การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
กลองดิน
ภาคเหนือ
จังหวัด ลำปาง



อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์
๑. เสียม
๒. แผ่นโลหะ เช่น ฝาปี๊บ ฝาหม้ออะลูมิเนียม แผ่นสังกะสี
๓. สายเสียง ทำจากเถาวัลย์หรือเชือก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกินครึ่งเซนติเมตร ยาวประมาณ ๑ เมตร
๔. หลักสายหรือหลักขึงสาย ทำจากกิ่งไม้ ยาวประมาณหนึ่งคืบ จำนวน ๒ หลัก
๕. หลักเสียง ทำจากกิ่งไม้ ยาวประมาณ ๑ คืบ หรืออาจยาวกว่านี้ จำนวน ๒ อัน
๖. ไม้ตี ทำจากเศษไม้หรือกิ่งไม้ ขนาดเล็กกว่านิ้วมือ ยาวพอเหมาะจำนวน ๒ อัน
วิธีทำ
๑. ขุดดินให้ปากหลุมกว้างประมาณ ๑ คืบ หรือเล็กกว่านี้ก็ได้ ความลึกไม่น้อยกว่า ๑ คืบ และให้ก้นหลุมมีความกว้างเป็นสองเท่าของปากหลุม
๒. นำฝาปี๊บหรือฝาหม้อปิดปากหลุม
๓. ขึงหลักสายให้ห่างจากปากหลุมประมาณ ๑ คืบ อีกหลักหนึ่งห่างออกไปประมาณ ๒ คืบ หรืออาจมากน้อยกว่านี้ก็ได้ โดยมีหลักการอยู่ว่าต้องห่างจากปากหลุมไม่เท่ากัน
๔. นำฝาหม้อ ฝาปี๊บ หรือแผ่นสังกะสีปิดปากหลุม
๕. เอาเถาวัลย์ขึงกับหลักสาย ไม่ต้องดึง ให้หย่อนพอที่จะเอาหลักเสียงสอดได้
๖. เอาหลักเสียงสอดเข้ากับสาย โดยให้หลักเสียงตั้งอยู่บนฝาหรือแผ่นโลหะค้ำสายเสียงหรือเถาวัลย์ไว้
๗. ทดลองปรับตั้งสายเสียง จนได้เสียงที่พอใจ

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
กลองดินเป็นกลองที่เด็กตามชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเลี้ยงควายในสมัยก่อน เมื่อหยุดพักตามร่มไม้ก็จะทำกลองดินเล่นประกอบกับการร้องเพลง หรือทำเพื่อแข่งขันกันว่าของใครจะดังกว่าหรือเสียงดีกว่ากัน

คุณค่า/แนวคิด/สาระ
กลองดินนอกจากจะเป็นของเล่นที่ให้ความเพลิดเพลินแก่เด็กตามชนบทแล้ว การทำกลองดินของเด็กๆ เป็นกิจกรรมทีส่งเสริมความคิดสร้างสรร เสริมสร้างความรู้พื้นบ้านทางด้านดนตรีหลายอย่าง เช่น เสียงสูงต่ำ การสะท้อนของเสียง จังหวะ การขับร้อง ตามหลักวิชาดนตรีวิทยาแล้ว เครื่องดนตรีโบราณชนิดนี้จัดเป็นพิณประเภทหนึ่ง