ชื่อ
ประเพณีลากพระ (ชักพระ)
ภาคใต้
จังหวัด นครศรีธรรมราช



ช่วงเวลา วันลากพระ จะทำกันในวันออกพรรษา คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยตกลงนัดหมายลากพระไปยังจุดศูนย์รวม วันรุ่งขึ้น แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงลากพระกลับวัด

ความสำคัญ
เป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ปฏิบัติตามความเชื่อว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนไปรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าประทับบนบุษบกแล้วแห่แหน

พิธีกรรม
๑. การแต่งนมพระ
นมพระ หมายถึงพนมพระเป็นพาหนะที่ใช้บรรทุกพระลาก นิยมทำ ๒ แบบ คือ ลากพระทางบก เรียกว่า นมพระ ลากพระทางน้ำ เรียกว่า "เรือพระ" นมพระสร้างเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาค มีล้อ ๔ ล้ออยู่ใต้ตัวพญานาค ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สดทำอุบะห้อยระย้า มีต้มห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ตัวพญานาคประดับกระจกแวววาวสีสวย ข้าง ๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการแต่งอย่างบรรจงดูแลเป็นพิเศษ เพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระขึ้นอยู่กับยอดนม
๒. การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ
พระลาก คือพระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยมคือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระลากเปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนนมพระ แล้วพระสงฆ์จะเทศนาเรื่องการเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ตอนเช้ามืดในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า ตักบาตรหน้าล้อ เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ ในตอนนี้บางวัดจะทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อให้การลากพระราบรื่น ปลอดภัย
๓. การลากพระ
ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น ๒ สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย โดยใช้โพน (ปืด) ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะเร้าใจในการลากพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง
ตัวอย่าง บทร้องที่ใช้ลากพระสร้อย :
อี้สาระพา เฮโล เฮโล
ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาว
ไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ

สาระ
ประเพณีลากพระ เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง สามัคคีพร้อมใจกันในการทำบุญทำทาน จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้
๑. ชาวบ้านเชื่อว่า อานิสงส์ในการลากพระ จะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล เกิดคติความเชื่อว่า "เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก" นมพระจึงสร้างสัญลักษณ์พญานาค เพราะเชื่อว่าให้น้ำ การลากพระจึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตร
๒. เป็นประเพณีที่ปฏิบัติตามความเชื่อว่า ใครได้ลากพระทุกปี จะได้บุญมาก ส่งผลให้พบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นเมื่อนมพระลากผ่านหน้าบ้านของใคร คนที่อยู่ในบ้านจะออกมาช่วยลากพระ และคนบ้านอื่นจะมารับทอดลากพระต่ออย่างไม่ขาดสาย
๓. เกิดแรงบันดาลใจ แต่งบทร้อยกรองสำหรับขับร้องในขณะที่ช่วยกันลากพระ ซึ่งมักจะเป็นบทกลอนสั้น ๆ ตลก ขบขัน และโต้ตอบกัน ได้ฝึกทั้งปัญญาและปฏิภาณไหวพริบ