มดคันไฟ ‘อินวิคต้า’ อันตรายถึงตายได้




แม้มีคำกล่าวเปรียบคุณค่าความสำคัญของมดให้ได้ยิน ได้ฟังกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ขณะเดียวกันก็คงไม่อาจประมาทได้สำหรับฤทธิ์ร้ายอันตราย การกัด การต่อยของมด และจากภาวะโลกร้อนส่งผลต่อการแพร่ขยายของมดและแมลง




มดคันไฟ ‘อินวิคต้า’ อันตรายถึงตายได้



มดคันไฟเป็นมดอีกชนิดที่พบเห็นและคุ้นเคยกัน แต่ สำหรับ มดคันไฟอินวิคต้า มดคันไฟที่มีข่าวความเคลื่อนไหวสร้างปัญหาความเสียหายต่อพืชผลการเกษตร พื้นที่สาธารณะ สัตว์เลี้ยง รวมทั้งมนุษย์ ฯลฯ มากมายในอเมริกา อีกทั้งมีการกล่าวถึงการแพร่กระจายมายังไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ฯลฯ และมีโอกาสมาถึงประเทศไทย การระมัดระวังป้องกัน เตรียมพร้อมก่อนเกิดความเสียหาย สิ่งนี้มีความสำคัญ


“มดคันไฟที่กำลังกล่าวถึงกัน อินวิคต้า ไม่ใช่มดคันไฟตัวใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น” รศ.ดร. เดชา วิวัฒน์วิทยา ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกเล่าพร้อมกับให้ความรู้ว่า มดแต่ละชนิดสร้างปัญหาและความรุนแรงต่างกันออกไป ในชนิดที่จัดว่าสร้างปัญหามีอยู่ไม่กี่ชนิด อย่างเช่น มดตะนอย มดละเอียด มดคันไฟ มดไฟป่า ฯลฯ ด้านปัญหาสุขภาพเป็น เรื่องของ การกัดและการต่อย โดยมดที่กัดจะเป็นมดที่ไม่มีเหล็กใน เช่น มดแดง ส่วนมดที่ต่อยจะเป็นชนิดที่มีเหล็ก ใน เช่น มดคันไฟ แต่จะมีพิษร้ายแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับชนิดมด รวมทั้งภูมิต้านทานของแต่ละคน โดยผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำก็อาจจะเกิดอาการแพ้ชัดเจน


ขณะที่มดคันไฟที่พบทั่วโลกมีกว่าสองร้อยชนิดและจากทั้งหมดมี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดเจมินาต้า (geminata) และชนิดอินวิคต้า (invicta) ที่ค่อนข้างสร้างปัญหา ในส่วนของ ประเทศไทยที่พบเป็นเพียง ชนิดแรกคือ มดคันไฟชนิด เจมินาต้า ส่วนมดคันไฟ อิน วิคต้า ยังไม่มีรายงานในประเทศ ไทย

“จากที่มีรายงานมีความเคลื่อนไหวให้ได้ติดตามกันนั้น มดชนิดนี้สร้างปัญหาทั้งทาง ด้านเกษตรกรรม รบกวนมนุษย์และสัตว์เลี้ยง รวมถึงเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ ก่อเกิดปัญหาใหญ่ทำให้ต้องสูญเสีย เงินมากมายในการแก้ปัญหา อีกทั้งยังมีข้อมูลพบว่ามดชนิด นี้เข้ามาที่ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ซึ่งก็ไม่ไกลจากประเทศไทย ยิ่งในไต้หวันมองว่ามดชนิดนี้มีอันตราย กระทั่งมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อปราบปรามไม่ให้แพร่ขยายพันธุ์ การที่นำมาบอกกล่าวกันนั้นเป็นการแจ้งเตือนระวังไว้ก่อนจะเกิดความเสียหายอันตรายจากมดชนิดนี้”


อย่างที่กล่าวมา มดคันไฟตัวนี้ไม่ใช่ตัวใหม่ของโลก แต่มีอยู่ในโลกมายาวนานแล้วและระบาดอยู่ทางอเมริกาใต้ ในอเมริกา จากนั้นลามเข้ามาในเอเชีย ซึ่งก็ไม่ควรประมาท อีกทั้งในปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการกัดของมดยังส่งผลต่อการประกอบอาชีพ เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา การมองเห็นคุณค่าทรัพยากรมนุษย์ สิ่งนี้มีความสำคัญ จึงมองว่าหากมีการให้ความรู้ เตรียมระวังพร้อมไว้เป็นสิ่งที่ดีไม่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย


“พิษของมดคันไฟชนิด นี้อาจไม่แตกต่างจากมดคันไฟ ที่พบในบ้านเรา แต่ที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วงเป็นเรื่องของจำนวนมดที่มีเยอะมากโดยเฉพาะเวลาที่ไปรบกวนรังของเขา อย่างถ้าเป็นมดคันไฟทั่วไปอาจถูกกัดเพียง 4-5 ตัว แต่สำหรับมดตัวใหม่นี้มีประชากร อยู่มากมายหลายพันตัว อาจ ถูกมดต่อยได้มาก และเมื่อรับพิษเข้าไปมาก ๆ ก็ไม่เป็นการดี ยิ่งในรายที่แพ้หากถูกต่อยมาก ก็อาจเป็นอันตรายได้มากกว่าคนทั่วไป และในเม็ดตุ่มพองที่เป็นหนอง ถ้าไปแกะไปเขี่ยออก หากมีแบคทีเรียเข้าไปก็อาจทำให้เชื้อลุกลามเกิดเป็นแผลใหญ่ขยายออกไป ฯลฯ”


นอกจากนี้ในฤทธิ์ร้ายของมด ยังส่งผลต่อการเกษตร กรรม ซึ่งสร้างความเสียหาย ได้ โดยมดจะเข้าไปทำลายรากต้นไม้ ทำลายเครื่องมือการเกษตร อย่างปั๊มน้ำ โดยมดอาจเข้าไปอาศัยอยู่ ฯลฯ การมีความรู้ เข้าใจหลักการจัดการ การสังเกตลักษณะมดจึงเป็นสิ่งสำคัญ อาจารย์ท่านเดิมให้ความรู้ต่ออีกว่า มดคันไฟชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับมดคันไฟที่พบในบ้านเราจนแทบแยกไม่ออก แต่อย่างไรก็ตามก็มีความแตกต่างกันที่ชัดเจนพอเป็นหลักสังเกตได้


ในการสร้างรังลักษณะ รังจะไม่เหมือนกับมดคันไฟในบ้านเรา มดคันไฟตัวใหม่นี้จะสร้างรังมีลักษณะเป็นจอมโดยใช้มูลดิน รังเป็นขุย ๆ ดูคล้ายกับรังปลวกเล็ก ๆ แต่มดคันไฟที่พบในบ้านเราจะสร้างรังราบกับพื้นดิน แต่ก็อาจมีบ้างที่มีมูลดินขึ้นมา แต่จะไม่เป็นจอม นอกจากนี้ยังพบว่ามดคันไฟชนิดนี้มีผิวลำตัวเรียบและสดใสกว่า


แต่อย่างไรก็ตามหากมีความสงสัยหรือหากพบเจอ มดลักษณะนี้ เจอรังรูปแบบ ที่กล่าวมา ต้องขุดรังทำลาย ไม่กำจัดเพียงเฉพาะผิวดิน จากนั้นใช้น้ำยาราดกำจัดมด หรือหากสงสัยว่าจะใช่หรือไม่ สามารถเก็บตัวอย่างด้วยการดองในแอลกอฮอล์ (ประมาณ 5-6 ตัว) ส่งมาตรวจหรือขอ คำแนะนำที่พิพิธภัณฑ์มด ซึ่งตั้งอยู่ที่คณะวนศาสตร์ มหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์


“มดชนิดนี้อยู่ในที่ที่มีความชื้นแต่ไม่ถึงกับเฉะ อยู่ได้ทุกที่เว้นในพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่การเกษตร บ้านเรือน ริมถนน ในสนามหญ้า สวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ ฯลฯ ก็เลยทำให้รู้สึกว่ามดตัวนี้เกี่ยวข้องกับมนุษย์มาก และอีกผลเสียอย่างหนึ่งคือ เป็นมดที่รุก ราน เพราะมีประชากรอยู่เยอะ พอเข้าไปอยู่ที่ไหนก็ตามจะไปไล่แมลง สัตว์ ที่อยู่แถวนั้นออกไป ไม่ก็กำจัดให้ออกไป แม้แต่มดด้วยกันก็ถูกกำจัด ความหลากหลายในบริเวณนั้นจึงลดลง”


แต่ในทางกลับกันขณะ ที่มดตัวเล็กชนิดนี้มีฤทธิ์ร้าย หากมองในด้านดีของมดคันไฟพวกนี้ซึ่งเป็นพวกที่กินสัตว์ไม่ว่าจะเป็นแมลง ตัวหนอน ฯลฯ ก็มีส่วนช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช การจัดการที่ดีหากรู้จักนำมาใช้ก็จะก่อเกิดประโยชน์ อีกทั้งยัง มีส่วนสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติ


ขณะที่ประเทศไทยมีมดอยู่นับพันชนิด บางชนิดสร้างเศรษฐกิจรายได้ แต่ในบางชนิดต้องใกล้ชิดติดตาม เฝ้าระวัง เช่นเดียวกับมดคันไฟชนิดนี้ที่ มีการแจ้งเตือนกันให้ทำความรู้จักกันไว้ล่วงหน้าจะได้หลีกไกลอันตราย ไม่สายเกินการแก้ไข.
ใกล้ชิดมดคันไฟอินวิคต้า
มดกลุ่มนี้ดังที่กล่าวมีต้นกำเนิดอยู่ทางอเมริกาใต้ จากนั้นแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ แถบเขตร้อน และสามารถ สร้างอาณาจักรขนาดใหญ่จนทำให้เกิดการรุกรานที่อาศัยอยู่เดิม อีกทั้งมดเหล่านี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถปรับตัวและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว


ตัวเต็มวัย มดงานมีหลายขนาดอยู่ระหว่าง 3-7 มม. รูปร่างของอกไม่เรียบ กรามหรือเขี้ยวมีฟัน 4 ซี่ หนวดมี 10 ปล้อง สองปล้องท้ายสุดมีขนาดใหญ่ ส่วนหัว อก และเอวมีสีน้ำตาลแดง ท้องสีออกดำ มีเหล็กใน ในความมากมายของมดมีรายงานว่า อาณาจักรโตเต็มที่สามารถมีมดงานมากถึง 300,000 ตัว ขณะที่ทั่วไปอาณาจักรมีประมาณ 50,000-100,000 ตัว นอกจากนี้ยังพบว่ามดชนิดนี้อาศัยอยู่เป็นอาณาจักรขนาดใหญ่มาก


เมื่ออาณาจักรโตเต็มที่อาจมีจำนวน 100,000-500,000 ตัว ส่วนอาหารที่มดชนิดนี้ชอบประกอบด้วยแหล่งที่มีพวกโปรตีนจำนวนมาก เช่น แมลงและเมล็ดพืช ฯลฯ


อายุ ของมดงานตัวเต็มวัยจะขึ้นอยู่กับขนาด อย่างเช่น มดงานขนาดเล็กมีอายุอยู่ระหว่าง 30-60 วัน มดงานขนาดใหญ่ 90-180 วัน และมดราชินีอาจมีอายุ 2-6 ปี ชีพจักรของมดจากไข่ถึงตัวเต็มวัยอยู่ระหว่าง 22-38 วัน อีกทั้งในอุณหภูมิต่ำยังถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการจำกัดการขยายขอบเขตของมดชนิดนี้




รายละเอียด



มดคันไฟ ‘อินวิคต้า’ อันตรายถึงตายได้



มดคันไฟอินวิคต้า หรือ Red imported fire ant มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Solenopsis saevissima wagneri อยู่ในวงศ์ Formicidae (Solenopsis invicta) ถูกตีพิมพ์โดยบูเรน(Buren) ในปี ค.ศ. 1972 เป็นชื่อรองหรือ ชื่อตั้งสงวนไว้(nomen protectum) เนื่องจากความจริงแล้วชื่อแรกของมดชนิดนี้ คือ Solenopsis saevissima wagneri ถูกตั้งโดยแซนต์ชิ (Santschi) ในปี ค.ศ. 1916 ซึ่งกลายเป็น ชื่อตั้งไม่นิยม เพราะมีเอกสารมากกว่าพันฉบับที่ตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ invicta ก่อนที่จะมีคนค้นพบว่าเป็นชื่อพ้อง และในปี ค.ศ. 2001 ICZN บังคับให้ invicta เป็นลำดับเหนือกว่า wagneri



ลักษณะของ มดคันไฟ invicta

สำหรับรูปร่างหน้าตาภายนอกของ มดคันไฟ invicta แทบจะไม่มีความแตกต่างจากมดคันไฟที่พบเห็นในประเทศไทย แต่จะมีผิวลำตัวเรียบและสดใสกว่า และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีฟันตรงกลางริมฝีปากบน ซึ่งส่วนใหญ่จะมองด้วยตาเปล่าไม่ค่อยเห็น ต้องอาศัยแว่นขยายช่วย



ถิ่นกำเนิด ของ มดคันไฟ invicta

มดคันไฟ invicta มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาได้แพร่กระจายไปเกือบทั่วโลก และเริ่มขยายพันธุ์เข้ามาในเอเชียเมื่อ 2- 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบในไต้หวัน ฮ่องกง เป็นที่แรกๆ และคาดว่าจะเข้ามาสู่ประเทศไทยในไม่ช้า

ถิ่นอาศัย ของ มดคันไฟ invicta

มดคันไฟ invicta ชอบสร้างถิ่นอาศัยบริเวณที่มีน้ำไหลเวียน มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 550 มิลลิเมตรต่อปี อาทิ พื้นที่การเกษตร สวนป่า ทุ่งหญ้า ฝั่งแม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งทะเล ทะเลทราย และสนามกอล์ฟ มักสร้างถิ่นอาศัยแบบเป็นรังหรือเป็นจอมโดยใช้มูลดิน ซึ่งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 เมตร ความสูงประมาณ 4 - 24 นิ้ว ส่วนมดคันไฟที่มีอยู่ในไทยจะสร้างรังเรียบๆ กับพื้น ไม่มีจอม และมีจำนวนประชากรมากถึง 500,000 ตัวต่อรัง ขณะที่มดคันไฟธรรมดาจะมีเพียง 10,000 ตัวต่อรัง



พิษของ มดคันไฟ invicta

มดคันไฟ invicta ยังมีพิษร้ายแรง เหล็กในจากมดชนิดนี้มีพิษสะสม ทำให้เกิดอาการไหม้และคันอย่างรุนแรง พิษจะออกฤทธิ์อยู่นานเป็นชั่วโมง และเป็นเม็ดตุ่มพองซึ่งกลายเป็นหนองสีขาว เมื่อตุ่มหนองนี้แตกก็สามารถมีแบคทีเรีย เข้าไปและเป็นแผลเป็น บางคนที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงจะก่อให้เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตได้


ทั้งนี้ มดคันไฟ invicta มีความก้าวร้าวสูงมาก เมื่อมันต่อยจะฉีดสารพิษกลุ่ม alkaloid ทำให้เนื้อเยื่อตาย มีรายงานว่า ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกามีประชาชนประมาณ 25,000 คน ที่ต้องหาหมอเพื่อรักษาจากการโดนต่อยของมดชนิดนี้ และด้วยวิธีการโจมตีเหยื่อแบบรุมต่อยเป็นร้อยๆ ตัว ทำให้เหยื่อที่มีขนาดไม่ใหญ่มากได้รับบาดเจ็บถึงขั้นสาหัส หรือเสียชีวิตได้เลย


มดคันไฟ invicta กับผลกระทบต่อระบบนิเวศ

มดคันไฟ invicta สามารถปรับตัวและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนประเทศที่มีการระบาดของ มดคันไฟ invicta ต้องมีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยขึ้นมา เพื่อยับยั้งการขยายพันธุ์ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่โดนต่อย และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการกัดกินพืชผักต่างๆ

ทั้งนี้ มดคันไฟ invicta ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เนื่องจากมดชนิดนี้มีจำนวนมาก ชอบรุกราน ชอบทำลายอย่างมาก และยังไม่มีศัตรูทางธรรมชาติที่จะกำจัดมดชนิดนี้ออกไปได้ จึงทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพวกมันจะเข้าโจมตีไข่นก และสัตว์เลื้อยคลานที่อายุน้อยจำนวนมาก และในพื้นที่ที่มีมดชนิดนี้สูงมากจะเข้าทำลายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น พวกสัตว์ฟันแทะ และยังล่ากลุ่มผึ้งที่หากินเดี่ยวๆ ด้วย


ในสหรัฐอเมริกา มดคันไฟ invicta สร้างความเสียหายทางการเกษตรได้ในวงกว้าง ด้วยการเข้าไปทำลายระบบรากของพืช เช่น ถั่วเหลือง พืชตระกูลส้ม ข้าวโพด กะหล่ำ มันฝรั่ง ถั่วลิสง ทานตะวัน ข้าวฟ่าง มะเขือ ถั่วเขียว เป็นต้น และทำความเสียหายในเครื่องมือการเกษตร สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า พื้นที่สาธารณะ อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ รถยนต์ ปัจจุบัน มดชนิดนี้สร้างความเสียหายมาก กว่า 320 ล้านเอเคอร์ ใน 12 รัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและเปอร์โตริโก


อย่างไรก็ตาม ในอเมริกา มดคันไฟ invicta เป็นตัวห้ำหั่นที่ดีเยี่ยมในธรรมชาติ และเป็นการควบคุมทางชีววิธีสำหรับศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนเจาะต้นอ้อย มวนที่เป็นศัตรูข้าว แมลงหางหนีบ เพลี้ยอ่อน ด้วงงวง หนอนคืบถั่วเหลือง หนอนกินใบฝ้าย ต่อสน แต่มดชนิดนี้ก็ยังเป็นตัวทำลายแมลงพวกผสมเกสร เช่น ผึ้งที่สร้างรังใต้ดิน และยังกินเมล็ด ใบ ราก เปลือก น้ำหวาน น้ำเลี้ยง เชื้อรา และมูลต่างๆ เป็นอาหารด้วย ซึ่งจะสร้างมูลค่าความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเกษตรนับพันล้านบาทต่อปี


ประโยชน์ของ มดคันไฟ invicta

ถึงแม้ มดคันไฟ invicta จะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรอย่างมหาศาล แต่มดชนิดนี้ก็มีประโยชน์ในการกำจัดศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนเจาะต้นอ้อย มวนที่เป็นศัตรูข้าว แมลงหางหนีบ เพลี้ยอ่อน ด้วงงวง หนอนคืบถั่วเหลือง หนอนกินใบฝ้าย ต่อสน เป็นต้น



มดคันไฟ ‘อินวิคต้า’ อันตรายถึงตายได้


(จาก นสพ. เดลินิวส์ และ กระปุกดอทคอม)