กำลังแสดงผล 1 ถึง 5 จากทั้งหมด 5

หัวข้อ: สองมือแม่ ตอนที่ ๒ และ ๓

  1. #1
    ละไมฝน
    Guest

    สองมือแม่ ตอนที่ ๒ และ ๓



    ๒. วัยสาว

    ลมหายใจแห่งรักกลิ่นหอมกรุ่นเหมือนกลิ่นข้าวหอมดอกมะลิ ความสมหวังในรักดุจดวงตะวันอันเจิดจรัส สาดแสงสุกอร่ามอวลอุ่นในยามเช้า ยามค่ำคืนฟ้างามระยับพราวด้วยแสงตะเกียงเงินของดวงดาว แม้ในคืนเดือนเพ็ญ... แสงโคมทองยังโชยกลิ่นหอมเย็น ละไมละมุนมาสู่ดวงใจแม่ยามนิทราฝัน

    ในวัยสาว...แม่ของฉันงดงามด้วยวัตรปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมที่คุณยายนวน อบรมพร่ำสอนมิบกพร่อง แม่จึงบริบูรณ์ด้วย เรือน ๓ น้ำ ๔

    เรือนผมแม่ดกดำงามหยักศกหอมเหมือนนางผมหอมในนิทาน ยามเช้าเย็นแม่ชอบเข้าเรือนครัวไฟ นึ่งข้าว ทำอาหารรสชาติแสนอร่อย เมื่อว่างเว้นจากงานนา งานเย็บปักถักร้อย แม่ก็ปัดกวาดบ้านถูเรือนสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ

    โอ่งดินน้ำกิน โอ่งใหญ่น้ำใช้ แม่ไม่เคยปล่อยให้แห้งขอด อีกทั้งน้ำเต้าปูนของคุณยายแม่ก็คอยเติมเต็มตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่แม่มีอย่างเอ่อล้นดวงใจ ก็คือน้ำใจอันโอบอ้อมอารีต่อญาติพี่น้องและคนรอบข้างนั่นเอง

    แม่เล่าถึงความประทับใจ ตอนที่ปู่นำขันหมากพลู และขันเงินไขปากไขคอมาสู่ขอแม่กับคุณตาสวงคุณยายนวน แม้ในขันมีเงินเพียง ๓ บาท คุณตาคุณยายก็ยินดีเอื้อมมือรับขันเงินนั้น พอถึงวันกินดองฤกษ์ดี เรือนไม้ที่เงียบเหงาก็คึกครื้นขึ้นมาทันที ยายนวนเตรียงพาขวัญพานบายศรี และเครื่องสมมาไว้อย่างพร้อมพรั่ง รอคอยขันหมากจากเมืองยศ วันแต่งงานเป็นวันที่แม่สวยที่สุด แม่แทบไม่ต้องแต่งหน้าเลย เพราะแม่สวยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผิวพรรณแม่ละเอียดขาว ผมดำหยักศกสวย ดวงตาแจ่มใสบ่งแววฉลาด วันนั้นแม่ใส่ชุดที่แม่ทอและตัดเย็บเอง พาดสไบแพรวาสีขาวพิสุทธิ์

    ใจแม่เต้นแรงด้วยความตื่นเต้น เมื่อขบวนแห่ขันหมากเดินทางมาถึงหัวกะไดเรือน คุณยายกลมอุ้มขันเงินนำหน้า มีหญิงสาว ๒ คนอุ้มขันหมากและขันเหล้ายา ถัดไปคือเจ้าบ่าวและญาติพี่น้องแห่แหนตามหลังมา

    ยายทองก้อนยืนขวางบันไดเรือนร้องถามว่า
    “ แม่นหมู่เจ้าพี่น้อง สิพากันไปไส มาหลายคักแท้น้อ”
    “ มาตั้งต่อหาบ้านดินดำน้ำชุ่ม มีซุมพี่น้องผองเชื้ออยู่เย็น เป็นบ่อนอยู่นางแก้ว แนวมั่นเป็นขวัญเฮือนนี่ละ”
    คุณลุงคำตันร้องตอบ
    “ ประสงค์สิ่งใดคือมุ่งหน้ามาเฮือนนี้ ”
    “ ใจประสงค์นางแก้วมาเป็นคู่เคียงขวัญ แล้วสิพากันสร้างทางเฮือนฮุ่งไปหน้า”
    “ คั่นแม่นปองจั่งซั่น ขันเงินคำกำแก้วแนวค้ำคูณได้มาบ่ ”
    “ ได้เทิงเงินคำกำแก้ว แนวมีค่าให้มาเหมิด ป่องข้อยข้าม้าใช้ หญิงชายบ่อึดอยาก หากยังได้นองางามมาค้ำคูณพุ้นแหล่ว ”
    “ เออ...คั่นได้จังซั่น กะเชิญขึ้นหอก้ำ หอคำได้”

    จบคำ ยายทองก้อนก็หลีกทางให้ขบวนขันหมากขึ้นบันไดเรือน สองเท้าพ่อย่างเหยียบบนก้อนหินรองใบตองกล้วย เด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งตักน้ำมาล้างเท้าให้พ่อ ก่อนก้าวขึ้นชานเรือน คุณยายกลมมอบขันหมากให้คุณตาสวงยายนวน พ่อนั่งลงเคียงข้างแม่เข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญ แล้วผู้เฒ่าผู้แก่ก็ผูกแขนบ่าวสาว คุณยายทองก้อนหยิบไข่ไก่จากพาขวัญ ใช้เส้นผมตัดแบ่งครึ่งยื่นให้คู่บ่าวสาวป้อนกันและกัน

    จากนั้นพ่อก็นำดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้สมมาคุณตาสวงยายนวน

    แม่นำหมอน ผ้าโสร่งไหม มาสมมาปู่ ซิ่นไหมผ้าสไบไหว้สมมาย่า ญาติพี่น้องฝ่ายพ่อได้รับหมอนและผ้าข้าวม้าคนละผืน...

    พ่อหอบฝันอันบรรเจิดจากเมืองยศ ( ยโสธร ) มาแบ่งปันให้แม่ครอบครองเต็มดวงใจ

    หลังจากแต่งงานแล้ว แม่ได้เปลี่ยนนามสกุล พลเยี่ยม เป็นนามสกุล โคตรพันธ์ ตามสกุลพ่อ แปลกต่างจากนามสกุลคนในหมู่บ้าน ซึ่งมีเพียง พลเยี่ยม และ แวงวรรณ เท่านั้น

    พี่ชายของแม่ ๒ คน คือ คุณลุงกูด คุณลุงรอด แต่งงานออกเรือนไปเลี้ยงพ่อตาแม่ยายเฒ่าหลายปีแล้ว พี่สาว ๓ คน คือ คุณป้าบุญสวน คุณป้าปัด แต่งงานออกเรือนไปเลี้ยงปู่เลี้ยงย่าเฒ่าแล้วเช่นกัน ส่วนคุณป้าบัวแต่งงานกับคุณลุงเข็ง นาเมืองรักษ์ กำลังปลูกเรือนใหม่กลางสวนกล้วยแม่ใหญ่ทุมมา

    ขนบธรรมเนียมชาวอีสาน เมื่อเขยใหม่ย้ายเข้ามาอยู่เรือนกับพ่อตาแม่ยาย เขยเก่าต้องขยับขยายออกเรือนไปตามวาระ ไม่ต่างกับมดปลวกงอกปีกบินขึ้นชมปวงดาวบนฟากฟ้าในคืนแรม พ่อแม่จะแบ่งปัน “มูลมัง” วัวควายไร่นาให้ลูกทำกินเลี้ยงชีพตามสมควร

    วิถีชีวิตชาวนา...ทุ่งข้าวเปรียบดังอ้อมอกมารดา สายฝนหลั่งรินดุจหยาดเหงื่อบิดาที่รวยรดท้องทุ่งให้ชุ่มฉ่ำอุดมสมบูรณ์ ทุ่งข้าวขาดฝนไม่ได้ฉันใด ชีวิตครอบครัวก็ขาดแม่และพ่อไม่ได้ฉันนั้น


    รูปรอยอดีตปริเปี่ยมในห้วงทรงจำของฉัน คำบอกเล่าของแม่นั้นช่างแจ่มกระจ่างนัก...

    บ้านของครอบครัวตาสวงเป็นเรือนใหญ่มีเกย เครื่องเรือนสับฝากระดาน มุงหลังคาด้วยแผ่นไม้เกล็ด ชานแดดยื่นออกไปด้านหน้า ริมชานสร้างร้านแอ่งน้ำ วางโอ่งดินเรียงรายไว้ดื่มกินยามพักผ่อน ร้านแอ่งน้ำน้อยมุงหลังคาไม้เกล็ดกันแดด ด้านข้างโล่งลมโกรกโอบชุบน้ำในโอ่งดินเย็นฉ่ำ น้ำฝนใสเย็นตักดื่มด้วยกระบวยกะลามะพร้าว กลิ่นหอมชื่นใจจนไม่รู้จักอิ่ม

    ด้านข้างชานแดดต่อเติมเรือนครัวไฟขนาดสองห้องเสาทอดออกไป
    ตอนที่ฉันฟังแม่เล่าฉันยังเด็กนัก นึกภาพไม่ออกว่า เรือนครัวไฟหน้าตาเป็นเช่นไร มีปล่องควันด้วยหรือเปล่า

    แม่อธิบายว่า เรือนครัวไฟตามบ้านไม่มีปล่องควันโขมงเหมือนโรงสีไฟ แต่มี “ป่องเอี้ยม” ช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เปิดแง้มออกใช้ไม้ค้ำยัน สำหรับระบายควันเวลานึ่งข้าวเหนียวและปรุงอาหาร คืนหนาวใด...หนาวเหน็บเนื้อนอนไม่หลับ คุณตาคุณยายจะชวนลูกๆ ออกมานั่งล้อมวงผิงไฟในเรือนครัวไฟ ซึ่งมี “แม่เตาไฟ” บันดาลไออุ่นแก่เด็กๆ

    บางดึกท้องร้องขออาหาร คุณยายนวนจะเปิดกระติบข้าวเหนียว ปั้นข้าวโรยเกลือเสียบไม้ไผ่ อังไฟจนห่ามหอม แล้วทาไข่ไก่เหลืองนวลทั้งปั้น

    คุณตาสวงเป็นนักเล่านิทานอารมณ์ดี มีนิทานก้อมสนุกๆให้เล่าอยู่เต็มพุง เมื่อลูกหลานรบเร้าขอฟังนิทานเสียงแจ้วๆ คุณตาก็ไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ เมื่อผู้เป็นพ่อแย้มยิ้ม เด็กๆ ใจเต้นเป็นสุขล่วงหน้าแล้ว ท่านหยิบใบตองกล้วย ยาเส้น จากเซี่ยนหมาก มาพันบุหรี่มวนโต จุดสูบพ่นควันโขมงรื่นรมย์ก่อนเล่านิทาน คุณตาชอบเล่าเรื่องสามเกลอ เพราะมีเรื่องราวให้เล่าหลายตอน เช่น ตอนสามเกลอหัวขโมย คุณตาเล่าว่า มีชายสามคนเป็นเพื่อนรักกันมาก ไปไหนไปด้วยกัน ชายคนแรกหูหนวก คนที่สองตาบอด คนที่สามขาเป๋เป็นใบ้ คืนหนึ่ง สามเกลอปรึกษากันว่าจะไปขโมยไก่ที่บ้านตาสีหูตึง โดยมอบหมายให้ชายหูหนวกปีนเข้าไปในเล้าไก่ ชายตาบอดเป็นคนบอกลักษณะไก่ ชายขาเป๋มีหน้าที่เฝ้าดูต้นทาง
    “ เอาไก่ตัวผู้หรือตัวเมีย ” ชายหูหนวกตะโกนถาม
    “ ตัวผู้ ”
    ชายตาบอดร้องตอบ ชายหูหนวกไม่ได้ยิน จึงตะโกนย้ำถามอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ
    “ เอาตัวเมียแม่นบ่ ”
    “ บ่แม่น เอาตัวผู้”
    “ เอาตัวเมียแม่นบ่ ”
    “ อย่าเสียงดังหลาย บักหนวก”
    “ เอาตัวเมียแม่นบ่...เอาตัวเมียเน๊าะ”
    เสียงตะโกนโต้ตอบของชายหูหนวกกับชายตาบอด ปลุกตาสีหูตึงตื่นขึ้นมา งัวเงียเข้าใจผิดคิดว่ามีคนลอบขึ้นมาเป็นชู้กับเมีย จึงร้องตวาดด้วยเสียงรันทดในราตรีอันมืดมิดว่า
    “ ไปเฮือนอื่นซะเด้อ เมียกูตายนานแล้ว...”
    ชายตาบอดกับชายหูหนวกตกใจ คิดว่าเจ้าของบ้านจะลงมาทำร้าย จึงอุ้มไก่ตัวเมียวิ่งเตลิดไปไม่คิดชีวิต ชายขาเป๋วิ่งตามเพื่อนไม่ทัน จึงถูกเจ้าของบ้านไล่จับได้

    แต่ตาสีหูตึงสอบถามเอาความกับชายใบ้ไม่ได้เรื่องเลย
    นิทานก้อมก็จบลงเพียงนี้...
    ฉันยอมรับว่าคุณตาสวงเล่านิทานสนุกกว่าฉันมากนัก พวกลูกๆ ถึงล้อมวงนั่งฟังนิทานที่คุณตาเล่าได้ทุกคืน

    กลับมาตามรอยคำของแม่ต่อไปดีกว่า
    แม่เล่าว่าพ่อทำนาไม่เป็น...

    ที่เมืองยศ พ่อมีอาชีพหมักปลาร้าขาย ปลามากมายในแม่น้ำชีถูกจับขึ้นมาทำปลาร้า หมักไว้ในโอ่งลายมังกร ปลาช่อนตัวเขื่องหมักข้ามปี จนเนื้อปลาเปลี่ยนเป็นสีแดงนุ่มได้ที่ กลิ่นจะหอม รสชาติกลมกล่อมมาก ปู่บรรทุกปลาร้าใส่เกวียนขนมาขายที่เมืองแวงปีละครั้ง นอกจากปลาร้าแล้ว ปู่ยังนำแหวนเงิน กำไล เข็มขัดนาค ติดมือมาขายด้วย

    บางปีพ่อก็เดินทางมาค้าขายกับปู่ พ่อรูปร่างสำอางสันทัด เนื่องจากชีวิตสุขสบายไม่เคยลำบากตรากตรำมาแต่เล็ก

    เมื่อพ่อมาเป็นลูกเขยคุณตาสวง พ่อไม่นิ่งดูดาย ฝึกไถคราดนา ปักดำข้าวกล้า ด้วยความขยันขันแข็ง ว่างเว้นจากฤดูทำนาก็ช่วยคุณตาขุดร้างถางพง ตัดฟืนขนมาเก็บใต้ถุนเรือน นึ่งข้าวปรุงอาหารในฤดูฝน และก่อไฟผิงในฤดูหนาว

    ทุกเช้ามืดแม่จะปลุกน้องสาวลุกขึ้นมาตำข้าวครกกระเดื่องข้างยุ้งฉาง พอฟ้าสางจึงชวนกันไปตักน้ำที่หลังวัดโพธิ์ร้อยต้น ระยะทางห่างจากบ้าน ราว ๓ กิโลเมตร บ่อน้ำกินแห่งนี้ได้ชื่อว่ารสชาติดีที่สุดในตำบลโพธิ์ทอง มีเรื่องเล่าขานกันว่า ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองร้อยเอ็ดมาตรวจราชการที่เมืองแวง แล้วแวะมานมัสการหลวงปู่แพง ได้ดื่มน้ำบ่อหลังวัดที่ชาวบ้านตักมาต้อนรับ เกิดติดอกติดใจ ถึงกับดำริให้ขนน้ำใส่เกวียนกลับไปที่จวนเจ้าเมืองด้วย

    พอแสงสายสาดจ้า ลูกสาวในครอบครัวออกไปเก็บดอกฝ้ายมาปั่นด้าย ทอผ้าใต้ถุนเรือน
    คุณยายนวนไม่ส่งเสริมให้ลูกๆ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพราะกว่าจะได้ใยไหมสวยงาม ตัวดักแด้ไหมมากมายต้องตายในหม้อน้ำร้อน ส่วนลูกชายก็ออกไปทอดแหหาปลา ขุดร้างถางพงปลูกข้าวโพด ฟักแฟงแตงกวา

    เรื่องที่แม่เล่าวาบขึ้นในทรงจำของฉันเป็นฉากเป็นตอน ขับเคลื่อนเรื่องราวดำเนินไปราวภาพยนตร์ย้อนยุคฉายซ้ำ

    สมัยก่อนผืนดินป่ากว้างยังไม่มีกรรมสิทธิ์ ใครต้องการที่ดินตรงไหน ก็ปักเขตผูกหญ้าแฝกหมายไว้กับต้นไม้ หรืออาจใช้คมขวานถากเปลือกไม้จับจองเป็นเจ้าของ ญาติพี่น้องมักจับจองที่ดินใกล้ๆ กัน แล้วบุกเบิกแผ่ขยายออกไปกว้างไกลเท่าที่สองแขนและเรี่ยวแรงจะเอื้อมถึง ผืนป่าแล้งดินแดงไม่ค่อยมีคนจับจอง คุณตาสวงยายนวนชวนลูกๆ ขุดถางพงป่าหนามเล็บแมว ต้นติ้ว ต้นหนามแดง ถางเผาแล้วหยอดเมล็ดข้าวโพด ฟักทอง ถั่วพุ่ม แตงค้าง จากนั้น เฝ้ารอคอยน้ำค้างหยาดฝนชุ่มฉ่ำจากฟากฟ้า หากเป็นพื้นที่ลุ่มจะขุดคูคันนาเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย ไถกลบหมักหญ้าและปุ๋ยคอก ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ฮวงช้าง รวงข้าวใหญ่เม็ดหอมหวนยามนึ่งสุกใหม่ กลิ่นหอมไกลจากหัวบ้านถึงท้ายบ้าน กรุ่นหอมยิ่งกว่าข้าวหอมดอกมะลิ ข้าวฮวงช้างกินอิ่มท้องนาน แม้เพียงลิ้มรสปั้นข้าวเปล่าโรยเกลือ

    ดูเหมือนว่า พ่อไม่อยากได้อยากมีในที่ดินไร่นามากมายเหมือนลุงป้า ร่างกายพ่อไม่แข็งแรงทรหดทนแดดฝนเฉกเช่นเขยอื่น ไร่นาที่ปู่ย่าตายายบุกเบิกไว้ให้ลูกหลาน กว้างใหญ่ไพศาลเกินกำลังที่พ่อจะบุกบั่นฟันฝ่าต่อไป พ่อบอกกับแม่ว่ายามออกเรือนอย่าเรียกร้องที่ดินไร่นามากหลาย พ่อทำนาหามรุ่งหามค่ำไม่ไหว ขอแค่พื้นที่นาลุ่มเพียงพอกำลังทำกินในครอบครัวเท่านั้น

    ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้วแม่ไม่ขัดใจพ่อ ไม่เคยว่ากล่าวให้พ่อน้อยใจสักครา แม่เคารพบูชาผู้ชายที่แม่เลือกมาเป็นสามีดุจเดียวกับพ่อบังเกิดเกล้า

    มีเพียงเรื่องเดียวที่แม่ไม่เห็นด้วยกับพ่อ คือเรื่องที่พ่อวาดฝันจะเปิดร้านตัดเย็บ ให้แม่รับเย็บผ้าที่เมืองแวง ส่วนพ่อจะค้าขายของชำ ทว่าแม่ไม่อยากทอดทิ้งคุณตาคุณยายไปก่อร่างสร้างตัวในเมือง แม่รักบ้านเกิด...อยากอยู่ใกล้ชิดญาติพี่น้อง

    พ่อจึงเปลี่ยนความคิด ปรารภกับแม่ว่า จะสร้างบ้านหลังใหม่บนที่ดินของเรา สำหรับลูกๆ ที่จะเกิดมาในอนาคต

  2. #2
    ละไมฝน
    Guest
    ตอนที่ ๓

    แล้วคืนหนึ่ง แม่ก็ฝันว่า พ่อนำแหวนเงินมาสวมนิ้วนางให้แม่ จากนั้นไม่นาน แม่ก็เกิดอาการแพ้ท้องคลื่นเหียนอาเจียน แม่กินมะยม มะขาม ได้ทั้งวันทั้งตะกร้า ท้องแรกของแม่เริ่มโตชัดเจนเมื่อย่างเข้าสู่เดือนที่ห้า ขณะตั้งครรภ์แม่ยังคงทำงานหนักเป็นปกตินิสัย ปฏิบัติตามขนบความเชื่อที่คุณยายพร่ำสอนเสมอว่า อย่านั่งอยู่นอนกิน อย่านั่งขวางประตู จะคลอดลูกยาก ฯลฯ

    คนที่ตื่นเต้นเป็นที่สุดคือพ่อนั่นเอง พ่อเฝ้านับวันนับคืนจะเห็นหน้าลูกคนแรก ทุกๆ เช้าพ่อจะออกไปตัดฟืนที่ท้ายไร่ก่อนพระออกบิณฑบาต บรรทุกใส่เกวียนมาเก็บตุนไว้ใต้ถุนเรือน

    ลมหนาวโชยผ่าน เนิ่นนานกาลฟ้า
    มิ่งขวัญมารดา อุ้มครรภ์เก้าเดือน
    ใกล้วันผันล่วง เจ็บหน่วงปวดเหมือน
    สัญญาณกาลเตือน คราวคลอดลูกน้อย...

    วันครบกำหนดคลอด แม่ปวดท้องหนักหน่วง คุณตาสวงรีบจัดเตรียมแม่แคร่เตาไฟในเรือนครัวไฟ ตัดต้นกล้วยเป็นท่อนๆ ผ่าสองซีกวางลงในแม่แคร่ ขนดินขึ้นมากลบเกลี่ยทับข้างบนแล้วยกแม่เตาไฟมาวาง คุณยายนวนลงบันไดเรือนไปล้มกองฟืนทลายลง ชักฟืนไม้จิกมา ๓ ท่อน ก่อไฟต้มหม้อน้ำร้อนรอหมอตำแย คุณยายทองก้อน อยู่เรือนใกล้ชิดติดกัน ขึ้นมาช่วยตั้งขันข้าวสาร บรรจงวางหมาก ๓ ผล พลู ๓ เรียง กล้วยน้ำหว้าสุก ๑ หวี ธูป ๓ ดอก เทียน ๓ เล่ม พ่อวางเงินติดเทียน ๙ บาท ลงในขันลงหิน เป็นค่าบูชาครู

    เล่าถึงตรงนี้ ฉันก็รู้สึกราวกับว่า กำลังอยู่ในเหตุการณ์ทรงค่าน่าจดจำนั้นด้วย ฉันได้ยินแม่ร้องครางอย่างเจ็บปวดทรมาน ฉันหลับตาลงด้วยความสงสารแม่ พลันเห็นภาพเด็กทารกในครรภ์วาบขึ้นมาตรงหน้า เจ้าตัวน้อยกำลังชกหมัดเตะต่อยถุงน้ำคร่ำอุตลุด เขาคงอยากออกมาดูโลกอันสวยงามเต็มทีแล้วซินะ

    ใกล้ค่ำ ขอบฟ้าหมาดหมอก ม่านมืดคลี่ห่มคลุมหมู่บ้าน บรรยากาศเยือกเย็นลง ใบไม้ไม่ไหวติงลมนิ่งงันประหลาด พ่อจุดตะเกียงเจ้าพายุสว่างนวล ไม่นานร่างผอมสูงของหญิงชราคนหนึ่งก็ปรากฏขึ้น เสียงเคี้ยวหมากหยับ ๆ ดังมาแต่ไกล น้ำหมากเยิ้มสองมุมปากจนแดงเถือก เหมือนไปดูดเลือดใครมา แกหิ้วตะกร้าสานใส่หมากพลูก้าวขึ้นบันได เดินเข้ามาในเรือนครัวไฟ ทุกคนนั่งบนชานเรือนต่างมีสีหน้าโล่งใจ คุณยายนวนโน้มหน้าลงมากระซิบปลอบขวัญแม่ ซึ่งนอนตะแคงบนพื้นกระดานว่า... ลูกเอ้ย หมอตำแยมาแล้ว

    ยายเป้าสีหน้าเคร่งขรึม แต่งขันธ์ ๕ จุดธูปเทียนบนบานเทวดา ผีบ้านผีเรือน ช่วยปกป้องวิญญาณร้ายเร่ร่อนมารบกวนแม่ มือเหี่ยวย่นหนังติดกระดูก ล้วงขวดน้ำมนต์ที่ปลุกเสกโดยหลวงปู่แพง วัดโพธิ์ร้อยต้น มารินใส่ขันน้ำให้แม่ดื่ม แล้วประพรมน้ำมนต์ที่ท้องแม่ กำชับแม่ให้หันศีรษะไปทางทิศเหนือ
    คุณตาสวงสาละวนอยู่กับการนำด้ายสายสิญจน์ผูกโยงรอบเรือนครัวไฟ

    ถึงคราวคลอดลูกน้อยแล้ว ยายเป้าไล่พวกผู้ชายออกไปข้างนอก
    แม่หยุดเล่า ลูบแก้มฉันพลางยิ้มอ่อนโยนแล้วพูดว่า ถ้าหากลูกเกิดและมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น ยายเป้าหมอตำแยปากแดง ฟันดำ คงตะเพิดลูกออกไปจากเรือนอยู่ไฟแน่เลย เหตุผลเพราะลูกเป็นเด็กผู้ชาย
    แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นประสาเด็ก ฉันจึงวิงวอนขอให้แม่เล่าต่อไป จนฉันรู้สึกราวกับว่าฉันแอบแนบหูฟังข้างฝากระดาน ใจลุ้นระทึกไปกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ของผู้เป็นแม่ ภาวนาขอให้แม่และลูกคนแรกปลอดภัยด้วยเถิด
    อากาศอบอ้าวขึ้นมาอย่างฉับพลัน ทั้งที่เป็นช่วงฤดูหนาว ฉันได้ยินเสียงแม่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด สลับกับเสียงแหบแห้งของยายเป้า หมอตำแยคนเดียวในหมู่บ้านร้องว่า
    “ อีนาง...เบ่ง...เบ่งแฮงๆ เบ่งเข้าไป ฮึดๆ เบ่ง...เบ่งแฮงๆ ฮึดๆ ”
    ช่วงที่แม่พยายามเบ่งลูกออกจากท้องนั้น แม่คงเจ็บและทรมานสาหัสสากรรจ์ที่สุดในชีวิต หยาดเหงื่อเม็ดใสๆ ผุดพราวเต็มดวงหน้า ลำคอ และเรือนร่างแม่ แค่ฉันแอบเอาใจช่วยแม่อยู่ข้างนอก ยังสำเนียกได้ถึงความเจ็บปวดแทบขาดใจตายของแม่เลย
    ฉันจินตนาการเห็นภาพยายเป้าล้วงมือเข้าไปในผ้าถุง ดึงเอาหัวเด็กออกมาสุดแรง เสียงแม่ร้องกรี๊ดกังวานกรีดความเงียบงันแห่งราตรี
    นานหลายอึดใจ ฉันจึงได้ยินเสียงร้อง อุ๊แว้...อุ๊แว้...ลอดช่องฝากระดานเรือนอยู่ไฟออกมา
    ฉันระบายลมหายใจพรู...แอบยิ้มในหัวใจ พลิกกายนั่งพิงฝากระดานอย่างโล่งอก นึกเห็นภาพสายรกยาวๆ ติดสะดือเด็กออกมาด้วย
    คราวนี้ ถึงผ่านความเป็นความตายไปแล้ว ฉันยังไม่วายอยากรู้ว่า ลูกคนแรกที่แม่คลอดออกมาเป็น ผู้หญิง หรือ ผู้ชาย...
    “ เป็นผู้หญิงจ้ะ” แม่ตอบ เมื่อฉันถาม
    ความอึดอัดหนักหน่วงคลายจางจากท้องแม่แล้ว...เช่นเดียวกับคืนวันรอคอยรอยยิ้มแจ่มใส จากดวงหน้าผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่ฉันเรียกว่าแม่...

    ลูกหญิงตกหงาย ลูกชายตกคว่ำ
    แม่นอนอยู่กรรม เหงื่อไหลไคลย้อย
    อาบน้ำสรงศรี แพรดีวางคอย
    ห่อหุ้มลูกน้อย ใส่กระด้งงาม

    แม่รำพึงถึงความเจ็บปวดยากลำบากในการคลอดลูกคนแรก แล้วบอกแก่ฉันว่า ตอนนั้นหากไม่มียายทองก้อน ผู้ช่วยหมอตำแยนั่งหนุนอยู่ข้างหลัง เอื้อมมือมากดท้องแม่ไว้ รกคงบินขึ้นท้อง เป็นอันตรายต่อชีวิตแม่ ณ ห้วงเวลาที่สติสัมปชัญญะของแม่เรื่อราง ดุจแสงแรกแห่งวันฉายทักทายขอบฟ้า สายตาแม่เฝ้ามองยายเป้าห่อลูกที่แม่คลอดออกมาด้วยผ้าฝ้าย แล้วใช้ด้ายดิบผูกสายสะดือ ๓ เปลาะ ปล่อยสายรกยาวเสมอเข่าทารกน้อย วางแง่งไพลรองรับสายสะดือ มือขวาวาดไม้รวกคมกริบลวกน้ำร้อนตัดฉับตรงกลางที่รัดไว้ เลือดพุ่งกระฉูดออกมา ยายเป้าง้างริมฝีปากทารกน้อยล้วงเลือดปนเสมหะทิ้ง แล้ววักน้ำหยดใส่ปาก เสียงร้องไห้ของทารกน้อยยิ่งแจ่มใสลั่นเรือนอยู่ไฟ

    ยายทองก้อนรีบช้อนร่างเด็กหญิงมาวางบนแข้งสองข้างที่เหยียดราบไปข้างหน้า ประคองศีรษะหันแนบปลายเท้า ตักน้ำอุ่นชโลมล้างเมือกคาวบนร่างน้อย ยายเป้าเอื้อมมือมาดัดแขนดัดขาทารกให้ตรง จากนั้นนำผ้าฝ้ายสี่เหลี่ยมแหวกรูตรงกลาง วางทาบสะดือเจ้าหนูน้อย ให้สายสะดือโผล่พ้นขึ้นมาบนผ้า นิ้วเรียวยาวเหี่ยวย่นดูแข็งแรงราวคีมเหล็กของยายเป้า ขดสายสะดือเป็นวงกลมเหนือผืนผ้า ฝนขมิ้นชันผสมดินสอพองพอกสะดือ แล้วจึงรัดท้องทารกด้วยผ้าดิบ ป้องกันไม่ให้สะดือขดเคลื่อน
    สายลมเย็นพัดโชยเข้ามาเรือนไฟวูบหนึ่ง คุณตาสวงกุลีกุจอนำฝ้ายขาวมาผูกคอ ผูกข้อมือแม่และลูกน้อย คุณยายนวนอุ้มหลานรักไปนอนในกระด้งที่ปูด้วยผ้าห่มฝ้ายขาว ซึ่งวางเข็มเย็บผ้าและด้ายไว้ข้างกระด้ง เป็นเคล็ดเมื่อโตขึ้นลูกสาวจะได้รู้จักเย็บปักถักร้อย เป็นแม่บ้านแม่ศรีเรือนที่ดี
    ยายเป้านำไม้รวกที่ใช้ตัดสายสะดือมาซ่อนไว้ใต้กระด้ง ยกกระด้งขึ้นร่อนเบาๆ แล้ววางกระแทกกระด้งลงกับพื้นเรือน แม่หนูน้อยตกใจร้องไห้จ้าเลยทีเดียว


    ไปเซ่นผีพราย ไปไหว้ผีป่า
    แน่งน้อยลูกข้า สูจงเกรงขาม
    ผีโพงผีเป้า อย่าเฝ้าติดตาม
    ผ่านพ้นโมงยาม กลับเรือนอยู่ไฟ

    ยายเป้าคลี่ยิ้ม หลังจากเคร่งเครียดกับการทำคลอดนานนับชั่วโมง สองมือหญิงชราคู่นี้ให้ความหวังแก่ชีวิตแม่ ชุบชีวิตลูกมามากชีวิต และยังคงดำเนินต่อไป ตราบเท่าลมหายใจยังรักษาชีวิตของแก แม้นว่าในห้วงเวลาที่ล่วงผ่าน ชีวิตหนึ่งเคยดับสูญไปกับมือ ณ ช่วงเวลานั้น แม่เฒ่ารู้สึกราวกับว่าแววตาเศร้าชื้นของแม่ผู้อุ้มท้องหนักนานเก้าเดือน ได้กรีดรอยแผลลงในสำนึก บั่นทอนพลังใจให้อ่อนแอท้อแท้ แทบวางมือจากหน้าที่รับผิดชอบอันหนักอึ้ง
    หากยายเฒ่าทิ้งภาระหน้าที่ ที่สืบทอดมาจากยายทวด แล้วต่อไปใครจะสืบสานตำนานหมอตำแย ทำคลอดเด็กทารกด้วยสองมือเฉกเช่นแก...
    แม่เฒ่าห่อสายรกด้วยใบตองกล้วยสด ส่งให้พ่อนำไปล้างทำความสะอาด บรรจุใส่หม้อดินเผา กอบเกลือหนึ่งกำมือกลบลงไปเกือบเต็มปากหม้อ นำขึ้นมาวางริมแคร่อยู่ไฟ ยายเป้าร้องเตือนพ่อตั้งปากหม้อให้ตรงๆ ไม่เช่นนั้นลูกสาวจะปากเบี้ยว
    ฉันฟังแม่เล่าอย่างสนใจ แม่เล่าชีวประวัติของท่านสนุกเพลิดเพลินเหมือนฟังนิทาน วิถีชีวิตผู้คนสมัยแม่มีเคล็ดความเชื่อข้อปฏิบัติมากมาย ฉันจดจำไม่หวาดไม่ไหว บางเรื่องฟังแล้วครุ่นคิดตามมีเหตุมีผล บางเรื่องฟังเหลวไหลไร้สาระ
    ในช่วงอยู่ไฟ แม่ต้องนุ่งผ้าถุงกระโจมอกตลอดเวลา อาบน้ำต้มไพลผสมใบมะขาม ผิวมะกรูด และว่านชักมดลูก น้ำต้มสมุนไพร แม่ตักดื่มด้วยกระบวยกะลามะพร้าว ควันสีขาวบางละมุนม้วนพลิ้วไปตามแรงลมเป่า ส่งกลิ่นหอมกรุ่นอบอวลทั่วเรือนอยู่ไฟ ดื่มน้ำสมุนไพรขณะร้อนๆ ช่วยขับเหงื่อล้างเลือดเสียน้ำคาวปลา ขับผิวพรรณให้เปล่งปลั่งมีน้ำนวล พ่อมีความสุขกับการดูแลแม่เตาไฟ คอยเติมฟืนวันละ ๓ ท่อน และวนเวียนอยู่ไม่ห่างแม่กับลูกน้อย แม่เล่าความหลังย้อนยุคให้ฉันฟังอีกว่า สมัยคุณยายนวนอยู่ไฟ ท่านอยู่นานเป็นเดือน จิบน้ำร้อนทั้งวันทั้งคืน ถึงขนาดฉี่ลอดช่องกระดานเรือน ราดรดหัวหมาใต้ถุนเรือนร้องเอ๋งๆ วิ่งหนีหางจุกก้นไปเลยทีเดียว
    ยามหิว แม่กินข้าวกับเกลือ กระเทียมเผา และปลาแห้งย่างไฟ แม่ฝันอยากกินอาหารรสเผ็ดร้อน อาหารแสลงแสนอร่อยลิ้นก็กินไม่ได้ คุณยายนวนคอยเฝ้าดูแลอีกแรง พร่ำเตือนแม่ว่า อาหารที่แม่กินในแต่ละวันจะไปสร้างน้ำนมให้ลูกดื่ม ลูกจะแข็งแรงปลอดภัยได้ก็เพราะแม่เลือกสรรอาหาร ในตอนสายๆ คุณยายไม่ลืมฝนขมิ้นกับปูนแดงผสมเหล้าขาว ชุบสำลีทาสะดือและท้องของแม่ทุกวัน
    เมื่ออยู่ไฟครบสามวัน คุณตาสวงบอกพ่อนำหม้อรกไปฝังไว้ใต้บันไดเรือน กลบดินวางหนามเล็บแมว หนามแดงคลุมปกหลุม โบราณว่าสามวันยังเป็นลูกผี สี่วันจึงเป็นลูกคน ในวันนี้คุณตาสวงจัดโต๊ะหมู่บูชา คุณยายนวนเก็บดอกพุดซ้อนกลิ่นหอมเย็นมาปักแจกัน แต่งพานบายศรีปากชาม เครื่องกระยาบวช แป้งกระแจะจันทร์สำหรับเจิมหน้าผากหลานสาว แล้วไปเชิญพ่อใหญ่จารย์คำพาหมอพราหมณ์มาเรียกขวัญแน่งน้อยนอนอู่

    อุ้มลูกนอนอู่ ครอบสู่ขวัญเกล้า
    เอิง...เอย...เลือกเอา เนานอนอู่ไหน
    ผู้ดีอู่ฝ้าย ผู้ร้ายอู่ไหม
    ขวัญท่องทางไกล รุ่มร้อนกายร้าง
    ขวัญก่อกำเนิด ขวัญเพริศหลงทาง
    ท่องในป่าร้าง ขวัญเอยจงมา

    และแล้วญาติพี่น้อง บ้านใกล้เรือนเคียงก็ล้อมวงเข้ามาผูกแขนรับขวัญทารกน้อย
    พ่อขอร้องให้คุณยายนวนตั้งชื่อหลานสาวเพื่อเป็นสิริมงคล คุณยายนั่งนึกชื่ออยู่นานก็นึกไม่ออก จึงหยิบตำราเก่ามาเปิดอ่าน สะดุดตาชื่อมงคลนามหนึ่งตรงตามนรลักษณ์ทารกจากผิวพรรณอันดำปี๋ว่า
    “ เด็กหญิงสำลี...”

    (โปรดติดตามตอนต่อไป)

  3. #3
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197
    อ่านแล้วประทับใจมากค่ะ
    อ่านแล้วอยากกราบแม่นะคะ
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  4. #4
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ แจ่มใสยิ้มสวย
    วันที่สมัคร
    Mar 2009
    ที่อยู่
    USA
    กระทู้
    961
    บล็อก
    18
    ขอบคุณอาจารย์ ค่ะ

    พ่อแจ่มใสก็นักเล่านิทาน สูบยาใบตองกล้วย ชอบไปตัดใบตองกับแม่ แล้ว ก็มานั่งตัด ให้ ท้ายหัวมน จากนั้น ก็ม้วนซ้อนกันใว้เป็นหลอดกลม พ่อสะดวกใช้

    แม่ก็ทั้งปลูกฝ้าย เลี้ยงไหม แต่คราวหลังยายก็ไม่ให้เลี้ยงไหม บอกว่า บาปที่ต้มเขา

    ตำข้าวครกกระเดื่อง แจ่มใสก็เคยตำ ที่บ้านมีทั้งครกกระเดื่อง และ ครกมือ

    ตะเกียงเจ้าพายุ จุดมีเวลามีงาน หรือเหตุการณ์ ที่มีคนเยอะ

    เวลาพ่อจุดตะเกียงเจ้าพายุ แจ่มใสตื่นเต้น ลุ้น กลัวใส้ตะเกียงขาด ถ้าเปิดลมแรง อัดลมมาก ใส้ตะเกียงก็จะขาดและหากไม่มีใส้ตะเกียง สำรอง ก็ต้องใช้ ตะเกียง น้ำมันการ์ด ต่อไป
    (สงสัยจนทุกวันนี้ ว่า ตะเกียงเจ้าพายุมีกลไก การทำงานยังไง และใครเป็นคนคิดค้น ตะเกียงเจ้าพายุ)

    พี่ๆ ญาติๆ คลอดลูกด้วยมือหมอตำแย อยู่ไฟ ก็เคยเห็น ห้ามตากผ้าตอนกลางคืน หาหนามเล็บเหยี่ยว มาสุมน้ำที่อาบลงไป กันผี ต้องมีคนนอนเฝ้าคนอยู่ไฟ ห้ามปล่อยให้นอนคนเดียว
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย แจ่มใสยิ้มสวย; 09-10-2009 at 12:56.

  5. #5
    ละไมฝน
    Guest
    สวัสดีครับคนฟังเพลง เอ้ย..คนสุรินทร์ สับสนนิดนึงครับ แจ่มใสยิ้มสวยยังยิ้มสวยเหมือนเคยนะ
    ละไมฝนนำเรื่องเก่าๆ มาเล่าสู่ฟังครับ
    ขอบคุณแวะมาทักทาย และร่วมรำลึกถึงความหลัง
    ฮักแพงชาวบ้านมหาทุกท่าน

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •