กำลังแสดงผล 1 ถึง 3 จากทั้งหมด 3

หัวข้อ: ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา

  1. #1
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา

    ครูบาศรีวิชัย



    ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา



    ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา



    ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา



    ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา



    ครูบาศีลธรรม เป็นอีกนามหนึ่งของ "ครูบาศรีวิชัย" นักบุญแห่งล้านนา ท่านเป็นพระอริยสงฆ์รูปสำคัญยิ่งแห่งดินแดน ล้านนา ครูบาศรีวิชัยเป็นพระบ้านป่าไร้ซึ่งสมณศักดิ์ แต่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่เป็นอเนกประการ จึงมีผู้คนเคารพยกย่องท่านตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

    ครูบาศรีวิชัย มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ.๒๔๒๑-๒๔๘๑ มาตุภูมิของท่านคือ บ้านปาง ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน ท่านถือกำเนิด ในครอบครัวที่ยากจน แต่สิ่งนี้หาได้เป็นสิ่งที่จะสกัดกั้นไม่ให้ท่านเข้าสู่ร่มเงาของผ้ากาสาวพัตร์ได้ไม่ กลับเป็นสิ่งที่ช่วย ให้พ้นไปจากวัฏสงสารมากยิ่งขึ้น

    "พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต" อดีตพระอาจารย์ใหญ่ของพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระรูปสำคัญแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญร่วมสมัยกับครูบาศรีวิชัย ได้กล่าวกับ "พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)" อดีตเจ้าอาวาส องค์แรกของวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ความว่า "พระศรีวิชัยองค์นี้ เป็นพระโพธิสัตว์ปรารถนาพระโพธิญาณ ขณะนี้ กำลังบำเพ็ญเพียรสร้างสมบารมีธรรมอยู่ ซึ่งจะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกนาน จนกว่าการสั่งสมบารมีจะบริบูรณ์"

    ครูบาศรีวิชัยเป็นพระสุปฏิปันโน ท่านสอนผู้อื่นโดยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ท่านปฏิบัติได้แล้วจึงสอนผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้คนมากมายเลื่อมใสในตัวท่าน ต่างพากันมากราบไหว้บูชาขอเป็นลูกศิษย์ของท่าน

    เมื่อมีคนชอบก็ต้องมีคนไม่ชอบเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลกธรรม ถึงแม้ว่าคนไม่ชอบจะมีไม่มากก็ตามเถิด ครูบาศรีวิชัย ถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม จนต้องอธิกรณ์ถึง ๒ ครั้ง ท่านถูกนำตัวไปให้คณะสงฆ์ชำระอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความบริสุทธิ์ของท่าน มลทินทั้งหลายที่ถูกผู้อื่นนำมาแปดเปื้อนก็ไม่อาจทำให้ท่านมัวหมองได้ ครูบาศรีวิชัย จึงเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของท่านอย่างสง่างาม

    อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย อดีตปราชญ์คนสำคัญของจังหวัดลำพูน ผู้เคยได้สนทนากับครูบาศรีวิชัย ได้บันทึกไว้ใน "สารประวัติครูบาศรีวิชัย" ความตอนหนึ่งว่า "ตอนที่ครูบานั่งหนักสร้างวัดจามเทวีนั่นแหละ ข้าพเจ้าเป็นสามเณรมักจะ ไปไหว้ไปคุยกับท่านครูบาเสมอ วันหนึ่งท่านถามข้าพเจ้าว่า "เณรจะสึกหรือไม่?" ข้าพเจ้าตอบว่า "ไม่แน่ครับท่านครูบา เพราะอนาคตของเราคาดไม่ถูก" ท่านครูบาได้กรุณาสอนว่า "เมื่อเณรจะสึกออกไปสู่โลกภายนอก พึงประพฤติตัว อย่าให้ซื่อนัก อย่าให้ตรงนัก หื้อจะหล้วยเป็นก้านกล้วยนั้นเทอะ" อธิบายว่า คนที่อยู่ในโลกฆราวาสนั้น เป็นคนตรงไป ก็อยู่กับเขาไม่ได้ เป็นคนคดงอเกินไปก็อยู่กับเขาไม่ได้ จงอย่าคดมาก อย่าตรงมาก เหมือนก้านกล้วยนั่นแหละจึงจะอยู่กับ คนในโลกได้" นี่เป็นคำสอนหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยกล่าวไว้หลังจากท่านกลับจากชำระอธิกรณ์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็น ช่วงบั้นปลายชีวิตท่านแล้ว

    ถึงแม้ว่าครูบาศรีวิชัยจะเกิดในยุคที่บ้านเมืองยังไม่พัฒนาด้านวัตถุมากนัก อ.ลี้ เมื่อ ๑๖๐ ปีกว่าล่วงมาแล้วนั้น ยังบริบูรณ์ ไปด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ เรื่องราวเร้นลับทางไสยศาสตร์น่าจะมีให้คนในยุคนั้นได้พิศวงไม่น้อย แต่ครูบาศรีวิชัยกลับ ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องนี้แม้แต่น้อย ท่านไม่ได้สร้างวัตถุมงคลใด ๆ ทั้งสิ้น

    เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางด้วยรถไฟไปกรุงเทพฯ เพื่อให้คณะสงฆ์ฝ่ายปกครองชำระอธิกรณ์ ผู้โดยสารบนขบวนรถไฟ เมื่อทราบว่าท่านคือครูบาศรีวิชัยผู้โด่งดัง ต่างพากันมากราบไหว้อ้อนวอนขอเครื่องรางของขลังจากท่าน ครูบาศรีวิชัย ได้แต่ยิ้มแล้วส่ายหน้า ท่านกล่าวแก่คนเหล่านั้นว่า "ไม่เคยมีไว้ให้ใคร เอาไว้เองก็ไม่มี เพราะพระพุทธองค์ไม่เคยสั่งสอน ให้เชื่อถือสิ่งเหล่านั้น"

    เกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ คาถาอาคมเหล่านี้ ในช่วงแรกของชีวิตในสมณเพศ ครูบาศรีวิชัย ก็เคยได้ศึกษาวิชาเหล่านี้ มาก่อน ถึงได้สักหมึกดำทั้ง ๒ ขา ตามแบบความนิยมของผู้ชายชาวล้านนาในสมัยนั้น ต่อมาได้ศึกษาพระธรรมอย่างถี่ถ้วน ลึกซึ้ง ท่านตระหนักถึงความไม่เป็นแก่นสารของไสยศาสตร์ จึงหันหลังให้วิชาเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง เคยมีผู้เรียนถาม ครูบาศรีวิชัยเรื่องอภินิหารเรื่องหนึ่งว่า มีครั้งหนึ่งครูบาศรีวิชัยพร้อมกับศรัทธาทั้งหลายเข้าไปในป่าแห่งหนึ่งบังเกิด ฝนตกหนักมาก คนทั้งหลายเปียกกันหมด แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เปียกเลยมีจริงหรือไม่ ท่านตอบว่า "เออเป็นความจริง ข้าไม่เปียกเลย เพราะข้ามีจ้อง (ร่ม)"

    ครูบาศรีวิชัยเป็นพระผู้ปฏิบัติธรรมเยี่ยมยอดรูปหนึ่ง และมีเรื่องราวที่เรียกว่าน่าอัศจรรย์ก็ว่าได้ คือท่านสามารถกำหนด รู้จิตของผู้อื่นได้ หากผู้ใดนำของไม่บริสุทธิ์ มาทำบุญกับท่าน ท่านก็จะบอกให้ผู้นั้นทราบ หรือไม่รับของนั้นเลยทีเดียว จะมาทำบาปแลกบุญนั้น ครูบาศรีวิชัยท่านไม่ส่งเสริมเด็ดขาด ดังเรื่องที่ผู้เขียนจะเล่าต่อไปนี้ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ผู้เขียน ฟังอีกทอดหนึ่ง เป็นเรื่องราวร่วมสมัยครั้งที่ครูบาศรีวิชัยยังดำรงชีวิตอยู่

    ในหมู่บ้านเดื่องก ต.ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ มีเศรษฐินีผู้หนึ่ง เป็นคนที่มีนิสัยเข้าทำนองว่า "หน้าเนื้อใจเสือ" (ทางล้านนาเรียกว่า "ปากหวาน ก้นส้ม") ผู้ใดขัดสนเงินทองบากหน้าขอพึ่งพิงนางก็ให้ไปปากก็พร่ำว่า "ไม่เป็นไร เราคนกันเอง มีอะไรพูดจากันได้" แต่เวลาที่ลูกหนี้เอาของมาคืน ต้องมีค่ามากกว่าของที่ยืมไปถึงเท่าตัว ยืมเงิน ๑๐ บาท (สมัยครึ่งค่อนศตวรรษ) คืน ๒๐ บาท หากไม่มีจริง ๆ เศรษฐินีผู้นี้ก็จะริบเอาข้าวของอย่างอื่นแทนเงิน เช่น ข้าวสาร เกลือ กะปิ ปลาร้า ชนิดที่ว่าอะไรพอจะตีค่าเป็นเงินได้ก็ริบไว้ก่อน

    ครั้งหนึ่งครูบาศรีวิชัยออกบิณฑบาต เศรษฐินีผู้นี้ก็ไปทำบุญตักบาตรกับเขาด้วย คนอื่นตักบาตร ครูบาศรีวิชัยก็รับ แต่พอมาถึงเศรษฐินีแห่งบ้านเดื่องก ท่านกลับปิดฝาบาตรนางให้รู้สึกแปลกใจจึงกราบเรียนถามครูบาศรีวิชัยว่าเหตุใด ท่านจึงไม่รับบาตรของนาง ครูบาศรีวิชัยจึงตอบเศรษฐินีผู้นี้ว่า "แม่ออกจะเอาขี้มาใส่บาตรเฮา" ("แม่ออก" หมายถึง สีกา ส่วน "เฮา" ก็คือ เรา) เศรษฐินีแห่งบ้านเดื่องกก็แทบจะแทรกแผ่นดินหนีเลยทีเดียว ส่วนจะสำนึกตัวได้หรือไม่นั้น คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะบุคคลมีหลายจำพวก รายนี้อาจจะเป็นบัวประเภทสุดท้าย


    ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา


    นอกจากจะเป็นพระนักปฏิบัติแล้ว ทางด้านเทศนาโวหาร ครูบาศรีวิชัยก็ยังมีความสามารถแสดงธรรมให้ผู้คนในยุคนั้น ได้เข้าใจถึงหลักธรรมเบื้องต้นอย่างแจ่มแจ้ง ผู้เขียนขอนำ "ธรรมอานิสงค์ศีล" ที่ครูบาศรีวิชัยได้เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ เนื่องในงานฉลองวิหารหลวง วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ พิมพ์เป็นอักษรเมือง (ภาษาล้านนา) ปริวรรตเป็นภาษาไทย โดยนายหนานปวงคำ ตุ้ยเขียว เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๘ ความตอนหนึ่งว่า "..น้ำแม่น้ำคงคา ยุมนา อจิรวดี มหิมหาสลภู ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ แม่น้ำ แม่นจักเอามาอาบให้หมดสิ้นทั้ง ๕ แม่น้ำก็ไม่อาจล้างบาป คือความเดือดร้อน ภายในให้หายได้และฝนลูกเห็บ แม่นจะตกมาร้อยห่าให้เย็นและหนาวสักปานใดก็ดี ก็ไม่อาจจะเย็นเข้าไปถึงภายใน ให้หายความทุกขเวทนาได้ ศีล ๕ เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นของความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สำหรับล้างบาป คือความเดือดร้อน ภายในให้หายได้ เป็นบันไดแก้วสำหรับก่ายขึ้นไปสู่สวรรค์..."

    พระบ้านป่ารูปหนึ่งที่ถือกำเนิดจากครอบครัวสามัญชนที่ยากจน แต่ยึดถือแน่วแน่ในหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา มีจิตใจที่มั่นคงไม่หวั่นไหวกับกิเลส มารร้ายที่คอยจ้องทำลายพรหมจรรย์อยู่ตลอดเวลา

    ครูบาศรีวิชัยเป็นทองคำบริสุทธิ์ ถึงบางครั้งจะมีผู้นำสิ่งสกปรกมาสาดใส่ แต่ก็ไม่อาจทำให้ทองคำนั้นเปลี่ยนสถานะไปได้ เมื่อกาลเวลาและความจริง ซึ่งเป็นเครื่องชะล้างสิ่งที่เป็นมลทินนั้นหมดสิ้นไปแล้ว ทองคำนั้นก็ยังเป็นทองคำอยู่ ยังคงส่องแสงอันงดงามอยู่ชั่วนิจนิรันดร์กาล



    ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา



    ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา



    ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา




    รายละเอียด


    ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ อินทร์เฟือน ไม่ทราบนามสกุล เป็นบุตรของนายควายและนางอุสาห์ เป็นชาวบ้านปาง ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๒๑ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ เวลา ๒ นาฬิกา ๕ นาที ๓๐ วินาที รวมอายุ ๖๐ ปี ตลอดชีวิตได้ดำรงสมณเพศเป็นภิกษุผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัด เป็นภิกษุผู้ทรงคุณธรรม มักนิยมสันโดษ ฉันอาหาร วันละ ๑ มื้อ เว้นฉันปลา เนื้อ นอกจากผักและถือมังสวิรัติ คือ เว้นจากของเสพติด เช่น หมาก เมี่ยง บุหรี่ เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่พุทธศาสนาและสังคม ท่านเป็นนักสังคมสงเคราะห์แบ่งปันอาหารเครื่องบริโภคแก่สหธรรมมิกของท่านแก่ผู้ยากจนทั่วไป และเป็นพระนักพัฒนา ชอบก่อสร้าง การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม อันเป็นสาธารณะสมบัติเก่า สร้างถนน สร้างสะพาน


    ผลงานของท่านที่สำคัญ คือ

    สร้างวิหารพระอัฏฐารสลำพูน

    สร้างวิหารพระแก้วลำปาง
    วิหารวัดพระแก้วดอนเต้า ลำปาง

    สร้างพระธาตุช่อแฮจังหวัดแพร่

    สร้างวิหารหลวงวัดทุ่งเอื้อง จังหวัดพะเยา

    สร้างวิหารวัดพระสิงห์ เชียงใหม่

    สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ

    สร้างวิหารวัดพระนอนขอนม่วง อำเภอเมืองเชียงใหม่

    พระธาตุจอมแจ้ง

    วิหารพระบาทสี่รอย

    กุฏิหลวงบ้านปางลำพูน

    ประตูเมืองลี้

    พระธาตุดอยซาง

    พระธาตุดอยตุง

    บูรณะหอธรรมวัดพระสิงห์

    พระธาตุบ้านปางอำเภอลี้ลำพูน

    บูรณะพระธาตุดอยตุง

    พระธาตุแม่ตืน

    วิหารพระนอนสบลี้

    บูรณะพระธาตุดอยกู่แก้วลำปาง

    เป็นต้น


    ครูบาศรีวิชัย พระภิกษุผู้ยึดมั่นในจารีตท้องถิ่น เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ครูบาศรีวิชัยสะสมบุญด้วยการเดินทางไปบูรณปฏิสังขรณ์ ศาสนสถานต่าง ๆ ทั่วอาณาเขตวัฒนธรรมล้านนา สร้างความศรัทธาให้เกิดแก่ชนทุกกลุ่ม ถึงกับยกย่องให้ท่านอยู่ในฐานะ “ตนบุญ” ด้วยเหตุที่ครูบาศรีวิชัย เป็นที่ศรัทธาว่ามีสถานะและบารมีสูงสุด การบูรณปฏิสังขรณ์ของครูบาศรีวิชัยในระหว่าง ปีพ.ศ.2463-2478 อาทิ บูรณะวัดพระธาตุหริภุญไชย ลำพูน วัดพระธาตุช่อแฮ แพร่ วิหารวัดพระเจ้าตนหลวง พะเยา วิหารวัดพระสิงห์และวัดสวนดอก เชียงใหม่ ฯลฯ จึงได้รับการสนับสนุนจากชนทุกกลุ่มของสังคมล้านนา ก่อให้เกิดขบวนการฟื้นฟูศาสนาทั่วเขตวัฒนธรรมล้านนา ดังที่ อ.สนั่น ธรรมธิ จากสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กล่าวถึงลักษณะความเป็นตนบุญของครูบาศรีวิชัยไว้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความตั้งใจ และความมุ่งมั่นสูง รวมทั้งมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เช่นเดียวกัน




    ครูบาศรีวิชัย นักบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา




    ในขณะที่ครูบาศรีวิชัยกำลังบูรณะวัดสวนดอกเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๔๗๕ อยู่นั้น หลวงศรีประกาศได้หารือกับครูบาศรีวิชัยว่าอยากจะนำไฟฟ้าขึ้นไปใช้บนดอยสุเทพ แต่ครูบาศรีวิชัยว่าหากทำถนนขึ้นไปจะง่ายกว่าและจะได้ไฟฟ้าในภายหลัง ทั้งนี้ทางการเคยคำนวณไว้ในช่วง พ.ศ.๒๔๖๐ ว่าหากสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้นจะต้องใช้งบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ครูบาศรีวิชัยได้เริ่มสร้างทางเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ และเปิดให้รถยนต์แล่นได้ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเลย ครั้นเสร็จงานสร้างถนนแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็ถูกนำตัวไปสอบอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯอีกเป็นครั้งที่สอง และงานชิ้นสุดท้ายของท่านที่ไม่เสร็จในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็คือสะพานศรีวิชัยอนุสรณ์ ทอดข้ามน้ำแม่ปิงเชื่อมอำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน


    ในการก่อสร้างต่าง ๆ นับแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ ถึง ๒๔๗๑ มีผู้ได้บริจาคเงินทำบุญกับท่าน ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูปี คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่าสามหมื่นห้าพันบาท รวมค่าก่อสร้างชั่วชีวิตของท่านประมาณสองล้านบาท นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างคัมภีร์ต่าง ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๓๐๐๐ ผูก คิดค่าจารเป็นเงิน ๔,๓๒๑ รูปี(รูปีละ ๘๐ สตางค์) ทั้งนี้ แม้ครูบาศรีวิชัยจะมีงานก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่และมากมาย แต่บิดามารดาคือนายควายและนางอุสาก็ยังคงอยู่ในกระท่อมอย่างเดิมสืบมาตราบจนสิ้นอายุ


    ครูบาศรีวิชัยซึ่งเป็นคนร่างเล็กผอมบางผิวขาว ไม่ใช่คนแข็งแรง แม้ท่านจะไม่ต้องทำงานประเภทใช้แรงงาน แต่การที่ต้องนั่งคอยต้อนรับและให้พรแก่ผู้มาทำบุญกับท่านนั้น ท่านจะต้อง"นั่งหนัก"อยู่ตลอดทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวารซึ่งสะสมมาแต่ครั้งการตระเวนก่อสร้างบูรณะวัดในเขตล้านนา และการอาพาธได้กำเริบขณะที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน และตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี บางท่านก็ว่า ๓ ปี จากนั้นได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี ลำพูน จนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้นจึงได้มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ที่วัดจามเทวีจังหวัดลำพูน วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูนอันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน เป็นต้น


    ด้วยเหตุที่ท่านปฏิบัติยึดตามจารีตแบบดั้งเดิมของคณะสงฆ์ล้านนา จึงทำให้ท่านกลายเป็นศูนย์กลางของความเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐบาลกรุงเทพฯไปโดยปริยาย แม้จะมิใช่ในลักษณะการก่อกบฏด้วยกำลังอาวุธอย่างพระยาปราบสงคราม แต่กรณีที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นการต่อสู้ทางความคิดความเชื่อที่แฝงอยู่ในกิจกรรมทางศาสนา ผู้สนับสนุนครูบาฯ มีจำนวนมาก ทั้งบรรดาเจ้านาย พระสงฆ์ พ่อค้า คหบดี ข้าราชการ ตลอดจนประชาชนทั้งคนเมืองและชาวเขา ซึ่งท่านต้องอธิกรณ์ ถึง 5 ครั้ง ทำให้ความขัดแย้งกรณีครูบาศรีวิชัยนี้ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2451 จนกระทั่งปี พ.ศ.2479



    ผลงานการก่อสร้างและปฏิปทาของท่าน อยู่ในความทรงจำของประชาชนที่มีความเคารพศรัทธาในตัวท่านไม่มีวันลืม เมื่อท่านถึงแก่มรณภาพแล้วได้มีการทำพิธีสร้างเหรียญรูปของท่านและทำพิธีปลุกเสก เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาเป็นสิริมงคลหลายครั้ง เหรียญที่ค่อนข้างหายาก คือ เหรียญที่สร้างขึ้นรุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ สร้างเมื่อท่านมรณภาพไปแล้วหนึ่งปี ทำพิธีปลุกเสกที่วัดพระ ธาตุหริภุญชัย


    ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาต่อชาวล้านนามาก เมื่อท่านมรณภาพและประชุมเพลิง แล้วอัฐิของครูบาศรีวิชัยแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ
    ๑. ให้ชาวอำเภอลี้นำไปบรรจุที่วัดบ้านปาง
    ๒. บรรจุไว้ที่สถูปวัดจามเทวี อันเป็นที่ประกอบพิธีเผาศพของท่าน
    ๓. ให้ชาวเชียงใหม่นำไปบรรจุไว้ที่สถูปวัดสวนดอก
    ๔. ให้ศิษย์ใกล้ชิดนำไปบรรจุไว้ที่สถูปดอยง้ม ระหว่างเขตอำเภอสันกำแพง - เชียงใหม่ และเขตลำพูน


    จากการที่ครูบาศรีวิชัยได้รับการสนับสนุนจากชนทุกกลุ่มในสังคมล้านนา ครูบาฯจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ ที่แม้แต่อำนาจรัฐก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ในระยะนี้เอง พระภิกษุสุนทรพจนกิจหรือพระสุนทรพจนกิจ กวีเอกของล้านนา ได้แต่ง “ค่าวประวัติครูบาศรีวิชัย” เล่าถึงประวัติความเป็นมาการต้องอธิกรณ์ และการบูรณะศาสนสถานต่าง ๆ ซึ่งค่าวนี้ก็เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนล้านนาในเวลานั้น


    “พระทำดี เกิดมีเพียงนี้
    ก็มีเหตุขึ้นพัวพัน
    สุขกับทุกข์ ย่อมเป็นคู่กัน
    ร้ายกับดี ย่อมมีเป็นหมั้น
    พระเกิดไหน ช่างมีมาหั้น
    ย่อมจักพัวพันดั่งนี้

    อาณาจักร ระแวงเหตุนี้
    เพื่อใคร่ได้หันมุล
    กลัวจักเป็นพระ ล่อลวงสับสน
    จิ่งว่าผีบุญ มิจฉาสาวแสร้าง
    ถือพรมพราย อย่างไรไม่แจ้ง
    ระแวงไปคู่ชั้น

    พระสีวิไชย ไม่เป็นอย่างนั้น
    เป็นพระเที่ยงหมั้นสีลธัมม์
    เป็นผู้มักน้อย ครัดเคร่งเล็งกัมม์
    พ่ำเพ็งธัมม์ จำสีลเสพสร้าง
    มีผู้นิยม มากหลายแผ่กว้าง
    เหมือนรายงานว่าไว้”


    พระสุนทรพจนกิจ
    “ค่าวประวัติครูบาศรีวิชัย”


    ขอบขอบคุณ
    คุณสามารถ แจ่มจันทร์ นิตยสารศิลปวัฒธรรม ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙




    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  2. #2
    แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สัญลักษณ์ของ บ่าวเมืองลำดวน
    วันที่สมัคร
    Sep 2009
    กระทู้
    598
    ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆๆ ครับ

  3. #3
    ศิลปิน นักแต่งเพลง สัญลักษณ์ของ thedon
    วันที่สมัคร
    Aug 2007
    กระทู้
    1,421
    บล็อก
    1
    ขอบคุณหลายๆครับ

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •