ชื่อ
พิธีเสนเรือนหรือการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ
ภาคเหนือ
จังหวัด พิษณุโลก



ช่วงเวลา จัดในเดือน ๔, ๖, ๘, ๑๒ ภายใน ๑-๓ ปี

ความสำคัญ
การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ คือ พิธีของพวกลาวโซ่งในหมู่บ้านแหลมมะค่า ตำบลพันเสา อำเภอบางระกำจังหวัดพิษณุโลก เป็นพิธีที่จะทำให้บุคคลในครอบครัวประสบความสุข ความเจริญ ได้รับการคุ้มครองจากบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้าว่างเว้นไม่ทำพิธีกรรมเกิน ๓ ปี คนในครอบครัวจะมีเรื่องเดือดร้อน ประสบภัยพิบัติ เจ็บไข้ได้ป่วยถึงตายได้

พิธีกรรม
๑. คนลาวโซ่งจะต้องเลี้ยงหมูตัวผู้ตอนแล้วไว้หนึ่งตัว เพื่อทำพิธีเสนเรือนโดยเฉพาะ หมูตัวนี้ห้ามขายเชื่อกันว่าถ้าขายจะทำให้คนเลี้ยงตาย
๒. มีสำรับเผื่อน (สานด้วยไม้คล้ายกระจาดยกส่วนก้นสูง) มีไว้ใส่เครื่องเซ่น ได้แก่ หมูที่ต้มแล้ว ๗ ช่วงกระดูกหลัง ๗ ข้อ นำมาเรียงไว้ในสำรับเผื่อนในลักษณะเป็นวงกลม โดยมีใบตองรอง นำไส้หมูมาวางล้อมรอบนอก แล้วนำขนมที่เตรียมไว้ ได้แก่ ข้าวต้มมัด ขนมเทียน เผือกต้ม มันต้ม กล้วย อ้อยและขนมแห้ง ใส่ลงในสำรับเผื่อนจนครบเสร็จแล้วคนในตระกูลจะยก ๓ ครั้ง จนครบ จึงยกไปที่กะล้อฮ่อง (กะล้อฮ่อง เป็นสถานที่สำหรับเลี้ยงผี จะมีโกศใส่กระดูกของบรรพบุรุษทุกคน มีหมาก น้ำ ขันน้ำ วางอยู่เป็นประจำ
๓. ล่าม (หมอผีหรือหมอเสน) จะทำพิธีเชิญผีบรรพบุรุษออกมากิน เมื่อเสร็จพิธีแล้ว จึงยกออกมา หมูที่ทำพิธีต้องให้ล่ามไปหมด ส่วนขนม ล่ามและเจ้าของบ้านแบ่งคนละครึ่ง เมื่อเสร็จพิธีแล้วใน ๑ วัน เชิญญาติพี่น้องมารับประทานหัวหมูด้วยกัน เสร็จแล้วนำฟันหมูมาร้อยแขวนไว้ในกะล้อฮ่อง วิธีการนี้เป็นการเคารพผีบรรพบุรุษอีกวิธีหนึ่งด้วย

สาระ
พิธีเสนเรือน ทำขึ้นเพื่อทำให้บุคคลในครัวเรือนรักสามัคคี และร่วมมือกันปฏิบัติตามพิธีจนครบ ผีบรรพบุรุษจะได้พอใจรักและช่วยคุ้มครองป้องกันอันตราย