู่ พิณ ๑ ตัว ฉาบ ๑คู่ ซอปิ๊ป ๑ คัน (คล้ายกับซออู้แต่ใช้ปิ๊บขนาดเล็กแทนกะลามะพร้าวที่ใช้เป็นกระโหลกซอ)
สถานที่เล่น มีเวทีให้สำหรับผู้แสดง มีฉากกั้นวาดภาพด้วยสีน้ำมันเหมือนฉากลิเก จะมี ๑ - ๒ ฉากหรือจะมากกว่าก็ได้
เรื่องที่เล่น ใช้วรรณกรรมถิ่นอีสานเรื่องต่าง ๆ และเรื่องจากบทละคร เช่น ท้าวสีทน นางสิบสองท้าวสุริยวงศ์ การะเกด ท้าวก่ำกาดำ นางแตงอ่อน จำปาสี่ต้น พระเวสสันดร ท้าวผาแดง นางไอ่ ขุนทึง -ขุนเทือง นางผมหอม สังข์ศิลป์ชัย ลิ้นทอง สังข์ทอง

วิธีการเล่น
๑. ก่อนเล่นต้องเซ่นบูชาหรือไหว้ครูก่อนด้วยเครื่องเซ่นที่จัดเตรียมไว้
๒. ผู้เล่นทุกคนออกมาร่ายรำหน้าเวทีเรียกว่า แห่ท้าวแห่นาง ซึ่งเป็นการรำเบิกโรงก่อนที่จะเล่นเป็นเรื่อง
๓. เล่นเรื่องที่กำหนด โดยผู้เล่นที่ออกมาเล่นครั้งแรกทุกตัวต้องร้องขึ้นต้นด้วยบทไหว้ครู เพื่อเป็นการขอพรให้ผู้เล่นสามารถในการร่ายรำและขับลำโดยไม่ติดขัด จากนั้นจึงจะ แนะนำตัวเองเล่นเป็นใครในเรื่องนั้น

โอกาสที่เล่น
เล่นในงานรื่นเริงทั่วไป ไม่จำกัดเวลา โอกาส

ประโยชน์
ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน คติสอนใจจากเนื้อเรื่อง