ชื่อ
ฮารี เบอร์จูกูร์ (การโกนผมไฟ)
ภาค ภาคใต้
จังหวัด นราธีวาส



ช่วงเวลา การโกนผมไฟนิยมทำในช่วงเช้าของวันที่กำหนดและถือว่าเป็นการปฏิบัติตามพระวจนะของพระศาสดาของศาสนาอิสลาม

ความสำคัญ
การโกนผมไฟถือว่าเป็นการปฏิบัติตามพระวจนะของพระศาสดาของศาสนาอิสลามและถือว่าเป็นประเพณีนิยมที่ทำขึ้นเพื่อเสี่ยงทายว่าภายหน้าเด็กจะร่ำรวยหรือไม่ มีอนาคตอย่างไร เชื่อว่าเด็กจะได้ดีเป็นที่พึ่งพาอาศัยของพ่อแม่ในภายหน้าได้หรือไม่มีจิตใจหนักแน่นเข้มแข็ง เลี้ยงง่ายหรือเลี้ยงยาก

พิธีกรรม
๑. อุปกรณ์ที่ใช้การประกอบพิธีการโกนผมไฟ มีดังนี้
๑) ใบบอน ๓ ใบ ขันน้ำย่านสะบ้า น้ำมะกรูด มีดโกน ถาดสำหรับรองของ ๓ อย่าง
๒) มะพร้าวห้าว ๑ ผล แป้ง ใบเฉียงพร้า รากหญ้าตีนกา
๓) ขันเงิน ขันทอง ผ้าสามสี (ขาว แดง เขียน อย่างละ ๑ ผืน)
๔) เปลผ้า พวงข้าวตอกดอกไม้
๕) แพะ ๑ ตัว แกะ ๑ ตัว
๒. พิธีโกนผม
๑) พิธีเริ่มด้วยการนำเด็กมานอนหงายบนตักแม่หรือญาติผู้ใหญ่ แล้วสระผมเด็กด้วยน้ำย่านสะบ้าและน้ำมะกรูดจนผมนิ่มสะดวกต่อการโกน
๒) ใช้มีดโกน โกนผมตรงกระหม่อมก่อนแล้วค่อย ๆ โกนจนทั่วศีรษะ นำผมที่โกนทั้งหมดมาห่อด้วยใบบอนซ้อนกัน ๓ ใบ
๓. พิธีการอาบน้ำเด็ก
๑) เมื่อโกนผมเสร็จแล้วนำเด็กลงไปอาบน้ำเป็นน้ำคลองหรือน้ำบ่อ
๒) หมอตำแยเป็นผู้ทำพิธีอาบน้ำแม่เด็กหรือญาติจะเป็นผู้ช่วยเหลือ
๓) เริ่มด้วยหมอตำแยนำรากหญ้าตีนกามาทำเป็นแปรง ชุบแป้งที่ผสมใบเฉียงพร้า มาทาที่ศีรษะของเด็กจนทั่วดีแล้ว
๔) นำเด็กลงจากเรือนไปสู่ที่อาบน้ำเด็กผู้ชาย นิยมนำลงมาทางบันไดหน้าเรือน โดยถือตามประเพณีนิยมว่า ผู้ชายเป็นผู้นำหน้าเป็นพ่อบ้านและเป็นผู้นำในครอบครัวและสังคม
๕) หมอตำแย และผู้ช่วยเหลือก็จะช่วยกันชำระร่างกายและฟอกด้วยน้ำย่านสะบ้า และน้ำมะกรูด แล้วนำเด็กคว่ำน้ำเงินน้ำทอง คือน้ำในขันโดยมีเครื่องเงินเครื่องทองแช่อยู่ ถือเป็นประเพณีเชื่อกันว่าภายหน้าเด็กจะร่ำรวย เสร็จแล้วให้เด็กเหยียบก้อนหิน ถือว่าเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นคนที่มีฐานะมั่นคง และมีจิตใจเข้มแข็ง จากนั้นก็ให้เด็กขึ้นบันไดทีละขั้น เชื่อว่าภายภาคหน้าเด็กจะได้มีความเจริญในหน้าที่การงานขึ้น ตามลำดับเช่นเดียวกับขั้นบันได เสร็จแล้วหมอจะนำเด็กมาผัดหน้าทาแป้ง แล้วนำผ้าที่เตรียมไว้มาห่อหุ้มตัวเด็ก เตรียมมอบให้พ่อพาเข้าพิธีขึ้นเปลต่อไป
๔. การนำเด็กขึ้นเปล
เริ่มด้วยพ่อเด็กนำเด็กไปวางลงในเปล โต๊ะอิหม่าม เป็นผู้ทำพิธีและญาติพี่น้องของพ่อแม่ ที่ยืนล้อมเปลอยู่ ก็จะสวดพรจากองค์อัลเลาะห์ ขณะที่อิหม่ามสวดอยู่นั้น พ่อเด็กจะจับเด็กอุปลักษณ์เห่กล่อม ประทักษิณแปล ๓ รอบ จบลงพร้อมคำสวดของโต๊ะอิหม่าม แล้ววางกลับลงบนเปลอีกครั้ง จากนั้นทุกคนนั่งสวดขอพรอีกครั้ง เมื่อจบแล้วถือเป็นเสร็จพิธี

สาระ
การโกนผมไฟ เรียกว่า อารีเบอร์จูกูร์ นิยมทำกันช่วงเวลาเช้าของวันที่กำหนด และถือว่าเป็นการปฏิบัติตามพระวจนะของพระศาสดา ทางศาสนาอิสลาม หมอตำแยซึ่งเป็นผู้ทำคลอดเป็นประธานในการประกอบพิธีบนเรือนของพ่อแม่เด็ก ซึ่งถือว่าถ้าเด็กได้ทำพิธีการโกนผมไฟแล้ว เมื่อเติบใหญ่จะมีความเจริญก้าวหน้า มีฐานะมั่นคง และจิตใจหนักแน่นเข้มแข็งในอนาคต