ชื่อ
แข่งเรือเมืองน่าน
ภาคเหนือ
จังหวัด น่าน



การแข่งเรือของจังหวัดน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่สืบต่อกันมานาน ลักษณะของเรือแข่ง ลำเรือจะใช้ท่อนซุงทั้งท่อนขุดแบบเรือชะล่า แต่รูปร่างเพรียวเบา หัวเรือแกะเป็นรูปพญานาค หรืองูใหญ่ชูคอเป็นสง่า อ้าปากโง้ง หางเรือทำเป็นหางพญานาคงอนสูง ตลอดลำเรือสลักลวดลาย ลงรักปิดทอง ติดกระจกสี ติดพู่ห้อยตรงหัวเรือและท้ายเรือ ตรงคอต่อหัวเรือปักธงประจำคณะ

ช่วงเวลา
นิยมแข่งขันกันในงานบุญและงานทอดกฐิน การแข่งเรือนัดสำคัญๆ ของจังหวัดน่าน คือ การแข่งในงาน"กฐินสามัคคี" เดิม ปัจจุบันคืองาน "กฐินพระราชทาน" แบ่งการแข่งขันออกเป็น ๒ ประเภท คือประเภทสวยงาม และประเภทความเร็ว การแข่งเรือในเทศกาลทอดกฐินของจังหวัดน่าน ซึ่งจะจัดช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ถือว่าเป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ และเป็นระเบียบเรียบร้อยงดงามยิ่งในจังหวัดภาคเหนืออีกแห่งหนึ่งที่จัดให้มีการแข่งขันเป็นประจำปี คือ การแข่งเรือที่อำเภอเวียงสาซึ่งจะมีการแข่งขันในเทศกาลทานก๋วยสลาก และเป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้การแข่งเรือในตัวจังหวัด

ความสำคัญ
ลักษณะของเรือเมืองน่าน มาจากตำนานการตั้งเมืองน่านว่า ท้าวนุ่น ขุนฟองซึ่งเป็นต้นเค้าของราชวงศ์ภูคา บรรพบุรุษของเมืองน่านเกิดจากไข่พญางูใหญ่ จึงมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษของชาวน่านกำเนิดมาจากพญานาค อีกประการหนึ่งมีความเชื่อว่าพญานาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีผลต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกร ดังนั้นการทำเรือแข่งเป็นรูปพญานาคจึงเป็นการบูชาคุณพญานาคเจ้าแห่งน้ำ และบรรพบุรุษของตนเอง

พิธีกรรม
พิธีกรรมในการแข่งเรือมีมากมายหลายขั้นตอน ตั้งแต่การหาไม้เพื่อขุดเรือ การทำพิธีก่อนโค่นต้นไม้ก่อนขุดเรือ ก่อนนำเรือลงน้ำ และตอนแข่งขัน ผู้ที่ทำพิธี ได้แก่ พ่ออาจารย์ หรืออาจารย์วัดซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับภูตผี

สาระสำคัญ
การแข่งเรือเป็นประเพณีที่เนื่องด้วยการทำบุญในพุทธศาสนา คือ การทานก๋วยสลาก และการทอดกฐิน แสดงถึงความสามัคคีของชุมชน นอกจากนี้กลวิธีในการเอาชนะคู่ต่อสู้ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกอย่างหนึ่งที่ควรสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป