ในอดีตบริเวณที่เรียกกันว่า "อาณาจักรล้านนา" เคยมีความรุ่งเรืองไพบูลย์ทั้งทางด้านศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ มีเจ้าผู้ครองนครที่ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนด้วยร่มเย็นเป็นสุข

หลังจากที่พญามังรายได้ทรงดำริที่จะสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง (พ.ศ. 1839) เมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนา ต่อมาเชียงใหม่ถูกพม่าเข้าปกครองและถูกทิ้งให้รกร้างมานานกว่า 200 ปี (พ.ศ. 2101 - 2317) กระทั่งพระเจ้ากาวิละได้ทรงรวบรวมไพล่พลขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่และได้ทำการกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองต่าง ๆในดินแดนล้านนาเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นยุคของการ "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" (พ.ศ. 2339) จากนั้นพระเจ้ากาวิละได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 ซึ่งเป็นต้นสกุล "เจ้าเจ็ดตน" และต้นราชสกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง

พระเจ้ากาวิละได้ทรงกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองในอาณาจักรล้านนาจำนวน 52 เมือง ให้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ลำพูนโดยอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของเจ้าผู้ครองนคร ในสมัยพระเจ้ากาวิละปกครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ก็ได้สืบทอดแบบการปกครองบ้านเมืองตามโบราณและมีการปรับปรุงโดยนำแบบการปกครองของสยามเข้ามาใช้คือการตั้ง เจ้าหอหน้า หรือ เจ้าอุปราช หรือ เจ้าวังหน้า และเจ้าเมืองแก้ว หรือ เจ้าบุรีรัตน์ หรือ เจ้าวังหลัง และแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะปกครองระดับสูง ประกอบด้วย พระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน พระยาจ่าบ้านและพระยาเด็กชาย ต่อมาในสมัยของพระยาคำฝั้น เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 3 ได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าขันทั้งห้า หรือ เจ้าขันห้าใบ คือเจ้านายห้าองค์ที่มีพานเป็นเครื่องประกอบยศ มีเจ้าหลวงเป็นประธาน มีเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรีรัตน์ เจ้าราชบุตร ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมกำลังรบเป็นสำคัญ

หลังจากที่ได้มีการแต่งตั้งเจ้านายในราชสำนักฝ่ายเหนือแล้วก็ได้มีการสร้างที่พำนัก หรือ "คุ้ม" ซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนครตามตำแหน่งเจ้าศักดินาขันห้าใบ คือ เจ้าผู้ครองนคร, เจ้าอุปราช, เจ้าราชวงศ์, เจ้าบุรีรัตน์, เจ้าราชบุตร ส่วนเจ้านายบรรดาศักดิ์รองลงไปไม่นิยมเรียกที่พำนักว่าคุ้ม ส่วน "เวียงแก้ว หอคำ และคุ้มหลวง" เป็นที่ประทับและทรงงานของกษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร ซึ่งจะมีอาณาบริเวณกว้างขวางและมีอาคารหลายหลังเชื่อมต่อกัน

จังหวัดต่าง ๆในภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เคยเป็นหัวเมืองในอาณาจักรล้านนามาก่อนมีเจ้าผู้ครองนครปกครองมาแล้วหลายพระองค์ กระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2469 กรุงเทพได้มีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครในฐานะหัวเมืองประเทศราช ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครถือได้ว่าสิ้นสุดลง จังหวัดเชียงใหม่นับว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีเจ้าผู้ครองนครปกครองมาแล้วหลายพระองค์ บริเวณพื้นที่ต่างในเขตกำแพงเมืองเคยเป็นคุ้มหลวงมาก่อน ปัจจุบันหลังจากตำแหน่งเจ้าหลวงถูกยกเลิกพื้นที่ดังกล่าวถูกเปลี่ยนมาเป็นอาคารพานิชย์ สถานศึกษาและหน่วยงานราชการต่าง ๆ

คุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ในปัจจุบันที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันก็คือ คุ้มเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 5 คุ้มหลวงเป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ปีพ.ศ. 2418 ได้ย้ายมาสร้างเป็นวิหารวัดพันเตา นอกจากนั้นแล้วคุ้มหลวงของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่อีกพระองค์หนึ่งที่ปัจจุบันมีเหลือหลักฐานปรากฏจากภาพถ่ายก็คือ คุ้มหลวงริมปิงของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9 ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย คุ้มหลวงริมปิงหลังนี้เดิมตั้งอยู่บนถนนวิชยานนท์ บริเวณริมน้ำแม่ปิงฝั่งตะวันตก สร้างโดย ดร.ชีค (Dr.Marion Alphonso Cheek M.D.) มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน แล้วขายให้เจ้าแก้วนวรัฐ มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นคุ้มใหม่เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2468 เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐถึงพิราลัยในปีพ.ศ. 2482 คุ้มหลวงริมปิงถูกทิ้งให้รกร้างจนถึงปีพ.ศ. 2488 จากนั้นนายชู โอสถาพันธุ์ (เต๊กชอ แซ่โอ้ว) พ่อค้าชาวจีนได้ซื้อในราคา 180,000 บาท

คุ้มหลวงริมปิงเป็นอาคารไม้สัก 2 ชั้น หันหน้าไปทางแม่น้ำปิง มีบันไดด้านหน้าสองข้างซ้ายขวา ชั้นล่างเป็นห้องโถง ห้องรับแขกและห้องครัว ส่วนชั้นบนเป็นห้องพักขนาดใหญ่จำนวน 7 ห้อง ด้านหลังมีอาคารห้องแถวไม้สองชั้น เดิมเป็นที่ซ้อมดนตรีละครและเป็นที่พักของตัวละคร กระทั่งปีพ.ศ. 2499 ได้รื้อคุ้มหลวงริมปิงเพื่อสร้างตลาดนวรัฐ

นอกจากนั้นจังหวัดต่าง ๆที่เป็นหัวเมืองของล้านนาและเคยมีเจ้าผู้ครองนครปกครองอยู่นั้นก็ปรากฏว่ามีหลักฐานที่เป็นอาคารของคุ้มเจ้าหลวงหลงเหลือให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน เช่น คุ้มเจ้าหลวงลำพูน สร้างขึ้นในสมัยของ พล.ต.เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย คุ้มหลวงลำพูนสร้างเสร็จและทำบุญขึ้นคุ้มเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2482 เป็นอาคาร 2 ชั้นสไตล์ยุโรปมีโถงยื่นออกมาด้านหน้า ส่วนด้านบนสร้างเป็นโดม 8 เหลี่ยมมีอาคารปีกด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นห้องประทับของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ปัจจุบันคุ้มหลวงลำพูนอยู่ในความดูแลของคุณสารินี กลิ่นนาค (ณ ลำพูน) ซึ่งเป็นหลานของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์

ขณะที่จังหวัดลำปาง ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารและภาพถ่ายของคุ้มเจ้าหลวงลำปาง ส่วนที่เมืองแพร่ซึ่งเป็นหัวเมืองหนึ่งของล้านนามีหลักฐานเกี่ยวกับคุ้มเจ้าหลวงปรากฏ คือ คุ้มเจ้าเมืองแพร่ปัจจุบันคือจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้นทรงไทยผสมยุโรปก่ออิฐถือปูน บริเวณด้านหน้าของอาคารมีมุขยืนออกมา ชั้นล่างใช้เป็นห้องรับแขกชั้นบนเป็นที่ประทับ บริเวณหน้าจั่วแกะสลักลวดลายด้วยไม้ฝีมือปราณีต นอกจากนั้นแล้วที่เมืองแพร่ยังมีคุ้มหลวงไม้สักเก่าของเจ้าพรหม วงศ์บุรี เป็นบ้านไม้สองชั้นบริเวณจั่วบ้าน บังลม ตลอดจนไม้ช่องลมเหนือบานประตูแหน้าต่างแกะสลักลวดลายได้อ่อนช้อยงดงาม

จังหวัดน่านก็เป็นหัวเมืองหนึ่งของล้านนาในอดีต มีเจ้าผู้ครองนครปกครองเมืองมาแล้วหลายสมัย อาคารคุ้มเจ้าหลวงที่ปรากฏในปัจจุบันกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่านซึ่งจัดแสดงรวบรวมเครื่องใช้ต่าง ๆที่สำคัญของจังหวัดน่าน อาคารคุ้มเจ้าหลวง หรือ หอคำ หลังนี้ เคยเป็นที่ประทับของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2446 แทนหอคำหลังเก่าซึ่งเป็นอาคารไม้ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานก็ได้มอบอาคารหลังนี้และที่ดินให้แก่รัฐบาลเพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่านเมื่อปีพ.ศ. 2475 ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้สร้างอาคารศาลากลางจังหวัดน่านขึ้นใหม่ กรมศิลปากรจึงได้ขออาคารหอคำหลังนี้มาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน

นอกจากนั้นในดินแดนอาณาจักรล้านนายังมีหัวเมืองในปกครองอีกหลายเมือง ซึ่งแต่ละเมืองก็มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินปกครองเมือง ดังเช่นที่เมืองเชียงทอง หรือ หลวงพระบาง ก็ยังปรากฏ "หอคำ" หรือ "พระราชวังหลวง" ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ สร้างขึ้นริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันพระราชวังหลวงหลังนี้กลายเป็นหอพิพิธภัณฑ์ ประดิษฐาน "พระบาง" พระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองลาว ขณะที่เมืองเชียงตุงซึ่งเป็นหัวเมืองอันไพบูลย์แห่งหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ก็ปรากฏมีหอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุง กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลทหารคณะปฏิวัติพม่าได้ทำลายล้างระบอบกษัตริย์และศูนย์รวมใจของชาวไทเขินด้วยการทุบอาคารหอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุงทิ้ง เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยวในโอกาสปีแห่งการท่องเที่ยวพม่า (พ.ศ. 2539)

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของคุ้มเจ้าหลวงในดินแดนล้านนายังคงมีคุณค่าต่อจิตใจของผู้คนชาวเมืองมาเป็นเวลาช้านาน แม้ว่าปัจจุบันระบบเจ้าผู้ครองนครจะถูกยกเลิก ทว่าคุณค่าของสถาปัตยกรรมในฐานะของ "คุ้มเจ้าหลวง" หาได้ลดน้อยหรือสูญหายไปกับกาลเวลานั้นเลย.




ที่มา.........วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง "คุ้มเจ้าครองนครเชียงใหม่" คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กำธร ธิฉลาด "ประวัติศาสตร์ลำพูน" สภาวัฒนธรรมลำพูน
อนุสาร อสท. "แนะนำจังหวัดน่าน" กุมภาพันธ์ 2534
อนุสาร อสท. "แนะนำจังหวัดแพร่" พฤศจิกายน 2535