ชื่อ
การลอยเรือชาวเล
ภาคใต้
จังหวัด ภูเก็ต



ช่วงเวลา เนื่องจากชาวเลซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่เร่ร่อนเลี้ยงชีพในทะเลในจังหวัดภูเก็ต จำแนกตามกลุ่มที่ทำใช้ภาษาได้ ๒ กลุ่ม มีการประกอบพิธีกรรมที่แตกต่างกันดังนี้
๑. ชาวเล คือกลุ่มที่อาศัยอยู่บ้านสะบำและบ้านแหลมตุ๊กแก ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต จะทำพิธีการลอยเรือชาวเลในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ เวลา ๐๖.๐๐ น.
๒. ชาวเลสิงห์ คือกลุ่มที่อาศัยอยู่ที่บ้านแหลมหลาและบ้านเหนือ ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จะทำพิธีการลอยเรือชาวเลในวันขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ เวลา ๑๘.๐๐ น.

ความสำคัญ
การลอยเรือของชาวเลสิงห์ ถือว่าเป็นการนำสิ่งชั่วร้ายที่มีอยู่ในร่างกายและหมู่บ้านของชาวเลทั้ง ๒ กลุ่ม ออกไปทิ้งในท้องทะเลลึก เพื่อให้ชาวเลทั้ง ๒ กลุ่มมีชีวิตที่เป็นสุข เป็นความเชื่อที่ก่อให้เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ ของผู้ที่ได้ใช้ทะเลเพื่อการดำรงชีวิต
การประกอบพิธีลอยเรือนั้น ชาวเลและชาวเลสิงห์ ได้ประกอบพิธีปีละ ๒ ครั้ง ทำให้ชาวเลและชาวเลสิงห์มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น

พิธีกรรม
ทั้งชาวเลและชาวเลสิงห์มีการเตรียมสร้างเรือพิธี พิธีกรรมก่อนลอยเรือดังนี้
ชาวเล
๑. ใช้ไม้ทองหลางเป็นโครงแกนของท้องเรือพิธี หัวเรือท้ายเรือและจังกูดมีความยาว ๕-๗ เมตร ใช้ไม้ระกำต่อเป็นตัวเรือกว้างประมาณ ๑ เมตร ความสูงท้องเรือ ถึงกราบขอบเรือประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ติดเสากระโดงเรือด้วยไม้ขนาดนิ้วหัวแม่มือ ๓ เสา สูงประมาณ ๒ เมตร มีผ้าขาวเป็นใบเรือ
๒. การไปตัดไม้ทองหลางไม้ระกำเพื่อประกอบเป็นเรือพิธีและไม้กายู่ฮาดั๊กทำในตอนเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑
๓. ชาวเลจะไปหลา หลาคือศาลาหรือศาลพระภูมิเจ้าของชาวเลเป็นที่สิงสถิตของโต๊ะตามี่ หัวหน้าทำพิธี ผู้ติดต่อกับโต๊ะตามี่เรียกว่า โต๊ะหมอ ชาวเลจะไปหลาเวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ ชาวเลผู้ชายผู้ติดตามคนหนึ่งจะถือตะกร้าใส่ไก่ย่าง หัวเล็บเท้าและเครื่องในก็เอาไปด้วย นอกนั้นก็มีเหล้า น้ำ เปลือกหอย ข้าวตอกและกำยาน ชาวเลคนอื่น ๆ ถือจานใส่ขนมหัวล้าน เทียน หมากพลูและยาสูบ เดินตามโต๊ะหมอไปร่วมพิธีที่หลาโต๊ะตามี่ เมื่อพิธีที่หลาเสร็จแล้วชาวเลจะแห่ไม้และวัสดุเตรียมสร้างเรือพิธี
๔. ตอนเย็นเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น.
ชาวเลทั้งหญิงและชาย ช่วยกันขนวัสดุที่จะใช้ประกอบพิธีมีขบวนแห่โดยมีดนตรีพื้นเมืองนำหน้า และช่วยกันต่อเรือพิธีให้เสร็จก่อนฟ้าสาง
๕. เมื่อชาวต่อเรือเสร็จ ชาวเลจะทยอยไปที่เรือพิธีตั้งแต่เวลา ๐๔.๐๐ น. ของเช้า มืดขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ สิ่งของที่แต่ละครอบครัวจะเอาใส่เรือพิธีคือ ไส้ไม้ระกำ ที่แกะเป็นตุ๊กตาแทนคนในครอบครัวจำนวนเท่าสมาชิกในครัวเรือน เล็บ ผม และข้าวตอก ก่อนจะซัดข้าวตอกใส่เรือ ชาวเลจะกำข้าวตอกลูบไล้ตามตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า ให้ข้าวตอกเอาความชั่วร้ายออกจากร่างกาย แล้วซัดใส่เรือพิธี
๖. เวลา ๐๖.๐๐ น. โต๊ะหมอมาสวดคาถาที่ท้ายเรือ ชาวเลชายช่วยกันยกเรือพิธี แบกหามลงไปบรรทุกเรือหางยาวที่เตรียมไว้นำไปลอยเรือพิธีที่ทะเลลึก เป็นการกันไม่ใช่ตามชั่วร้ายในลำเรือย้อนกลับมาสู่หมู่บ้าน หากเรือย้อนกลับเข้ามาสู่หมู่บ้านพวกชาวเลต้องเริ่มพิธีกันใหม่
ชาวเลสิงห์
๑. จะใช้ต้นกล้วยทั้งต้นเป็นโครงแกนท้องเรือ ใช้ไม้สักหินขนาดหัวแม่มือเป็นแกนยึดต้นกล้วยไว้ด้วยกัน กราบข้างเรือจะใช้กาบกล้วยแทนกระดาน ขนาบไว้ด้วยไม้สักผูกด้วยหวายนา ท้ายเรือรูปทรงคล้ายท้ายเรือสำเภา หัวเรือทำด้วยก้านเครือกล้วยทั้งท่อน ความยาวของเรือพิธีจากหัวเรือจดท้ายเรือยาวประมาณ ๓ เมตร กว้าง ๑.๕ เมตร สูง ๑.๓๐ เมตร เมื่อติดตั้งเสากระโดงจะสูงเป็น ๒ เมตร
๒. ชาวเลสิงห์ผู้ชายจะไปตัดไม้สัก หวายนาและต้นกล้วยในตอนเช้าของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ เริ่มประกอบเป็นลำเรือพิธีเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. จะต่อเรือและติดใบเรือเสร็จสิ้นประมาณเวลา ๑๕.๐๐ น.
๓. เวลา ๑๕.๐๐ น. ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ ชาวเลสิงห์ จะเอาเสื้อผ้าเก่า ๆ ตุ๊กตากาบกล้วยแทนคนในครอบครัว จำนวนเท่าสมาชิกในครอบครัวและกระทงน้ำไปใส่ในเรือพิธี
๔. ชาวเลสิงห์จะไปประกอบพิธีที่หลา หลาคือศาลาหรือศาลพระภูมิเจ้าที่ของชาวเลสิงห์ เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ ชาวเลสิงห์จะประกอบพิธีเมื่อชาวเลสิงห์ได้เขาขนมข้าวปลาอาหารใส่จาน หรือถาดไปวางไว้ที่หลาแล้ว อาหารแต่จะถาดมีข้าวสุก ข้าวเหนียว ขนมเปียก แกงปลา ปลาทอด หมากพลู ยาสูบ และน้ำ เป็นต้น
๕. โต๊ะหมอนั่งทำพิธีหน้าหลา ชาวเลสิงห์นั่งอยู่ใกล้โต๊ะหมอเป็นรูปครึ่งวงกลม เว้นที่ไว้ทางด้านหลังหลาเท่านั้น โต๊ะหมอให้ชาวเลชายคนหนึ่งถือกะลาใส่กำยานเดินวนรอบหลานซ้าย ๓ รอบ เอาข้าวตอกซัดไปที่หลา โต๊ะหมอใช้มือกำควันกำยานมาลูบไล้ตัวและใช้มือป้องเปลวเทียนพร้อมสวดคาถาแล้วดับเทียน ตัวแทนโต๊ะหมอจึงไปดับเทียนบนหลา
๖. เมื่อทำพิธีที่หลาเสร็จเรียบร้อย ก็จะมาร่วมประกอบพิธีที่เรือพิธี ชาวเลสิงห์ถือจานใส่ข้าวสารซึ่งย้อมสีเป็นสีต่าง ๆ เช่น เหลือง แดง เขียว ฟ้า ส้ม เป็นต้น พร้อมด้วยด้ายสีแดงมามอบให้โต๊ะหมอสวดคาถาใส่จานให้ แล้วจึงเอาด้ายไปผูกข้อมือให้กับสมาชิกในครอบครัวและเอาข้าวสารที่ประกอบพิธีแล้วไปซัดรอบ ๆ บ้านของตน โต๊ะหมอก็ประกอบพิธีที่เรือพิธีในขณะที่ประกอบพิธีห้ามคนเดินผ่านหัวเรือ โต๊ะหมอเดินวนรอบเรือวนซ้าย ๓ รอบ รอบสุดท้ายจะเปล่งเสียงนำโห่ทิศละลาชาวเลสิงห์จะชัดข้าวสารที่เหลือใส่เรือพิธี รอสัญญาณจากโต๊ะหมอแล้วยกเรือพิธีไปบรรทุกเรือหางยาวไปลอยกลางทะเลลึก เหมือนกับของกลุ่มชาวเล

สาระ
การลอยเรือชาวเลให้สาระดังนี้
๑. ประเพณีลอยเรือชาวเลและชาวเลสิงห์ เป็นพิธีกรรมยึดเหนี่ยวจิตใจให้ดำรงเผ่าพันธุ์สืบต่อกันมาเป็นกลุ่มเผ่าอยู่ได้ ทั้งนี้เพราะชาวเลและชาวเลสิงห์ เป็นกลุ่มที่เร่ร่อนเป็นการได้มาร่วมพิธีกรรมของกลุ่มอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง หากไม่มีประเพณีลอยเรือชาวเล ทั้ง ๒ กลุ่ม ก็จะแยกย้ายหรือล้มหายตายจากพลัดพรากจากกลุ่มเผ่าของตนออกไป
๒. เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคี ความสนุกสนานรื่นเริง ตามลำดับขั้นตอนในการประกอบพิธีลอยเรือ ตั้งแต่การเตรียมวัสดุสำหรับสร้างเรือ การต่อเรือ การตกแต่ง การละเล่น การประกอบพิธีทางความเชื่อและการลอยเรือ เพื่อขจัดความทุกข์และโรคภัยที่มาเบียดเบียน
๓. เป็นความเชื่อเกี่ยวกับการลอยความไม่ดีของร่างกายออกไป เพื่อนำไปทิ้งไม่ให้กลับมาสู่ร่างกายและหมู่บ้าน