กำลังแสดงผล 1 ถึง 4 จากทั้งหมด 4

หัวข้อ: ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน (สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถร)

  1. #1
    หนุ่ม เกินร้อย
    Guest

    เรื่องฮิตน่าอ่าน ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน (สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถร)

    ..........พระภิกษุ ฝ่ายที่มุ่งศึกษาธรรม โดยการกระทำ หรือลงมือปฏิบัติ และพำนักอยู่ ตามป่าเขา ที่สงบ สงัด สะดวกต่อการปฏิบัติ จึงเรียกว่า พระฝ่ายอรัญวาสี พระธุดงคกรรมฐาน หรือ พระป่า
    ..........พระภิกษุ ที่ได้รับการยกย่องนับถือว่า เป็นพระบุพพาจารย์ใหญ่ แห่งกองทัพธรรม พระกรรมฐานในประเทศไทย ได้แก่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้ได้บำเพ็ญความเพียร ในขั้นเอกอุ จนบรรลุถึงธรรมชั้นสูงสุด
    .......... พระป่า หรือพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีต้นเค้าดั้งเดิม ประมาณว่า เริ่มแต่ พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
    .......... สำหรับพระเถระผู้มีบทบาท ในการสร้างหลักปักธงชัย พระกรรมฐาน ในแผ่นดินที่ราบสูง แดนอีสานได้แก่
    ..........ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ
    ..........หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ อุบลราชธานี
    .......... และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถร ซึ่งกาลต่อมา ได้ให้การอบรม สั่งสมบารมีธรรม แก่พระภิกษุสามเณร จนมีศิษย์ เป็นพระธุดงคกรรมฐาน ผู้ทรงคุณธรรม สัมมาปฏิบัติ ออกจาริกธุดงค เผยแผ่ธรรมนำศรัทธาสาธุชน ได้ผลดี เป็นอันมาก ต่อกิจการงานพระศาสนาสร้างสำนักป่า วัดวา ศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ตามแบบที่เรียกว่า "วัดป่า" ที่เน้นธรรมชาติ ความเรียบง่าย สะอาด สงบ สว่างด้วยแสงธรรม
    ..........พระสายนี้ ชาวบ้านศรัทธาเรียกว่า พระธุดงคกรรมฐานหรือพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งดำเนินปฏิปทา ตามแนวพ่อแม่ครูอาจารย์
    ..........พระป่าพระธุดงคกรรมฐาน จะปฏิบัติต่อครูอาจารย์ ที่เรียกท่าน ด้วยความเคารพอย่างสูงว่า
    "พ่อแม่ครูอาจารย์" ด้วยความเคารพนับถือ ดุจบิดรมารดาแลครูอาจารย์
    .......... ผู้เป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ ก็จะปกครอง อบรมดูแล ลูกศิษย์ ด้วยความเมตตาดุจพ่อแม่ แลครูอาจารย์ เช่นกัน
    ..........ประมาณปี พ.ศ.2459 เป็นต้นมา พระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เริ่มทยอย เพิ่มจำนวนมากขึ้น ขยายงานการเผยแผ่ ในภาคอีสาน โดยเฉพาะ ทางจังหวัดอุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร อุบลราชธานี นครราชสีมา ขอนแก่น และตามภูมิภาคต่าง ๆ ที่รังสีธรรม แห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้แผ่ไปถึง
    ..........พระป่าทุกองค์ จะต้องรักษาศีล อย่างบริสุทธิ์ ในกระบวนไตรสิกขา ศีลสมาธิปัญญานั้น ศีล เป็นข้อที่ง่ายที่สุดและเท่ากับ เป็นเครื่องทดสอบ สมณะเพศ เพราะการรักษาศีล ต้องการศรัทธา ความตั้งใจ ถ้าผู้ใดรักษาศีล ให้บริสุทธิ์ไม่ได้ ก็อย่าหวังเลย ที่จะก้าวหน้า ในทางธรรมชั้นสูง
    ..........ศีล เป็นฐานที่ตั้งแห่งสมาธิ ทำให้บังเกิดสมาธิ และตั้งมั่น ศีลจะต้องดีก่อน สมาธิจึงจะดีได้ นอกจากนั้น ในการจาริกธุดงค แสวงหา ที่สัปปายะ สำหรับอบรมจิต ต้องฟันฝ่าอุปสรรค นานาประการ พระป่าจึงเชื่อว่าศีลที่บริสุทธิ์ จะเป็นเกราะป้องกัน ที่ดีที่สุด
    .......... พระธุดงคกรรมฐาน หรือพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แต่ละรูป ตามประวัติได้ เคยบุกป่าฝ่าดงไปตามป่าเขา เผชิญกับสิงสาราสัตว์ ที่ดุร้าย ผจญกับภัยธรรมชาติ และมนุษย์ที่ตั้งตนเป็นศัตรู
    แต่ด้วยศีลที่บริสุทธิ์ของท่าน ได้เป็นเกราะแก้ว คุ้มกันพิทักษ์ รักษาพระคุณเจ้า ประสพสวัสดิภาพ ด้วยดีด้วยศีล ด้วยบุญกุศล ..........พระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นสุปฏิปันโน ที่มีปฏิปทา คือข้อวัตรข้อปฏิบัติต่างๆ ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา เป็นปฏิปทา ที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะเป็นปฏิปทา ที่ทวนกระแสโลก ทั้งทางกาย วาจา และใจ
    ซึ่งหลักปฏิปทานี้ คือ ธุดงควัตร 13 ขันธวัตร 14 เป็นเครื่องบำเพ็ญทางกาย และมี กรรมฐาน 40 เป็นเครื่องบำเพ็ญทางใจ สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไป ในอริยาบทต่าง ๆ ของความเพียร ทั้งนี้เพราะธุดงควัตร 13 และวัตรต่าง ๆ ตลอดจนกรรมฐานทั้งมวล ล้วนเป็นธรรม เครื่องอบรมบ่มนิสัย ที่ติดกายมา ตั้งแต่ครั้งเป็นฆราวาส และเป็นธรรม ที่จะทำลายล้างข้าศึกภายในใจ คือกิเลสตัณหา ให้หมดสิ้นไป
    ..........การถือธุดงค์ ของพระป่า พระธุดงคกรรมฐาน เป็นเจตนา ที่แสดงออก เพื่อประหารกิเลส ของตน เกี่ยวเรื่อง เครื่องนุ่งห่ม อาหารการขบฉัน ที่อยู่อาศัย และความเพียร ด้วยข้อปฏิบัติ "ธุดงควัตร"
    .......... ธุดงควัตร 13 ประกอบด้วย
    ..........1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
    ..........2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร
    ..........3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร

    ..........4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร
    ..........5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร
    ..........6. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือฉันในบาตรเป็นวัตร

    ..........7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร
    ..........8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
    ..........9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร
    ..........10. ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้งเป็นวัตร
    ..........11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร
    ..........12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร
    ..........13. ถือเนสัชชิกังคธุดงค์ คือการไม่นอนเป็นวัตร
    .......... การถือธุดงคบำเพ็ญได้ด้วยการสมาทานคือด้วยอฐิษฐานใจ หรือแม้นด้วยการเปล่งวาจา
    ..........คุณประโยชน์ของธุดงควัตร คือ การยังชีพโดยบริสุทธิ์ มีผลเป็นสุข เป็นของไม่มีโทษ บำบัดความทุกข์ของผู้อื่นเสีย เป็นของไม่มีภัย เป็นของไม่เบียดเบียน มีแต่เจริญฝ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุให้เสื่อม ไม่มีมารยาหลอกลวงไม่ขุ่นมัว เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเหตุให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนา กำจัดเสียซึ่งศัสตราทั้งปวง มีประโยชน์ในทางสำรวมเป็นเครื่องสมควรแก่สมณะ ทำให้สงบยิ่ง เป็นเหตุให้หลุดพ้น เป็นเหตุให้สิ้นราคะ เป็นการระงับเสียซึ่งโทสะทำโมหะให้ พินาศไปเป็นการกำจัดเสีย ซึ่งมานะ เป็นการตัดเสีย ซึ่งวิตกชั่ว ทำให้ข้ามความสงสัยได้ กำจัดเสียซึ่งความเกียจคร้าน กำจัดเสีย ซึ่งความไม่ยินดีในธรรม เป็นเหตุให้มีความอดทน เป็นของชั่งไม่ได้เป็นของหาประมาณมิได้ และทำให้สิ้นทุกข์ทั้งปวง
    ..........อานิสงส์ การปฏิบัติธุดงควัตร ทำให้พระป่าที่จาริกไป ตามป่าเขา พำนักตามโคนไม้ เพิงผาและ ตามถ้ำเป็นอยู่อย่างสมถะ เสียสละ ลดละอุปโภคบริโภค ทำให้จิตของท่าน เป็นอิสระพ้นจาก พันธนาการเครื่องร้อยรัดขัดขวาง สู่ความเบาสบาย สงบเอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา บำเพ็ญความเพียร การท่องไป ในป่าที่ดารดาษ ไปด้วยสิงสาราสัตว์ ภัยอันตราย เป็นการฝึกจิต หลอมใจ ให้เข้มแข็ง มีสติระลึกรู้ มีบทบริกรรม"พุทโธ" อยู่กับสายลมหายใจ
    ..........การเจริญสติ ก่อให้เกิดสมาธิ และจิตตานุภาพ พระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตจะผ่านการประหารกิเลส ด้วยธุดงควัตร จิตของพระคุณเจ้า จึงมั่นคง เข้มแข็งด้วย ศีลสมาธิปัญญาศรัทธาความเพียร ..........พระป่า สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้มอบกายถวายชีวิต ในพระพุทธศาสนา ดำเนิน เดินตามทางรอยธรรม พ่อแม่ครูอาจารย์ ธุดงคจาริกไป ตามวนาป่าเขา เพื่อผลานิสงส์ ในการเพิ่มพูน บารมีธรรมแห่งพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อมรรคผล นิพพาน เพื่อสงเคราะห์โลก แลสรรพสัตว์ เป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนา เป็นขุนพลกล้า แห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐาน ที่มีคุณูปการ อเนกอนันต์ ตราบนิรันดร์สมัย
    สรุปพระภิกษุฝ่ายอรัญวาส
    ในพระพุทธศาสนา พระภิกษุ แบ่งออกได้เป็นสองฝ่าย คือ
    .......... • ฝ่ายปริยัติ ได้แก่ พระภิกษุ ที่มุ่งศึกษาศาสนธรรม จากตำราจากคัมภีร์ ส่วนมาก พำนักอยู่ที่วัด ในเมือง หรือชุมชน จึงเรียกว่า พระฝ่ายคามวาสี หรือพระบ้าน
    .......... • พระภิกษุอีกฝ่ายหนึ่ง มุ่งศึกษาโดยการกระทำ หรือลงมือปฏิบัติ และพำนักอยู่ ตามป่าตามเขา ที่สงบ สงัด สะดวกต่อการปฏิบัติ จึงเรียกว่า พระฝ่ายอรัญวาสี หรือ พระป่า หรือ พระธุดงคกรรมฐาน
    ..........พระภิกษุ ได้รับการยกย่อง นับถือว่า เป็นพระบุพพาจารย์ใหญ่ แห่ง กองทัพธรรมพระธุดงคกรรมฐาน ในประเทศไทย ได้แก่ท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตตตมหาเถร ผู้ได้บำเพ็ญความเพียรในขั้นเอกอุจนบรรลุ ถึงธรรมชั้นสูงสุด ดังมีหลักฐานปรากฎ คืออัฐิของท่านกลายเป็น พระธาตุดังที่มีบรรยาไว้ว่าเป็นลักษณะของพระอรหันตสาวก ซึ่ง ปัจจุบันได้นำมาประดิษฐาน ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานที่มีลูกศิษย์จำนวนมาก อาทิ
    .......... • หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี
    .......... • หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
    .......... • หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
    .......... • หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่
    .......... • หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
    .......... • หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่
    .......... • หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
    .......... • หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ. จันทบุรี
    .......... • หลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร วัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ เป็นต้น
    ..........พระคุณเจ้า ทั้งหลายนี้ ได้สืบต่อ การปฏิบัติ ข้อวัตร ตามแนวทาง ของท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในกาลต่อมา เมื่อศิษย์ในสาย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลายองค์ ถึงแก่มรณภาพ อัฐิของท่าน ก็ได้ แปรสภาพ ไปในทำนองเดียวกับ ของพระอาจารย์มั่น อาทิ อัฐิธาตุ ของหลวงปู่ขาว อนาลโย ของท่าน พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ประกอบกับ ความเคร่งครัด ในวินัย และศีลาจารวัติ ได้เสริมสร้าง ศรัทธา ของ ประชาชน ในการปฏิบัติกรรมฐาน เพิ่มมากขึ้น และเป็นเหตุแห่ง การฟื้นฟู วัดป่า และชักจูงให้ มีผู้บวช เป็นพระป่า หรือ พระสายปฏิบัติกรรมฐาน เพิ่มมากขึ้น เช่นกัน
    การเริ่มต้นชีวิต แบบพระป่า อาจทำได้ สองวิธี
    ..........• วิธีที่หนึ่ง ก็คือ บวชเป็น พระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดใดวัดหนึ่ง ให้เรียบร้อย เสียก่อน จากนั้น จึงไปขอพำนัก ในวัดป่า ถ้าประธานสงฆ์ อาจารย์ใหญ่ หรือสมภาร อนุญาต ก็จะได้เข้าพำนัก โดยจะต้อง ปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผน ของวัดป่านั้น ๆ แต่โดยมาก มักไปขออนุญาต ก่อนล่วงหน้า ว่าเมื่อบวชแล้ว จะมาขอพำนักด้วย
    ..........• วิธีที่สอง ที่เริ่มเข้ามาเป็นพระป่า คือ เข้าไปปาวารณาตัว เป็นอุบาสก ถือศีลแปด และอาศัยอยู่ ในวัด คือเป็น "ผ้าขาว" หรือ "ปะขาว" ก่อน เพื่อทำหน้าที่ เป็นลูกศิษย์พระ และฝึกการปฏิบัติ ไปด้วย โดยต้องทำหน้าที่ ให้เรียบร้อย เป็นที่พอใจ ของสมภาร หรืออาจารย์ ที่เป็นผู้ปกครอง จึงจะได้ รับอนุญาต ให้บวช วิธีนี้ เป็นการฝึกหัด ความอดทน ในการใช้ชีวิต แบบพระป่า ก่อนที่จะบวชเป็น พระป่า
    ..........สำหรับ ผู้ที่เคยเข้าไป สัมผัสวัดป่า เป็นครั้งแรก ความรู้สึก ที่กระทบจิตใจ เมื่อย่างเข้า ถึงเขต วัดป่าคือ "ความร่มรื่น" ซึ่งเกิดจาก ต้นไม้น้อย ใหญ่ ภายในวัด สิ่งกระทบใจ ประการที่สอง คือ ความสะอาด และ มีระเบียบ "ความสงบเงียบ" ไม่อึกทึก พลุกพล่าน ต้นไม้ ธรรมชาติ จะได้รับ การรักษา ให้ยืนยง คงอยู่
    ..........กุฏิเสนาสนะ ที่พำนัก ของพระป่า จะปลูกสร้าง อย่างเรียบง่าย สมถะ ด้วยวัสดุพื้น ๆ เว้นแต่ บางแห่ง ที่มีคณะศรัทธา ญาติโยม สร้างถวาย ก็อาจใช้วัสดุ หรือการก่อสร้าง ที่พิถีพิถัน แต่บางแห่ง ท่านก็ไม่ยอมให้สร้างใหญ่โต หรือพิถีพิถัน เกินไป เพราะแกรงว่า จะทำให้ พระ คุ้นกับความสบาย จน "ติดสุข" ไม่อยากออกไป เผชิญความลำบาก ในการออกเดินธุดงค์ ซึ่งเป็นภารกิจ ที่สำคัญ ของพระป่า
    ..........โดยทั่วไป ภายในกุฏิ ของพระป่า จะมีเพียงกลด พร้อมด้วยมุ้งกลด เสื่อ ปูนอน เครื่องอัฐบริขาร ผ้าห่มนอน จีวร ตะเกียง หรือเทียนไข และหนังสือ ที่หัวนอน อาจมีหิ้งพระ รูปพระอาจารย์ต่างๆ ส่วนของมีค่า อุปกรณ์ อำนวยความสะดวกสบายนั้น ท่านไม่สะสม กุฏิแต่ละหลัง ผู้พำนักอาศัย ต้องรักษา ให้สะอาด ทั้งในกุฏิ และบริเวณ ..........พวกชาวเมือง ที่ได้ไปเยือนวัดป่าครั้งแรก มักจะแปลกใจว่า นี่ท่านทำอย่างไร วัดจึงสะอาดฉะนี้ ทั้งๆ ที่ มีต้นไม้ เต็มไปหมด ทุกแห่ง ทางเดินของท่าน ก็โล่งเตียน ห้องน้ำ ก็สะอาด ศาลา ก็สะอาด คำตอบคือ พระป่า ท่านปฏิบัติ ตามพระวินัย ท่านต้องรักษา เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย และบริเวณ ให้สะอาด ทุก ๆ วัน เวลาประมาณ บ่ายสามโมง เป็นเวลา ปัดกวาดลานวัด ซึ่งปกติท่าน สมภาร หรือ ประธานสงฆ์ ก็จะลงมือกวาด ด้วย ยกเว้น ก็แต่ ผู้อาพาธ เท่านั้น งานปัดกวาดนี้ ใช้แรงมาก เพราะ ไม้กวาดหนัก และด้ามยาวกว่า จะแล้วเสร็จ ก็เหงื่อท่วมตัว ซึ่งเท่ากับ เป็นการออกกำลังกาย ไปในตัว พระป่าท่าน เดินจงกรม เดินบิณฑบาต ทุกวัน ถูศาลา ทุกวัน และกวาดวัด ทุกวัน ท่านจึงแข็งแรง และสุขภาพดี
    .......... พระพุทธศาสนา เป็นตัวอย่าง ของประชาธิปไตย ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบวช เป็นสมาชิกของวัด ก็ต้อง ผ่านการลงมติ ของคณะสงฆ์ เสียก่อน ข้าวของต่างๆ ที่มีผู้ถวายแก่วัด ย่อมเป็นของกลาง ใครจะ นำไป เป็นประโยชน์ ส่วนตัว ไม่ได้ ทุกคน มีส่วนที่จะ ได้รับประโยชน์ จากของสงฆ์ ถ้ามีการพิพาทกัน ก็ต้อง ตั้งกรรมการ พิจารณา เหล่านี้ เป็นตัวอย่าง ของประชาธิปไตย แต่เป็นแบบพุทธ คือ เป็นการสมัครใจ ไม่บังคับ ถ้าไม่พอใจ ก็ไปที่อื่นเสีย แล้วก็ยังมีคาราวะ มีอาวุโส มีบารมี มีกรรม มีวิบาก ไม่ใช่ทุกคน เท่ากันหมด อาหารที่บิณฑบาต มาได้ จะนำมารวมกันก่อน แล้วจึงแจกไป ให้ทั่วถึง
    ..........พระป่า ท่านมีคติ อีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ว่าวันไหน จะบิณฑบาต ได้ภัตตาหาร มากน้อย เท่าใด ต้อง ฉันแต่น้อย แต่พอดี แม้จะมีอาหาร ล้นเหลือ ก็จะไม่ฉัน จนอิ่มตื้อ เพราะ ถ้าทำเช่นนั้น จะง่วง ภาวนา ไม่ได้ นอกจาก ระวังไม่ฉันมากแล้ว พระป่า ท่านยังระวัง ไม่ให้ติด รสอาหาร ด้วย โดยการหลีกเลี่ยง อาหารที่อร่อย ทั้งนี้ เพราะเกรงว่าจะ "ติดสุข" นั่นเอง ในเวลาฉัน ต้องพิจารณา ตามแบบ ที่พระพุทธเจ้า ทรงสอน พูดง่าย ๆ คือว่า กินเพื่ออยู่ เพื่อประทังชีวิต ประทังความหิว ท่านจึงเงียบสงบ ระหว่างฉัน ไม่สนทนาพาที อะไรกัน เพราะท่านต้อง พิจารณาอาหาร ไปด้วย
    ..........กิจวัตร ของพระป่า คือ ตื่นนอน ตั้งแต่ตีสาม หรือตีสี่ เพื่อปฏิบัติภาวนา สวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำกิจส่วนตัว แล้วเตรียมตัว ออกบิณฑบาต ครั้นรุ่งอรุณ พระป่า จากอรัญญวาสี จะออกบิณฑบาต เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบ
    .......... บรรยากาศ ยามรุ่งอรุณ กลิ่นไอธรรมชาติ ความบริสุทธิ์ ของชนบท ดวงหน้า ที่เอิบอิ่มใน บุญกุศล ของชาวบ้าน เป็นภาพชีวิต อันประทับใจ ผู้ได้สัมผัส พระป่าจะต้อง ออกบิณฑบาต ทุกวัน นอกจาก อาพาธ หรือเดินไม่ได้ ตามปกติ วัดป่า ต้องอยู่ ห่างหมู่บ้าน เพื่อให้พ้นจาก การรบกวน คน สัตว์ และ เสียงอึกทึก แต่ต้องไม่ไกล เกินไป จนเดินไปบิณฑบาต ไม่ไหว โดยมาก เว้นระยะห่าง จากหมู่บ้าน ประมาณ 2-3 กิโลเมตร ซึ่งพอจะเดินไปกลับ ได้ภายใน หนึ่งชั่วโมง
    ..........การอบรม พระป่า ตามวัดต่างๆ ในสายท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จะอาศัยหลัก อย่างเดียวกัน แต่การปฏิบัติ แตกต่างกันไป ตามความเห็น และความถนัด ของท่านอาจารย์ ทุกวัด มีการเน้นเรื่อง ศีล พระป่า ทุกองค์ จะต้องรักษาศีล อย่างบริสุทธิ์
    ..........ในการะบวนไตรสิกขา ศีลเป็นข้อที่ ง่ายที่สุด และเท่ากับ เป็นเครื่องทดสอบ พระภิกษุ เพราะ การรักษาศีล ต้องการเพียง ความตั้งใจ เท่านั้น ถ้าผู้ใด รักษาศีล ให้บริสุทธิ์ ไม่ได้ ผู้นั้น ก็ไม่มีหวัง ที่จะก้าวหน้า ไปถึงธรรมชั้นสูง ศีลเป็นเครื่องรองรับ หรือเป็นฐาน ของสมาธิ ทำให้สมาธิ เกิดง่าย และตั้งอยู่ โดยมั่นคง ศีลต้องดีก่อน สมาธิ จึงจะดีได้
    ..........นอกจากนั้น ในการออกธุดงค์ แสวงหา ที่สัปปายะ สำหรับอบรมจิต จะต้องฝ่าอันตราย ต่าง ๆ นานา พระธุดงคกรรมฐาน หรือพระป่า ท่านมีความเชื่อมั่นว่า ศีลที่บริสุทธิ์ จะเป็นเกราะกำบัง ที่ดีที่สุด พระอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ แต่ละองค์ มีประวัติ บุกป่าฝ่าดง ไปในแดนสัตว์ร้าย เช่น เสือ ช้าง และงู ทนแดด ทนฝน ทนลมหนาว ต้องผจญกับ มนุษย์ ที่ถูกอวิชชาครอบงำ…. แต่เพราะท่าน รักษาศีลบริสุทธิ์ สัตว์ร้าย หรือคนร้าย ตลอดจน สภาวอากาศ ที่แปรปรวน ก็ไม่อาจ ทำอันตรายท่านได้ เพราะฉะนั้น พระป่า ที่จะออกธุดงค์ จะต้องแน่ใจว่า ศีลของท่าน บริสุทธิ์จริง ๆ เพื่อให้มั่นใจ ในข้อนี้ และแน่ใจว่า จะไม่พลั้งเผลอ ท่านจึงรักษาศีล ให้บริสุทธิ์อยู่ เสมอ ..........ในวัดป่า จะมีการไหว้พระ สวดมนต์ร่วมกัน การสวดมนต์ มีผลให้ใจสงบลง เป็นการเตรียม สำหรับ การภาวนาต่อไป ตามปกติ เมื่อฉันเสร็จ จัดการชำระล้าง ทำความสะอาด บาตร เรียบร้อยแล้ว พระป่า ท่านจะกลับกุฏิ มาลงมือภาวนา ส่วนมาก มักจะเริ่มด้วยการ เดินจงกรม เพื่อแก้อาการง่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้น ภายหลังฉันอาหาร ใกล้ ๆ กับกุฏิ ทุกหลัง จะมีลานเดินจงกรม กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 10-15 เมตร ระหว่างเดิน อาจบริกรรมภาวนา หรือพิจารณา เกี่ยวกับสังขาร ร่างกาย จุดประสงค์ เพื่อให้เกิดความสงบ เกิดสมาธิ หรือปัญญา เมื่อหยุดเดิน ก็เข้าที่นั่งภาวนา พอเมื่อย หรือ ง่วง ก็ออกมาเดินอีก สลับกันไป ในการภาวนา พระป่า สายท่าน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จะใช้บริกรรม "พุทโธ" รวมกับอานาปานสติ เช่น หายใจเข้านึก พุท หายใจออกนึก โธ หายใจเข้านึก พุท หายใจออกนึก โธ ซึ่งวิธีเหล่านี้ ใช้กันโดยทั่วๆ ไป
    ..........ครูบาอาจารย์ จะคอยติดตาม การดำเนินของการปฏิบัติ อยู่เสมอ โดยการซักถาม ปรากฎการณ์ ทางจิต ของศิษย์ จึงสามารถ ดัดแปลงแก้ไข การปฏิบัติ ให้เหมาะสม กับภาวะ ของแต่ละคน ช่วยให้ได้ ผลดีขึ้น ไปเรื่อย ๆ ถ้าหากมีอะไร แทรกแซงขึ้นมา เช่น นิมิตเห็น ภูตผีปีศาจ หรือยักษ์ เห็นมาร อาจารย์ ก็จะชี้แจง ให้ทราบความหมาย ของนิมิตนั้น ๆ และบอกวิธี ที่จะป้องกัน ไม่ให้เกิดขึ้น ต่อไป หลักสำคัญ ประการหนึ่ง ซึ่งท่านอาจารย์ ในสายของท่าน พระอาจารย์มั่น เน้นอยู่เสมอ คือ "ธรรมะทั้งหลาย อยู่ภายในกาย ของเราเอง"

    .......... ในการพิจารณา ให้ส่งจิต เข้าภายในกาย ไม่ให้ส่งออก ไปภายนอก เพราะนอกจาก จะไม่ได้ ประโยชน์แล้ว ยังจะเกิดการล่องลอย ของจิตอีกด้วย การแสดงธรรมของ พระป่า ไม่มีพิธีรีตองอะไร มากนัก แต่จะเน้นที่ เนื้อหาสาระ ใช้ภาษา สำนวน ที่ฟังง่าย เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา
    .......... การอบรมจิต แนะนำ การเจริญภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน เป็นภาระกิจ ที่ครูอาจารย์ จะต้องให้การ อบรม แนะนำแก่ศิษย์ ทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และชาวบ้านทั่วไป .......... ลปฏิปทาศีลาจารวัตร ของครูบาอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และสานุศิษย์ของท่าน อีกหลายองค์ เป็นประทีปนำทาง ให้พระป่า มีความวิริยะ อุตสาหะ ในการบำเพ็ญ ความเพียร เพราะเห็นแสงสว่าง ข้างหน้า ขอเพียงให้เดินโดยถูกทาง ถูกวิธี ไม่ย้อท้อ ต่อความยากแค้น และอูปสรรคทั้งมวล


    ..........พระป่า พระธุดงค์กรรมฐาน เป็นผู้ชูธงชัย แห่งกองทัพธรรม ของพระพุทธองค์ เป็นผู้ วีรอาจหาญ เป็นนักรบ ที่จะสู้ กับกิเลสตันหา ความดิ้นรน ทะยานอยาก เพื่อมุ่งสู่จุดหมาย คือ ...
    มรรคผล นิพพาน ตามรอยพระยุคลบาท พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้. ผู้ตื่น. ผู้เบิกบาน
    ธุจ้า

  2. #2
    หนุ่ม เกินร้อย
    Guest

  3. #3
    หนุ่ม เกินร้อย
    Guest


    ฐาตุ จีรํ สตํ ธมฺโม

    ขอพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า
    จงดำรงอยู่สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

  4. #4
    หนุ่ม เกินร้อย
    Guest

    เรื่องฮิตน่าอ่าน

    ธุจ้า ภิกษุผู้มุ่งหวังในความเป็นสมณะ

    ปรารถนาจะเป็นอยู่อย่างสบาย

    ไม่ควรดูหมิ่นจีวร ข้าว และน้ำ

    ของสงฆ์

    พึงเสพที่นอนที่นั่งตามมีตามได้

    เหมือนงูและหนูขุดรูอยู่

    พึงยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้

    และพึงเจริญธรรมอย่างเอก

    คือ " ความไม่ประมาท "
    ธุจ้า
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หนุ่ม เกินร้อย; 17-11-2009 at 15:25.

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •