ชื่อ
พิธีทำขวัญเด็ก
ภาคใต้
จังหวัด นครศรีธรรมราช



ช่วงเวลา พิธีทำขวัญเด็ก ซึ่งมีอายุในระหว่าง ๑- ๑๒ ขวบ ทำในวันเกิดของเด็ก ถ้าเด็กเกิดข้างขึ้นใช้คี่ เช่น ขึ้น ๑ ค่ำ ขึ้น ๓ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ถ้าเกิดข้างแรมให้ใช้คู่ เช่น แรม ๒ ค่ำ แรม ๔ ค่ำ แรม ๑๒ ค่ำ โดยไม่ต้องเลือกว่าเป็นเดือนไหน แต่ถ้าเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนสิบ แรม ๑๐ ค่ำ หมอจะไม่ให้ทำพิธี เพราะถือว่าเป็นวันไม่ดี ไม่เป็นมงคล

ความสำคัญ
พิธีทำขวัญเด็ก มีความสำคัญ คือ เพื่อให้เด็กหายจากเจ็บไข้หรือหวาดผวาสะดุ้งตกใจ เพราะเชื่อกันว่าขวัญจะมีอยู่ในตัวคน แต่เมื่อได้รับความตกใจแล้ว ขวัญก็จะหนีออกจากร่าง ทำให้เกิดความเจ็บป่วย เพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่กับตัว จึงต้องทำพิธีเรียกขวัญให้กลับเข้ามาอยู่ในร่างกาย ปกปักรักษาเด็กให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้เกิดสิริมงคล อายุมั่นขวัญยืน

พิธีกรรม
๑. การเตรียมการ
๑.๑ การปลูกโรงพิธี สมัยก่อนเป็นพิธีใหญ่มาก โรงพิธีสำหรับทำขวัญเด็กจะปลูกโรงพิธีมียกพื้น เสาหุ้มด้วยผ้าแดง มผ้าขาวคาดเพดาน แต่ในปัจจุบันไม่มีโรงพิธี ทำเป็นพิธีเล็ก ๆ
๑.๒ การเตรียมเครื่องประกอบ พิธีทำขวัญเด็ก มีดังนี้
๑) บายศรี มีการจัดตกแต่งบายศรี การเย็บบายศรีใช้ใบกล้วยตานี ในสมัยก่อนจะตกแต่งสวยงาม โดยแกะรูปสัตว์ไว้ในบายศรีแต่ละชั้น ทั้งสิงโต ช้าง ราชสีห์ ยูงทอง เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการแต่งบายศรีจะตกแต่งด้วยดอกไม้
๒) ถ้วยขวัญ ซึ่งเป็นถ้วยเล็ก ๆ สำหรับใส่ของคาวหวานวางไว้บนยอดบายศรี สิ่งของที่ใส่ในถ้วยขวัญ ได้แก่ ของหวานคาว กล้วยอ้อย ปลามีหัวมีหาง ขนมต้มขาวลูกใหญ่ ๓ ลูก ไข่เป็ดต้มสุกแล้ว ๑ ฟอง พลูจีบ ๓ คำ เทียนขวัญ ๑ เล่ม แหวนสวมเทียน ๑ วง กระโจมปิดรูปกรวยทำด้วยใบตอง ยอดกรวยตัดเป็นวงกลมเพื่อสอดเทียน
๓) เทียน ประกอบด้วย เทียนขวัญ เทียนชัย ใช้เทียนเล่มใหญ่สำหรับจุดตลอดเวลาในระหว่างพิธี เทียนบูชาครู เทียนติดแว่น ๙ เล่ม
๔) เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่ หมาก ๑๘ คำ เอาไว้ใส่ที่บูชาครู ๙ คำ ใส่เพดาน ๙ คำ แว่นเวียนเทียน ๓ แว่น คือ แว่นเอกเป็นรูปพระอิศวร แว่นโทรูปสังข์ แว่นตรีรูปนาค นอกจากนี้ยังมีด้ายสายสิญจน์ หอยสังข์ เสื้อผ้าเด็กตามเพศของผู้ที่จะทำขวัญ ๑ ชุด เชี่ยนหมาก ๑ สำรับ มะพร้าวอ่อน ๑ ผล ส้ม กล้วย ใบไม้ดับเทียน ๓ ชนิด ชนิดละ ๙ ใบ ได้แก่ ใบยอ ใบทองหลาง และใบพลู แป้งสำหรับเจิมหน้าเด็กและข้าวสิบสอง
๕) ห้องพิธี ใช้ผ้าขาวคาดเพดาน หมอน ๑ ใบ ผ้าขาวปูที่ครู ๑ ผืน นำบายศรีและเครื่องประกอบพิธีมาวางบนผ้าขาวซึ่งปูหน้าโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย ด้ายสายสิญจน์วงรอบตัวเด็กแล้วโยงขึ้นเพดาน
๒. การทำพิธีทำขวัญเด็ก
เมื่อจัดวางบายศรีถ้วยขวัญ และเครื่องประกอบเรียบร้อยแล้ว หมอผู้ทำพิธีจะให้เด็กเข้าไปนั่งในวงด้ายสายสิญจน์ แม่ของเด็กเข้าไปนั่งในวงด้ายได้เพียงคนเดียว หมอจะจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย สวดชุมนุมเทวดา บูชาครูและสรรเสริญครู ตั้ง นโม สามจบ เชิญครูมาชุมนุมในพิธี โดยกล่าวดังนี้
"ศรีสวัสดิพิพัฒน์มงคล ประนมกรยอนมัสการ ยกไหว้เทพนิกร บวรเทพ ประเสริฐสวย ฉกาโมชีโวพราย ศุกร์เสาร์ร้ายเกตุราหู ระวิสิสะครู พุธนังการท่านทั้งหลาย
วันนี้เป็นวันขัตฤกษ์ เชิญขวัญเจ้ายอดสงสาร ข้าวของอันมีรส เครื่องสัพเพียญทุกประการ คั่วเจียวโอฬาฬาร ใส่ทุกช่องลองบายศรี เอาไข่สอดใส่ยอด มะพร้าวอ่อนกลมเกลี้ยงดี ตั้งวางหว่างบายศรี ตั้งพิธีโห่สามครา ตีฆ้องประคองเคียง นั่งรายเรียงทั้งซ้ายขวา พระวิสูตรวงเวียนหน้า โบกควันเป่า"
หลังจากนั้นหมอจะกล่าวชมบายศรี เชิญขวัญซึ่งตกไปในที่ต่าง ๆ ให้กลับมาอยู่กับตัวเด็ก หมอจะเชิญขวัญตามทิศทั้งสิบทิศ ดังเช่น การเชิญขวัญจากทิศอีสานว่า
"อัญเชิญขวัญของเจ้าเอย เชิญมาอย่าไปละเล่นฝ่ายทิศอีสาน พระอาทิตย์ฤทธิ์เชี่ยวชาญ ทรงสีหราชฤทธิไกร ทรงเครื่องแก้มแกมทอง ดูเรืองรองงามประไพ ทรงรถบทจรไป รักษาโลกทั่วโลกี ได้ที่นั่งไหรพิเภก สำมะนักขายอดนารี เทวาทั้งสองศรี อย่ายึดเหนี่ยวขวัญไว้ พระอาทิตย์ลงขวัญให้ เชิญมาพลันพลัน เถิดนะขวัญเอย"
เมื่อเชิญขวัญจากทิศทั้งสิบจบลงแล้ว หมอจะเชิญขวัญซึ่งไปตกตามป่าเขาซึ่งเต็มไปด้วยอันตราย ให้กลับคืนสู่ร่างกาย ด้วยข้อความที่ว่า
"อัญเชิญขวัญของเจ้าเอย อย่าอยู่เหลยในไพร ใครจะดูดี สัตว์ร้ายซึ่งราวี เสือหมีเม่นเห็นจะตกใจ ยังสัตว์จำพวกหนึ่ง น่าพึงกลัวตัวยาวใหญ่ เรียกว่างูเหลือมไพร พบท่านไซร้ ขวัญบินบน ยังเห่าเหลือบและยุง บินมาหมุ่งในไพรสณฑ์ ปลิงทากสากสลอน กัดกินเลือดเป็นภักษา"
เมื่อเชิญขวัญจากที่ต่าง ๆ กลับมาแล้ว หมอก็กล่าวเชิญให้ขวัญเข้าอยู่ในบ้าน อยู่เป็นเพื่อนเด็ก เด็กจะไม่มีความสุขถ้าไม่มีขวัญอยู่ด้วย จึงจัดการต้อนรับขวัญเป็นอย่างดี เพราะกลัวว่าเมื่อขวัญกลับมาแล้วจะหนีไปอีก จึงกล่าวคำเชิญขวัญดังนี้
"เชิญมาเถิดขวัญเจ้า กลับมาอยู่เหย้าแต่ก่อนเก่า บำรุงโอรสเรา ให้เปรมปรีดิ์ภาวนา ไม่มีความผุดผาด มีสะอาดสำอางตา ไม่มีญาติวงศา พาทัศนาพระขวัญศรี
อัญเชิญขวัญของเจ้าเอย เชิญกลับมาสู่เคหาบรรดามี ตกแต่งไว้ถ้วนถี่ เพดานดัดฉัตรเทียวธง บายศรีและข้าวขวัญ เครื่องประดับอันบรรจง มุ้งม่านกั้นล้อมลง พรมปูลาดดาษเดียร….เชิญมาเสวยเครื่องสาลี ทั้งบายศรีน่าพิสมัย มาแล้วอย่าพ้นไป อย่าคุ้มครองปองรักษา
ขอเดชะคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสงฆ์เจ้า ฤทธิ์เดชด้าวไตรตรึงศ์ ศรีพรหมเมศฤทธีมี ท้าวมาตุลีเรืองฤทธิรณ ยังเล่าไทเทเวศร์ ในขอบเขตวนาสณฑ์ ยุคลธรทะเลวน ทั้งเครือหญ้าลดาวัลย์ มาบำรุงเจ้ากุมาร ช่วยเจือจานจำเริญขวัญ เทวาทุกช่องชั้น อย่าให้ขวัญเจ้าตกใจ"
หลังจากนั้นอัญเชิญเทวดาให้ปกปักรักษาตัวเด็ก ให้ปลอดภัยจากอันตราย จากอุบาทว์ และจากจัญไร ขอพระรัตนตรัยคุ้มครองรักษาทั้งกลางวันกลางคืน และขอให้มีชัยชำนะศัตรู ด้วยข้อความดังนี้
"เอหินวเทวา ช่วยรักษา (กุมาร / กุมารี) นี้ ให้อยู่เป็นสุขี ทุกราตรีอย่ามีภัย เสนียดอุบาทว์และจัญไร อย่ามาใกล้กาย พระพุทธังรักษาเช้า พระธังมังเล่ารักษาสาย พระสังฆังรักษาไว้ ข้างเที่ยงบ่ายค่ำสุริยา เอหิปฐวีนั้น คุ้มภยันต์อันมหา อาโปเลี้ยงรักษา ทุกเวลาเป็นนิจสิน วาโยช่วยค้ำชู รักษาอยู่อุ่นกายิน เอหิเตโชสิน ได้รักษามนุษย์ไว้สืบสาย ขอท่านมาอยู่ประจำกาย ขอจงมีชัย ชัยประสิทธิเม"
จบพิธีพระให้ชยันโตอวยพร หมอทำพิธีเวียนเทียนที่แว่นทั้งสามด้วยเทียนขวัญ ครั้งแรกเวียนแว่นพระอิศวร เอาแว่นวางลงบนใบไม้ ๓ ชนิด ที่จัดไว้ โบกขึ้นลงสามครั้งเหนือบายศรี ส่งต่อไปให้ญาติ ๆ ที่มาประชุมในพิธีทำขวัญ เวียนจากขวาไปซ้าย เมื่อเวียนเทียนครบรอบ หมอจะรับแว่นมาถือแล้วดับเทียน เป่าควันให้ไปถูกเด็ก แล้วเริ่มจุดแว่นต่อไปตามลำดับ เอก โท ตรี วิธีเวียนเหมือนกันทั้งสามแว่น จบการเวียนเทียน หมอจะเป่าสังข์ เมื่อพระให้ชยันโตจบลง หมดทำพิธีป้อนขวัญมะพร้าวอ่อนให้แก่เด็ก เป็นอันจบพิธีทำขวัญ

สาระ
พิธีทำขวัญเด็ก เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณ เชื่อกันว่าขวัญจะไม่มีตัวตน แต่มีชีวิตจิตใจเหมือนคน พิธีทำขวัญเด็กให้สาระคือ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าเด็กเป็นศูนย์รวมของความรักของคนในครอบครัว เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงก่อเกิดพิธีทำขวัญขึ้น