ลอยกระทงสาย
ภาคเหนือ
จังหวัด ตาก



ช่วงเวลา วันเพ็ญเดือนสิบสอง

ความสำคัญ
เพื่อบูชาแม่คงคา ขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในน้ำและอธิษฐานบูชารอยพระพุทธบาท

พิธีกรรม
ก่อนถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองชาวบ้านจะเตรียมอุปกรณ์ดังต่อไปนี้
๑. แพผ้าป่าน้ำ ทำจากต้นกล้วยมาตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้ธูปเทียน ธงหลากสี ใส่หมากพลู บุหรี่ ขนม ผลไม้ เศษสตางค์ เพื่อเป็นทานสำหรับคนยากจนที่เก็บแพผ้าป่าน้ำได้
๒. กระทงสาย แต่เดิมตัวกระทงสายจะทำจากใบพลับพลึงอ่อนสีขาว เย็บเป็นรูปกระทง ไส้กระทงจะทำด้วยเชือกฝั้น และใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นเชื้อไฟ ปัจจุบันจะใช้กะลามะพร้าว ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมากนับหมื่นใบ มีไส้กระทงเป็นเทียนหล่อในกะลา มีเชือกฝั้นเป็นไส้หรือจะใช้ขี้ไต้ก็ได้
เมื่อถึงเวลา ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะจัดขบวนแห่ แต่งตัวกันสวยงามร่ายรำกันเป็นขบวนนำกระทงสายมายังท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำปิง เมื่อมาถึงพร้อมกันก็จะทำพิธีจุดธูปเทียนบูชาแม่คงคาขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ รำลึกจิตอธิษฐานบูชารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้า และสุดท้ายอธิษฐานเพื่อลอยทุกข์โศก โรคบาปให้ตัวเองและครอบครัวแล้วทำการปล่อยแพผ้าป่าน้ำ
หลังจากนั้นชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านก็จะจับสลากว่า ใครจะเป็นผู้ปล่อยกระทงสายก่อน หมู่บ้านใดได้ลอยก่อน ก็จะพากันแบกอุปกรณ์ไปบริเวณที่จะปล่อยกระทง สมาชิกจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือและจะต้องทำงานประสานกัน คือ คนหนึ่งเตรียมกะลามะพร้าวนำขี้ไต้วางในกะลาส่งให้ผู้จุดไฟ ส่งให้ผู้ปล่อยกะลาลงในน้ำ ซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญในการปล่อยกะลามะพร้าวลงแม่น้ำให้เป็นระยะ ๆ ให้ห่างเท่ากันโดยสม่ำเสมอ กะลามะพร้าวก็จะลอยเป็นสายไปในแม่น้ำปิง ส่องแสงระยิบระยับสวยงาม และหากหมู่บ้านใดลอยได้ระยะสม่ำเสมอสวยงาม แสงไฟไม่ดับตลอดไป ซึ่งมีระยะห่างจนสุดสายตา ก็จะเป็นผู้ชนะสำหรับปีนั้น และขณะที่สมาชิกส่วนหนึ่งปล่อยกระทง ที่เหลือก็จะเป็นกองเชียร์ ส่งเสียงเชียร์ตีกลองร่ายรำกันอย่างสนุกสนาน

สาระ
การลอยกระทงสายเป็นประเพณีที่เป็นแบบเฉพาะของชาวตาก ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน แสดงถึงความสามัคคีและความเป็นมิตรไมตรีของชาวบ้านในชุมชนนั้น