ชวนดูฝนดาวตกสิงโต18พ.ย.คาดมีถึง200ดวง


นักดาราศาสตร์ เผยปีนี้มีลุ้นได้ชมฝนดาวตกสิงโตมากเป็นพิเศษ เหตุเพราะโลกเข้าสู่ธารสะเก็ดดาว ระบุเช้ามืดวันที่ 18 พ.ย. มีอัตราการตกสูงสุด200ดวงต่อชั่วโมง ไทยดูได้ทั่วประเทศ ...

วันนี้ (8 พ.ย.) น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปรากฏการณ์ฝนดาวตกสิงโต หรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) ในปีนี้ อาจได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากนักดาราศาสตร์คำนวณพบว่า อัตราการเกิดดาวตกอาจสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงตี 4 ถึง ตี 5 ครึ่งของเช้ามืดวันที่ 18 พ.ย. 2552 อาจได้เห็นถึงชั่วโมงละ 200 ดวง โดยเป็นจำนวนที่มากรองจากเมื่อปี พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นปีที่มีความฮือฮามากมีถึง 1,000 ดวงต่อชั่วโมง

นายกสมาคมดาราศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า ฝนดาวตกเกิดขึ้นเมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในบริเวณที่มีสะเก็ดดาวซึ่งเป็นเศษชิ้นเล็กๆ ที่หลุดมาจากดาวหางและทิ้งไว้ตามทางโคจร โดยเรียกแนวของสะเก็ดดาวเหล่านี้ว่า ธารสะเก็ดดาว สำหรับฝนดาวตกสิงโต เกิดจากดาวหางเทมเพล-ทัลเทิล ซึ่งมีธารสะเก็ดดาวอยู่หลายสาย โดยปีนี้คาดว่าจะเห็นฝนดาวตกสิงโตในอัตราที่มาก เพราะโลกจะเข้าไปใกล้ธารสะเก็ดดาวในอดีต 2 สายธาร คือ ช่วงปี ค.ศ.1466 และ ค.ศ.1533 ซึ่งฝนดาวตกสิงโต จะเริ่มขึ้นประมาณวันที่ 10 พ.ย.นี้ แต่มีอัตราฝนดาวตกค่อนข้างต่ำ และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงที่สุดประมาณวันที่ 17-19 พ.ย.นี้ และสิ้นสุดลงในวันที่ 21 พ.ย.นี้

สำหรับช่วงที่มีดาวตกถี่มากที่สุดนั้น น.ส.ประพีร์ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทย สามารถมองเห็นได้ทั่วประเทศ แต่มีเงื่อนไขคือ ท้องฟ้าจะต้องใส เห็นดวงดาวชัดเจน ปีนี้ฝนดาวตกสิงโต เกิดในช่วงคืนเดือนมืด โอกาสเห็นก็จะมีสูงขึ้น วิธีดูที่ดีที่สุดคือ การนอนหงายมองไปที่กลางฟ้าเหนือศีรษะ ดาวตกจะพุ่งมากจากทุกทิศทาง จึงควรกวาดตามองให้ทั่วฟ้า ฝนดาวตกจะมีลักษณะแสงสว่างวาบเคลื่อนที่ผ่านอย่างรวดเร็ว มีสีสันสวยงาม เช่น สีน้ำเงินเขียว สีส้มเหลือง เพราะมีแร่ธาตุประกอบต่างๆกัน เช่น แมกเนเซียม ทองแดง เหล็ก จึงให้สีที่แตกต่างกัน ปลายของดาวตกซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ จะทิ้งควันจางๆ เหมือนไอพ่น หากอยู่ในที่เงียบสงบ บางครั้งอาจได้ยินเสียงด้วย เรียกว่า โซนิกบูม และหากเป็นดาวตกขนาดใหญ่เมื่อเสียดสีกับบรรยากาศจะเห็นเป็นลูกไฟ การเกิดปรากฏการณ์ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อหรือโหราศาสตร์



ที่มา ไทยรัฐออนไลน์