ชื่อ
แห่ครัวตาน (ทาน)
ภาคเหนือ
จังหวัด ลำปาง



ช่วงเวลา
การแห่ครัวตานนั้นจะจัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่หมู่บ้านนั้นมีงานเทศกาลสำคัญ เช่น งานตานสลากภัตร งานฉลองโบสถ์ วิหาร ศาลา หรือถาวรวัตถุที่เป็นสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน

ความสำคัญ
การแห่ครัวตาน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านนำเอาสิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค วัสดุอุปกรณ์ จตุปัจจัยไทยทาน ที่ช่วยกันคิดและทำขึ้นเป็นรูปแบบต่าง ๆ นำไปถวายวัดในหมู่บ้านของตนหรือหมู่บ้านใกล้เคียง รูปแบบของครัวตานมีหลายลักษณะตามแนวคิดของชาวบ้าน เช่น เป็นรูปจำลองโบราณสถานที่เคารพนับถือ รูปสัตว์ในนิทานชาดก หรืออาจเป็นของใช้ที่จำเป็นที่ชาวบ้านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนพืชผักที่มีในท้องถิ่น ในการทำครัวตานชาวบ้านจะปรึกษาหารือกันว่าจะเอาอะไรเป็นเครื่องไทยทาน เมื่อตกลงกันได้แล้ว ก็มาคิดว่าจะทำเป็นรูปแบบอะไร แล้วจึงมีสล่าเป็นผู้ออกแบบ โดยชาวบ้านจะช่วยกันตกแต่งครัวตานให้สวยงาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ รูปแบบของครัวตาน ต้องสื่อความหมายให้ผู้คนในท้องถิ่นเข้าใจด้วย

พิธีกรรม
วันแห่ครัวตาน จะมีการจัดรูปขบวนครัวตาน มีป้ายชื่อหมู่บ้าน ขบวนพานข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน ขบวนกลองยาวหรือกลองสิ้งหม้อง และที่ขาดไม่ได้คือมีขบวนฟ้อนรำนำหน้าครัวตาน ขณะที่ ขบวนครัวตานของแต่ละหมู่บ้านเข้าวัดจะมีโฆษกหรือพิธีกร อธิบายความหมายของครัวตาน หรือบางทีก็มี การฮ่ำครัวตาน เมื่อแห่ครัวตานเข้าวัดแล้ว ก็จะนำไปถวายพระสงฆ์หรือเจ้าอาวาสวัดนั้น และรับศีล รับพรเป็นอันเสร็จพิธี

สาระ
การแห่ครัวตานเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการสร้างให้เกิดธรรมที่สำคัญ คือ
๑. คารวธรรม คือ เคารพต่อกันให้เกียรติกัน บ้านเขามีงานมาบอกเรา เราก็ไปร่วม เมื่อเรามีงานเราไปบอกเขา เขาก็มาร่วม และในการทำงานก็จะให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นคนแก่คนเฒ่า คนหนุ่ม คนสาว
๒. ปัญญาธรรม คือ การที่ทำครัวตานได้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อทำให้ ดีที่สุด
๓. สามัคคีธรรม คือ ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในหมู่บ้าน เมื่อมีงานอะไรก็มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และมีน้ำใจให้แก่กันและกัน