จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดหนึ่งของภาคอีสานที่มีความเป็นมาช้านาน แม้จะอยู่ในภาคอีสานที่มีลักษณะแห้งแล้งกันดาร ผู้คน อดอยาก ยากจนเป็นส่วนมาก แต่ชาวกาฬสินธุ์ก็ได้ชื่อว่าเป็นชาว "ดินดำน้ำซุ่ม"เนื่องจากส่วนหนึ่งของจังหวัดมีแม่น้ำชีไหลผ่าน ส่วนหนึ่งมีลำน้ำปาว เป็นเหมือนสายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวกาฬสินธุ์ ให้ได้หากินกันอย่างอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ของกาฬสินธุ์มีลักษณะแปลกและพิเศษกว่าหลาย ๆ จังหวัดคือมีทั้งที่ราบส่วนบนจะมีภูเขา เชิงเขา ชายเขา มีส่วนหนึ่งยังคงเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ สามารถหาของป่ามารับประทานและจำหน่ายเพิ่มพูนรายได้เป็นอย่างดีส่วนที่ราบเชิงเขาก็ใช้ทำสวนทำไร่มีรายได้จากส่วนนี้ได้เป็นอย่างมาก อีกส่วนหนึ่งเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำชี แม่น้ำปาวไหลผ่านตลอดปีประชาชนสามารถทำนาได้ปีละสองหน ถ้าไม่ทำนาปรัง พวกเขาก็จะทำการเกษตรอย่างอื่น เช่นปลุกถั่วลิสง แตงโม ข้าวโพด เป็นต้น ดังนั้นชาวกาฬสินธุ์จึงมีลักษณะ ขึ้นภูทำไร่ลงใต้ทำนา ถ้าคนหนุ่มสาวไม่หลงแสงสีเมืองกรุงพวกเขาจะไม่มีวันตกงาน
จังหวัดกาฬสินธุ์ มีประวัติและความเป็นมาดังนี้ บริเวณที่ตั้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ปัจจุบันนี้สันนิษฐานวว่าเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของชาติละว้าหรือขอม ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อกษัตริย์พม่าได้แผ่อำนาจมาบริเวณนี้และกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยทำให้เมืองนี้ร้างไปเป็นเวลานาน จนถึงสมัยกรุงธนบุรี ประมาณปี พ.ศ.๒๓๒๐ เจ้าโสมพะมิตรเกิดขัดใจกับพระเจ้าศิริบุญสาร เจ้าผู้ครองนคร เวียงจันทน์ จึงอพยพไพร่พลมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่หนองหาน ธาตุเชิงชุม (จังหวัดสกลนครปัจจุบัน) ต่อมาอพยพมาตั้งอยู่ที่เมืองพรรณานิคม(อำเภอพรรณานิคมปัจจุบัน)และในที่สุดก็อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ที่บริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ปัจจุบันนี้ ครั้งแรกเจ้าโสมพะมิตรตั้งตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่ใคร อยู่มาได้สิบปีเศษ ประมาณ พ.ศ.๒๓๓๔ เจ้าเมืองร้อยเอ็ดจึงนำเจ้าโสมพะมิตรไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขอเป็นเมืองขึ้น และขอพระราชทานชื่อเมือง ได้รับพระราชทานนามว่า "เมืองกาฬสินธุ์" และได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาชัยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนแรก ฯ
คำขวัญประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ : "ฟ้าแดดสูงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมภูไท ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี "