การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
ฟ้อนดาบ
ภาคเหนือ
จังหวัด ลำปาง



อุปกรณ์และวิธีเล่น
๑. ดาบ ๒ เล่ม ต่อคน
๒. เครื่องดนตรี ได้แก่ ฆ้องโหม่ง ฉาบกลาง กลองปู่เจ่ (กลองยาวของชาวไตใหญ่)
๓. ชุดเครื่องแต่งกายในการฟ้อนดาบ ได้แก่ เตี่ยวสะดอ (กางเกงขาก๊วยขาสั้น) เสื้อหม้อห้อม ผ้าคาดเอว ผ้าโพกศรีษะ
๔. ผู้ฟ้อน ๑ - ๒ คน และนักดนตรีอีก ๔ - ๕ คน

วิธีฟ้อน
การฟ้อนดาบ จะเริ่มต้นด้วยการตีฆ้องนำ แล้วต่อจากนั้นจะตีฉาบและกลองให้เข้าจังหวะเร้าใจเป็นทำนองเพลงปู่เจ่ ผู้แสดงเริ่มฟ้อนดาบตามหลักเกณฑ์และท่าที่ครูประสิทธิ์ประสาทให้มา ซึ่งมี ๒ ช่วงคือ
ช่วงที่ ๑ ไหว้ครู โดยผู้ฟ้อนจะวางดาบลงไว้ด้านหน้าให้ไขว้กัน แล้วจึงไหว้ครู
ช่วงที่ ๒ หลังจากไหว้ครูแล้ว ก็เริ่มฟ้อนท่าต่าง ๆ ซึ่งครูคำ กาไวย์ รวบรวมมี ๓๒ ท่า เช่น ท่าบิดบัวบาน เกี้ยวเกล้า ฯลฯ โดยใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรับดาบไว้ เช่น ปากคาบ หนีบรักแร้ ขาพับเข่า ฯลฯ
การฟ้อนจะฟ้อนไปจนจบกระบวนท่า ทั้ง ๓๒ ท่า หรือจะน้อยกว่านั้นก็ได้ ถ้าฟ้อนคู่ก็จะรำไปพร้อมกัน อาจมีหลอกล่อกันบ้าง แต่ไม่มีการฟันดาบ

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
ใช้แสดงเมื่อถึงคราวมีงานนักขัตฤกษ์ เช่น งานประเพณีขึ้นปีใหม่ งานสงกรานต์ งานปอย พิธีรดน้ำดำหัว ปัจจุบันมีการพัฒนาให้เป็นการออกกำลังกายสำหรับนักเรียนในการเรียน จึงมีการแสดงในตอนเช้าสำหรับบาง โรงเรียน

คุณค่าหรือเวลาที่เล่น
การใช้ดาบเป็นอาวุธเป็นวิชาต่อสู้ป้องกันตัวของชายชาวล้านนา ซึ่งจะได้รับการฝึกฝนเพื่อใช้ต่อสู้ศัตรูยามสงครามและเมื่อมีความชำนาญ ก็อาจใช้แสดงเพื่อความรื่นเริง เมื่อมีการแสดงมากขึ้น ก็มีการประยุกต์ดัดแปลงลีลาท่าทาง และการเคลื่อนไหว ประกอบเพลงและอาวุธมากขึ้น ปัจจุบันจะเน้นเรื่องการแสดงเพื่อความบันเทิง โดยเฉพาะในงานแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยว และพัฒนาเป็นการออกกำลังกายประกอบดาบ (ดาบไม้) ของนักเรียน ซึ่งนอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นการอนุกรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย