ชื่อ
พิธี ขันตั้ง หรือขันครู
ภาคเหนือ
จังหวัด ลำปาง



ช่วงเวลา
ขันตั้งหรือขันครู คือ เครื่องบูชาครูบรรจุอยู่ในพาน การยกขันตั้งสามารถทำได้ ๒ กรณี คือ การมอบตัวเป็นศิษย์ หรือที่เข้าใจในปัจจุบันว่าการยกครูหรือขึ้นครู และอีกกรณีหนึ่ง คือ การยกขันตั้งก่อนการทำกิจกรรม เช่น ก่อสร้าง บรรเลงดนตรี ฯลฯ

ความสำคัญ
ความเชื่อของชาวเหนือเกี่ยวกับขันตั้งหรือขันครูนั้น มีอยู่ในงานฝีมือ และงานช่างทั้งหลาย เป็นต้นว่า ช่างปี่ ช่างซอ (ขับซอ) ช่างแต้ม (วาดเขียน) ช่างต้อง (แกะสลัก) ช่างฟ้อน ช่างไม้ ก่อสร้าง (สล่าแปลงบ้าน) นักดนตรี (ช่างม่วน) นักมวย ฯลฯ กล่าวคือ วิชาชีพ หรือวิชาฝีมือเหล่านี้ต้องมีครูเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ และมีครูเป็นเจ้าของวิชานั้น ๆ อาจเป็นครูปัจจุบัน หรือครูที่ล่วงลับไปแล้ว วิชาชีพบางอย่างแม้ว่าไม่ได้มีครูสอนให้โดยตรง แต่เมื่อจะประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ก็จะต้องขวนขวายหาครูหรือมีครูเข้าไว้ก่อน ดังคำกล่าวที่ว่า ศิษย์มีครู และก่อนจะลงมือปฏิบัติอาชีพนั้น ๆ ก็ควรที่จะระลึกถึงพระคุณของครู และอาราธนาอัญเชิญครูบาอาจารย์มาช่วยคุ้มครองให้ ปลอดภัยขณะทำงานหรือช่วยให้การทำงานนั้นสำเร็จลุล่วงประสบผลสำเร็จด้วยดี

พิธีกรรม
การยกขันตั้งหรือยกครูในกรณีมอบตัวเป็นศิษย์ มีดังนี้
เครื่องขันตั้ง
เครื่องขันตั้ง คือ เครื่องบูชาครูบรรจุอยู่ในพาน หรือ ขัน ประกอบด้วย ธูป เทียน ดอกไม้ หมาก พลู ผ้าขาว ผ้าแดง เบี้ย ข้าวสาร สุรา กล้วย มะพร้าว เมื่อมีการขอยกครูจะมีน้ำส้มป่อย และที่ขาดไม่ได้คือเงินค่ากำนัล
พิธีกรรม
ศิษย์ใหม่นำเอาเครื่องสักการะไปที่บ้านครู หรือเอาเครื่องสักการะไปใส่ขันที่บ้าน หากจ้างครูมาสอนดนตรีในหมู่บ้าน จะประกอบพิธีที่สถานที่เรียนดนตรี เช่น ที่ศาลาวัด หรือศาลาหมู่บ้าน โดยมีขั้นตอนดังนี้ ครูรับขันจากศิษย์ เรียกขั้นตอนนี้ว่าศิษย์เอาขันมา ยื่นโยง ให้ จากนั้นครูยกขันขึ้นเหนือศีรษะ กล่าวโวหารหรือคำพรรณนา ซึ่งเรียกว่า ฮ่ำฮิ ฮ่ำไฮ (ร่ำริร่ำไร) หรือขออัญเชิญครูบาอาจารย์ ขออนุญาตถ่ายทอดเพลงให้แก่ศิษย์ ขอพรจากครู ขอให้การสืบทอดครั้งนี้เป็นไปด้วยดี และขอให้ครูคุ้มครองปกปักรักษาอย่าให้มีอันตรายมากล้ำกรายตามโวหารของแต่ละคนพร้อมกำกับด้วยคาถา จากนั้นครูเปิดขวดสุรารินใส่แก้ว เอาดอก ไม้จุ่มลงที่แก้วประพรมเครื่องดนตรี ปิดขวดสุราเก็บไว้กับขันตั้ง ซึ่งแขวนไว้กับสาแหรกหรือวางไว้บนหิ้ง บางรายเอาน้ำส้มป่อยในขันมาลูบหน้าและศีรษะแล้วจึงส่งให้ศิษย์ทำตาม หากศิษย์มีหลายคนก็อาจประพรมน้ำส้มป่อยให้ เป็นอันเสร็จพิธียกขันตั้งหรือขันครูหรือขึ้นครู จากนั้นจึงทำการต่อเพลงหรืออาจนัดหมายกันมาฝึกในโอกาสต่อไป

สาระ
ขันตั้งเป็นภาชนะสำหรับใส่เครื่องคำนับ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลู และเข้าของอย่างอื่น เพื่อเป็นของสมนาคุณแก่ผู้มากระทำประโยชน์ให้ เช่น หมอ อาจารย์ผู้ประกอบพิธี หรือช่างซอ หรือนักขับเพลงปฏิพากษ์ เป็นต้น