เทคนิคการเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน

ช่วยเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้อย่างคุ้มค่า น่าเรียนรู้


ประเสริฐ เชิงชัยภูมิ เกษตรกรคนเก่งของ ธ.ก.ส. ผู้เพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือนประจำบ้านห้วยตะแคง ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ได้นำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเห็ดฟางแบบโรงเรือนมาช่วยเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้อย่างคุ้มค่า น่าเรียนรู้

เดิม ประเสริฐ เพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย แต่ก็ต้องขาดทุน เนื่องจากน้ำท่วมแปลง ทำให้เกิดโรคเชื้อรา แปลงเห็ดเสียหายหมดทั้งแปลง แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาและอุปสรรค จึงตั้งใจศึกษาเรียนรู้การผลิตเห็ดฟางอย่างจริงจัง โดยเดินทางไปดูงานการผลิตเห็ดฟางแบบโรงเรือนจากเกษตรกรที่อำเภอหนองบัวระเหว แล้วนำมาทดลองจนมีความรู้ความชำนาญ จากนั้นจึงค่อยๆเพิ่มจำนวนโรงเรือนมากขึ้น

สำหรับวิธีการเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือนนั้น เริ่มจากการทำโรงเรือนแบบชั่วคราว ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร หลังคามุงแฝกหรือวัสดุกันแดดและฝนได้ ด้านในบุด้วยผ้าใบพลาสติกสีฟ้าหรือสีขาวก็ได้ ทายาแนวภายในผ้าใบเพื่อไม่ให้มีรอยรั่ว ทำพื้นแบบประหยัดไม่ต้องเทพื้น ชั้นเพาะเห็ดทำด้วยไม้ เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ไผ่ ขนาดกว้าง 1 เมตร ความยาวตามขนาดความยาวของโรงเรือน แต่ละแถวจะมี 4-5 ชั้นเพาะ แต่ละชั้นห่างกัน 40 เซนติเมตร รองชั้นเพาะด้วยตาข่าย

การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน จำเป็นต้องอบไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์อุณหภูมิอยู่ที่60 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และติดโทโมมิเตอร์ เพื่อใช้วัดอุณหภูมิในโรงเรือนเพาะเห็ดทั้งขณะระหว่างการเพาะ ในส่วนของขั้นตอนในการเพาะเริ่มจากการหมักวัสดุเพาะเป็นชั้น 3 ชั้น ต่อด้วยการนำวัสดุขึ้นชั้นเพาะ อบไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ โรยเชื้อเห็ดฟางเลี้ยงเส้นใย หลังจากเลี้ยงเส้นใยได้ 3 วันก็จะตัดเส้นใย และลดอุณหภูมิเพื่อเพิ่มความชื้น

"การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน เป็นการใช้ความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่เข้าช่วยในทุกขั้นตอนของการเจริญ เติบโต จนกระทั่งเกิดดอกและเก็บเกี่ยวผู้ที่จะเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือนจึงควรที่จะ ผ่านการเพาะเห็ดแบบกองสูงหรือกองเตี้ยมาแล้ว เพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการปัจจัยต่างๆในการเจริญเติบโตของเห็ดฟางทุกขั้น ตอน ตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต"ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย

สนใจเรียนรู้เทคนิคการเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน ติดต่อได้ที่ ประเสริฐ เชิงชัยภูมิ บ้านเลขที่ 18 หมู่ 6 บ้านห้วยตะแคง ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง จังหวัด ชัยภูมิ โทรศัพท์ 08-5639-7401


ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=JtpfvW-J0Cc

ที่มา : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร