ชื่อ
พิธีไหว้เจ้าที่ควาย
ภาคใต้
จังหวัด กระบี่



ช่วงเวลา โดยปรกติจะประกอบพิธีกรรมปีละ ๒ ครั้ง คือ ตอนลงนาและตอนจากนา
ความสำคัญ
ไหว้เจ้าที่ควายเป็นพิธีกรรมที่เกิดจากปัญหาของชาวบ้าน เช่น โจรผู้ร้ายขโมยควาย บางทีก็ต้อนไปหมดทั้งฝูง หรือไม่ก็ประสบกับปัญหาโรคระบาดและภัยจากอื่น ๆ เช่น สัตว์ร้ายจำพวกเสือ เป็นต้น เจ้าของควายจึงหันไปพึ่ง "เจ้าที่" ให้ช่วยปกปักรักษา คือจะทำพิธีไหว้เจ้าที่ เพื่อขอความคุ้มครองให้ฝูงควายของตน ทั้งนี้เนื่องจากสมัยก่อนจังหวัดกระบี่เลี้ยงควายมากจนถึงกับส่งไปขายต่างประเทศ และเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบสังคม

พิธีกรรม
ในแต่ละหมู่บ้านจะมีหมอเซ่นไหว้เจ้าที่อยู่สองสามคน มีการสืบทอดต่อกันไปเรื่อยจากรุ่นบรรพบุรุษมาถึงลูกหลาน เล่ากันว่าหมอรุ่นก่อนที่ตายไปแล้ววิญญาณจะกลายเป็น "นายหมรูน หรือนายหมุน" มีหน้าที่รับใช้เจ้าที่ชั้นสูงขึ้นไป (ภาษาท้องถิ่นเรียกเจ้าที่ขั้นสูงว่า "พ่อตา")
ในพิธีกรรมไหว้เจ้าที่ควาย ชาวบ้านจะจัดทำร้านกำมะลอสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ ฟุต ขนาดกว้างยาวประมาณ ๓ ฟุต บนร้านปูใบตองตั้งเครื่องเซ่น เช่น ไก่ต้ม เหล้า ข้าว น้ำหมากพลู บุหรี่ มีบันไดเล็ก ๆ พาดลงจากร้าน บนพื้นดินหน้าร้านปูใบตองจัดวางเครื่องเซ่น เช่นกัน วางไส้ไก่ เลือด ขน พร้อมข้าวสุก ไว้สำหรับผีหรือเจ้าที่ที่ไม่สามารถขึ้นกินบนร้านได้ หมอจะเริ่มพิธีที่ริมคอกควายอ่านคำสัสดีเชิญครู เสร็จแล้วหมอจะพูดทำนองบอกเจ้าที่ว่าวันนี้จะทำพิธีไหว้ครูควาย ขอให้มารักษาด้วย โดยจะออกชื่อบรรดานายหมรุนต่าง ๆ ตามสายของตน จากนั้นจะเชิญเจ้าที่ชั้นผู้ใหญ่ (พ่อตา) โดยออกชื่อเจ้าที่เหล่านั้น ๓ จบ พร้อมจุ่มเหล้าชะโลมตัวไก่ต้ม เสร็จแล้วหยุดเว้นระยะนั่งเฝ้าดู กะว่าเจ้าที่กินเสร็จแล้ว ก็เซ่นไหว้พวกผีชั้นต่ำ แล้วจึงทำพิธีส่งเจ้าที่และ
ผีทั้งหลาย

สาระ
การไหวเจ้าที่ควาย มีวัตถุประสงค์เพื่อความสบายใจของผู้ไหว้ว่าหลังจากนี้เป็นต้นไปจะไม่มีปัญหาอุปสรรคในการทำมาหากิน เพราะได้ไหว้เจ้าที่เพื่อความคุ้มครองแล้ว นับเป็นจิตวิทยาที่สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี