หญิงไทยผู้ทรงอิทธิพลในอเมริกา
นุชนาถ มัลลัส (ดี)

"พี่ชายบอกว่าคนเรารวยได้ทุกคน แต่มันขึ้นอยู่กับว่าใช้อะไรเป็นการวัด ถ้าเราจะวัดกันที่ความสุข เรามีความสุขไปตั้งนานแล้ว มีความสุขตลอดเวลา แต่หาเรื่องใส่ตัวด้วยการทำงานมากขึ้น" ...นุชนาถ มัลลัส สตรีผู้ทรงอิทธิพล 1 ใน 9 ของเนวาดา และคนไทย 1 ใน 10 ที่ประสบความสำเร็จในอเมริกากล่าวไว้หลังจากที่ M-Lite มีโอกาสได้พูดคุยถึงเรื่องราวชีวิตธุรกิจการลงทุน และพูดคุยในฐานะประธานกรรมการธนาคารเอเชียแห่งแรก (First Asian Bank) ที่เป็นผู้หญิง

"นุชนาถ มัลลัส" หรือ ดี คือคำแนะนำที่ประชาสัมพันธ์บอกกับเราว่าใครหลายๆคนอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่เธอที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา เธอคือสตรีผู้ทรงอิทธิพลติด 1 ใน 9 ของผู้หญิงในรัฐนี้ อีกทั้งคือ 1 ใน 10 ของคนไทยที่ไปเติบโตและเจริญรุ่งเรืองในอเมริกา จากชีวิตที่ย่ำแย่จากวิกฤตเศรษฐกิจ มีเพียงความชอบในภาษาอังกฤษ และตัวเลขที่ทำให้ดี นุชนาถ มัลลัส สาวแม่ลูกแฝด 2 ที่วัย 44 แล้วแต่รอยยิ้ม ความสวยและมีเสน่ห์แบบผู้หญิงผิวสี ทำให้เธอดูมีเสน่ห์ไม่น้อย ด้วยกิริยาท่าทางที่มีความเป็นไทยแต่เก่งระดับโลกเลยก็ว่าได้

คุณดีเล่าสั้นๆว่าจุดมุ่งหมายในการไปอเมริกาตอนที่ชีวิตของเธอในวันที่เมืองไทยฟองสบู่แตกชีวิตการทำงาน จึงทำให้เธอเลือกที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา จนได้พบกับเพื่อนที่สนิท "นิค มัลลัส" ซึ่งคือสามีและพ่อของลูกชายฝาแฝดวัย 8 ขวบของเธอ

"ตอนเรียนหนังสือดีจบที่ม.รามคำแหง ด้านมาร์เกตติ้ง พอเรียนจบมาก็ชอบค้าขาย ก็ไปฝึกงานที่บริษัทลินตัส ประเทศไทย ซึ่งทำด้านโฆษณา ที่นั่นเหมือนจุดประกายให้เราอยากไปทำงานเมืองนอก ซึ่งตอนนั้นเราก็ขายสินค้าพวกขายไอเดียอยู่ด้วย แล้วตอนหลังมาทำด้านสื่อ ไปเป็นโบรกเกอร์ให้แก่รายการวิทยุ"

"พอปี1996-1997 ช่วงนั้น เศรษฐกิจประเทศไทยก็แย่ลง มีเรื่องฟองสบู่แตก เราเองก็อยากไปเรียนต่อ ครั้นจะเรียนต่ออย่างเดียวก็คงจะลำบาก เลยสอบไปทำงานที่อเมริกา ทำงานที่วอชิงตันดี.ซี. พอดีมีเพื่อนที่อยู่อีกซีกหนึ่งคือที่ลาสเวกัส ชวนไปทำงานด้วยกัน ไปหางานทำที่บริษัท mortgage เป็นที่แรก เราก็ศึกษาธุรกิจทางด้านการเงินเพราะเรียนด้านมาร์เกตติ้งมาเราก็เลยทำด้านอสังหาริมทรัพย์" ...คุณดีเล่าประวัติตัวเองแบบย่อในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

เธอเล่าถึงธุรกิจการเปิดธนาคารที่ดูยิ่งใหญ่ในสายตาคนไทย แต่สำหรับเธอไม่เคยคาดคิดว่าให้คนอื่นมองว่ารวย เธอยอมรับกับเราว่า กว่าจะมีวันนี้ เธอต้องกู้หนี้ยืมสินมาทำบริษัทเช่นกัน แต่ด้วยความมุ่งมั่น และเป็นคนชอบคิดและทำในสิ่งที่ไม่เหมือนใคร เธอจึงเปิดธนาคารเอเชียแห่งแรกที่เนวาดา ซึ่งไม่ใช่แค่มีเงินก็ทำได้

"ทำงานอเมริกาก็ยาก แต่ว่าโดยนิสัยแล้วเราเป็นคนมุ่งมั่น ถ้าหากตั้งใจทำอะไรแล้วก็จะทำมากกว่า มีลูกเล็กๆก็โชคดีที่สามีช่วยดูแลให้ ชีวิตเกือบทั้งหมดให้แก่งานแต่ก็พยายามบาลานซ์กับความเป็นแม่"

"ที่อเมริกาทะเบียนรถดีใช้ว่า GR8IDEA (ออกเสียงว่า Great Ideal) ชอบเป็นเจ้าแห่งไอเดียชอบหาสิ่งใหม่ๆ ทำสิ่งที่คนอื่นทำน้อยๆ หรือเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่ค่อยทำโอกาสที่จะหาตลาดได้มันก็จะเร็ว คนในเอเชียมีตั้ง 11 เปอร์เซ็นต์ก็เลยตัดสินใจเปิดแบงก์มัน เราเปิดเป็นแบงก์แรก แบงก์เราไม่ได้ทำหรือบริหารทุกวันมันเป็นระบบบอร์ด ก็เลยมามองธุรกิจด้านอื่น ตอนปีที่ย้ายไปอยู่มองหาวิธีที่จะอยู่โดยการจะอยู่ที่นี่แบบถูกกฎหมายแล้วได้กรีนการ์ด"
" EB-5 ก็คืออีกอันหนึ่งที่ศึกษาอยู่ ต้องใช้เงินทุนหลายอย่าง การที่จะมาทำตรงนี้ก็จะต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล ไม่ใช่ว่าทุกคนขอไปจะได้หมด รัฐบาลเขาต้องดูเบื้องหลังของเรา เขาเช็กเรื่องการเงินค่ะ จะต้องมีเครดิตที่ดี 3 ตัว คือต้องไม่มีหนี้เสีย ไม่มีปูมหลังเรื่องการเงิน และผลงานที่ทำทุกวันจะไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการเงิน ข้อสำคัญคือองค์กรของเราจะต้องเชื่อถือได้ เพราะฉะนั้นผู้ถือหุ้นในบริษัทจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอย่างเพื่อที่จะมาทำโปรเจกต์ได้"

"เราเรียกระดมทุนที่ไหนก็ได้แต่ต้องมาฝากที่เนวาดา ถ้าเราจะเปิดที่แคลิฟอร์เนียเราก็เปิดได้ แต่เปิดได้แค่กู้เท่านั้นแต่จะรับฝากไม่ได้ แต่ละคนสามารถเป็นเจ้าของได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคำว่าเปิดแบงก์มันคือหัวหอกโดยเรามาชักชวน โดยจะมีผู้ถือหุ้นคนอื่น รวมทั้งกลุ่มกันแล้วก็ไปเชื้อเชิญให้คนทั้งกลุ่มมาถือหุ้นกับเรา เราเปิดแบงก์มาเนี่ยใช้เงินทุน 13.5 ล้านเหรียญ ประมาณ 400 กว่าล้านประมาณนั้น ตอนนั้นที่เปิดแบงก์เศรษฐกิจดีมากค่ะเลยตัดสินใจเปิด ตอนเปิดมาเศรษฐกิจมาแย่หลังๆ ถามว่าดีมั้ยมันก็ดีแต่ได้เจริญเท่าที่ควรเท่าที่เป็น ตั้งใจว่าตอนนี้ควรจะเป็น 50 ล้าน มันได้แค่ 37 ล้าน"

EB-5 นั้นคือการลงทุนที่ออกตามบทบัญญัติว่าด้วยการเข้าเมืองของชาวต่างชาติ ปี1990 (Immigration act of 1990) ที่อนุมัติให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในสหรัฐอเมริกาได้เพื่อส่งเสริมการลงทุน และการจ้างงานตามรัฐต่างๆ โดยให้สิทธิประโยชน์เป็นกรีนการ์ดถาวรในสหรัฐอเมริกา ทั้งครอบครัวรวมลูกโดยมีเงื่อนไข คือมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 เหรียญสหรัฐฯ และมีหลักฐานพิสูจน์ว่าเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย และนี่เองทำให้เธอเลือกที่จะมาชักชวนคนไทยไปทำธุรกิจร่วมกัน เพื่อต่อยอดธุรกิจด้วยการมีกรีนการ์ดนั่นเอง

และเมื่อครั้งหนึ่งที่ "ฮิลลารี คลินตัน" มาเยือนที่เนวาดา "นุชนาถ มัลลัส" เป็น 1 ในหญิงที่มีอิทธิพลของเมืองนี้ ที่ได้เข้าหารือ กับฮิลลารี อีกทั้งได้รางวัลนักธุรกิจดีเด่นที่ลาสเวกัส ในปี 2007 อีกด้วย
"ตอนนั้นคุณฮิลลารี คลินตันเขามาหาเสียง คุณฮิลลารี เขาก็ถามว่าทำอาชีพอะไร เราก็มาบอกว่าเรามาจากเมืองไทย เขาถามว่าเราคิดอย่างไรกับสหรัฐ และลาสเวกัส คุยด้วยนิดหน่อย แล้วมาทีมงานเขาติดต่อมา วันเปิดแบงก์เขาก็ส่งดอกไม้มาให้ เขาให้มุมมองของคนที่ทำธุรกิจหลายๆประเทศมาคุยกัน เพื่อจะคุยกันนัดกันเป็นกลุ่ม รวมทั้งฮิลลารีออกความเห็น ท่านมองว่าเมืองไทยเป็นคนขยันมุ่งมั่น่ในการทำงาน แล้วบอกคนไทยยิ้มง่าย"

ส่วนตัวแล้วแม้ว่าเธอจะอยู่ในเมืองแห่งคาสิโน แต่เธอไม่เคยเสียเงิน หรือหวังพึ่งความรวยจากการเล่นการพนันแต่อย่างใด …"อยู่ลาสเวกัสมา 13 ปีไม่เชื่อเรื่องการพนัน ไม่เชื่อว่าการพนันจะทำให้รวยได้"

หลายคนอาจคิดว่าเธอร่ำรวยเพราะมีสามีที่ร่ำรวยแต่เธอบอกกับเราว่า เส้นทางชีวิตเริ่มต้นไม่ได้แตกต่างจากคนไทยที่ไปต่างแดน มีเพียงภาษาอังกฤษ และวิชาด้านการตลาด บวกกับการชอบตัวเลข ที่ทำให้เธอไม่ทำอะไรบุ่มบ่าม หรือเกินตัว จนประสบความสำเร็จได้

"แรกๆเราทำบริษัทเราก็ใช้เล็กๆ เราก็ใช้เงินทุนน้อย อาศัยที่ว่าเป็นคนไม่ใช่บุ่มบ่าม ไม่ทำอะไรที่เกินตัว มีสตางค์มั้ยเริ่มแรกไม่มีหรอกค่ะ เราก็กู้หนี้ยืมสินมาเปิดบริษัทเหมือนกัน พ่อทำงานการไฟฟ้า แม่ก็เป็นข้าราชการที่สวนจิตรลดาแล้วแต่ออกมาแล้ว ที่บ้านสนใจสิ่งเดียวกันคือเรื่องของการศึกษา เพราะพ่อบอกว่าใครก็เอาจากเราไปไม่ได้"

" มีหนังสือรวยล้านเหรียญลงว่าเราคือ 1 ใน 10 คนไทย ที่รวยในอเมริกา แต่เราไม่อยากให้มองในแง่นี้ว่าเรารวย เรากลัวจะโดนมองว่าโม้รึเปล่า ไม่อยากให้มองเรื่องเศรษฐีเพราะมีคนรวยกว่าเราอีกเยอะแยะเลยค่ะ" ...

นอกจากความสามารถในการบริหารแล้ว ยังมีบริษัทในสังกัดอีกมากมาย รวมทั้งคุณดียังมีเวลาเลี้ยงลูก และสอนให้ลูกพูดภาษาไทย ช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่เด็ก ชีวิตที่เหมือนฝัน แต่ไม่ใช่นิยายเรื่องนี้ทำให้เราประทับใจในตัวเธอไม่น้อย อาจจะด้วยบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตนแบบไทย แต่กล้าคิดกล้าทำ จึงไม่แปลกเลยที่ธุรกิจของเธอรุ่งเรืองไปเสียทุกด้าน

.....

"คิดว่าโชคมันขึ้นอยู่กับสมอง เคยอ่านเรื่องซีเครตมั้ยคะ ชอบหนังสือเล่มนั้น และเคยเรียนกับโทนี่ รอบบิ้น เขาบอกเสมอว่าคิดอะไรก็ตาม บางครั้งเราเขียนใส่กระดาษ แล้วดูทุกวันว่าเราต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่โชค เราต้องทำตามนั้น มันจะได้ไม่โลเลไปที่อื่น เรื่องโชค เชื่อว่าคนเรามีโอกาสไม่เหมือนกัน แต่ว่าเราจะมองหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง เรามีโอกาสเพราะมองหา ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่มองหาก็ไม่เจอ"... แนวคิดธุรกิจและโชคของ "นุชนาถ มัลลัส"

ประวัติ
ชื่อ-นามสกุล : นางนุชนาถ มัลลัส (ดี) / (Mrs. Dee Mallas)
ประวัติการศึกษา : จบปริญญาตรี ด้านการตลาด ม.รามคำแหง ปริญญาโท MBA University of Phoenix Nevada

ตำแหน่งปัจจุบัน - ประธานบริษัท Nevada Regional Economic Development Center และ ผู้ก่อตั้ง ธนาคาร First Asian Bank

ประสบการณ์การทำงาน
ค.ศ. 1997 -สอบได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกาศวิทยุของรัฐบาลอเมริกา Voice of America (VOA)
- ตรวจสอบเอกสารเงินกู้และเอกสารความเสียหาย บริษัท Skofed Mortgage
- ย้ายไปดำรงตำแหน่ง Junior Processor
ค.ศ. 2007 - ตั้งธนาคารเอเชียแห่งแรกของรัฐเนวาดา ใช้ชื่อว่า “First Asian Bank ”

งานอดิเรก - ธุรกิจเครื่องประดับคริสตัล ของ Swarovski บริษัท D. Rose


ขอบคุณที่มา
โค้ด PHP:
http://www.oknation.net/blog/hr/2009/08/07/entry-1