สร้างพระพุทธรูปขึ้นบูชา



สร้างพระพุทธรูปขึ้นบูชาแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน(ตาย)เสียนานแล้ว ยังเหลืออยู่แต่พระธรรมคำสอนอยู่ในพระคัมภีร์


บูชาพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้นด้วยสักการะวรามิส คือ ของหอม ดอกไม้ ธูป เทียน


ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเปล่งวาจาว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ดังนี้


การทำอย่างนี้น่าจะเห็นว่าเป็นเพียงพิธีกรรม แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ถือพระพุทธศาสนา เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น ยังไม่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยตรงแท้ เพราะยังเข้าใจผิดๆ อยู่ว่ารูปร่างกายเป็นพระพุทธเจ้า ท่านดับขันธ์ปรินิพพาน(ตาย)เสียนานแล้ว


สร้างพระพุทธรูปขึ้นไว้แทน การทำอย่างนี้แสดงให้เห็นว่ายังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรมอยู่ในคัมภีร์ก็ยังไม่รู้จักพระธรรม


คนไม่รู้จักพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงช่วยเหลืออะไรไม่ได้ แต่ถ้ารู้จักพระองค์ รับรองว่าทรงช่วยได้แน่ๆ


ครั้งพุทธสมัย เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ วักกลิ
ท่านผู้นี้หมั่นตามเสด็จสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จไหนติดต้อยห้อยตามด้วยเสมอ ไม่ว่างเว้น กระหยิ่มย่องพองตัวว่าตนเป็นคนใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ถึงพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงเห็นโอกาสก็ทรงปล่อยไปก่อน เมื่อถึงคราวที่พระองค์จะทรงระเบิดความในใจของวักกลิภิกษุ


พระองค์ตรัสว่า "วักกลิ เธอรู้จักฉันแล้วหรือยัง"
วักกลิภิกษุทูลตอบว่า "รู้จักแล้วพระเจ้าคะ"
อยู่ที่ไหน ...เลยชี้ลงที่ร่างกายพระพุทธเจ้า


" เธอสำคัญมั่นหมายเอารูปปฏิกูลเปื่อยเน่าว่าเป็นเรา (พระพุทธเจ้า) เที่ยวติดต้อยห้อยตามรูปปฏิกูลเปื่อยเน่านั้น กระหยิ่มย่องพองตัวว่าอยู่กับเรา ใกล้เรา ถึงเรา วักกลิ คนตามืดมิดเช่นเธอ ไม่ต้องพูดถึงการเดินตามหลัง ต่อให้จับดึงชายจีวรซ้ำเข้าด้วยไปด้วยกัน
ก็ไม่เห็นเรา ไม่รู้จักเรา ไม่ถึงเรา ไม่ใกล้เรา ห่างไกลกันอย่างฟ้ากับดิน ทางตั้งแต่นี้ไปถึงเขาจักรวาลก็นับว่ายังใกล้ แต่เธอกับเรานั้น ห่างไกลกันยิ่งกว่านั้น เป็นแสนไกลล้านไกล"


"วักกลิ เมื่อต้องการจะใกล้เรา เห็นเรา ถึงเรา เราจะบอกทางให้"
แล้วพระองค์ตรัสว่า

โย ธมฺมํ ปสฺสติ โสมํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราดังนี้


พระพุทธพจน์นี้ชี้ให้เห็นว่า ธรรมกับพระพุทธเจ้าเป็นอย่างเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้

ผู้ใดเห็นธรรมก็เห็นพระพุทธเจ้า พบพระพุทธเจ้า ถึงพระพุทธเจ้า


ธรรมในที่นี้ หมายถึง ธรรมชั้นไหนสร้างพระพุทธรูปขึ้นบูชา ต้องหมายถึง ธรรมชั้นสูงสุด คือ สันตินิพพาน วิมุตติธรรมจิตบริสุทธิ์ถึงขีดสุดเป็นอรหัง


เอาตามที่พระองค์ตรัสบอกคำถามของอุปกาชีวก ในระหว่างทางเมื่อเสด็จออกจากโพธิสถาน อุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ไปพระนครพาราณสีแคว้นกาสีว่า


สพฺพาภิภู สพฺพวิทู หมสฺสมิ สพฺเพสุ ธมฺเมสุ อนูปลิตฺโต
สพฺพญฺชโห ตณฺหกฺขโย วิมุตฺโต สยํ อภิญฺญาย กมุทฺเสยฺยํ ดังนี้

แปลว่า
เราอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง คือ อยู่เหนือโลกนอกโลก
เรารู้แจ้งจบเรื่องของโลกหมดสิ้นแล้ว เพราะอยู่เหนืออยู่นอกโลก
ในโลกไม่มีอะไรดี เป็นปีกเสีย ปีกชั่ว
ทั้งตัณหาความต้องการอะไรๆในโลกของเราหมดสิ้นแล้ว
ฉันรู้โดยตนเอง ไม่มีใครเป็นครูบอกสอน


คำว่า สพฺพาภิภู เหนือสิ่งทั้งปวงนี้ นักแปลโดยมากว่า ครอบงำสิ่งทั้งปวง อยู่ต่ำครอบงำใครอะไรไม่ได้ ต้องอยู่เหนือๆได้แก่ โลกุตตรธรรม สันตินิพพานอสังขตธรรมธาตุ


สิ่งทั้งปวงนั้น ได้แก่ โลกียธรรมโลกสันนิวาส เพราะโลกเป็นสังขารเหตุปรุงแต่งขึ้น เป็นสัตว์บุคคล เป็นวัตถุนานาประการทั้งนั้น เป็นพหูพจน์มีมากหลาย


ส่วนโลกุตตรธรรม สันตินิพพานนั้นเป็นเอกภาพเอกพจน์ ๑ ไม่มี ๒ มีแต่ดับสงบอย่างเดียว


โลกเปรียบเหมือนลูกคลื่นซึ่งมีมาก
สันตินิพพาน เปรียบเหมือนเส้นระดับน้ำ เป็นเอกภาพ มี ๑ เท่านั้น


พระองค์ตรัสว่าเราอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง ก็หมายความว่า พระองค์เป็นโลกุตตรธรรม สันตินิพพาน อสังขตธรรมธาตุ เป็นอมตธรรม คือ ธรรมที่ไม่รู้จักตาย เวลานี้พระพุทธเจ้าก็ยังอยู่ ไม่ตาย อยู่เหนือโลก


คำว่า สพฺพวิทู รู้แจ้งจบสิ่งทั้งปวงนั้น หมายความว่า รู้แจ้งจบสิ่งต่างๆบรรดามีในโลก พร้อมด้วยเหตุที่ปรุงให้มีให้เป็นขึ้น ไม่มีอะไรเที่ยงถาวรอยู่ได้ ต้องสลายไปหมด

สพฺพวิทู ตรงกับคำว่า โลกฺวิทู รู้แจ้งเรื่องของโลกหมด เป็นบทพุทธคุณในพวกพุทธคุณ


สพฺเพสุ ธมฺเมสุ อนูปลิตฺโต ไม่ติดในธรรมทั้งหลายหมดทุกประการแล้ว ชี้ให้เห็นว่าหมดอุปทานไม่ยึดถืออะไรๆแล้ว แม้แต่บุญและบาป


สพฺพญฺชโห ตณฺหกฺขโย สลัดทิ้งหมดไม่อยากได้อะไรๆแล้ว


วิมุตโต หลุดพ้นแล้ว คือ หลุดพ้นจากอำนาจแห่งสังสารวัฏฏะ ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก ดังนี้


พระพุทธเจ้า ก็หมายถึง จิตของพระมหาบุรุษรัตน์สิทธัตถะบริสุทธิ์ถึงขีดสุดเป็นอรหัง เข้าถึงก่อน


พระสงฆ์พุทธสาวก ก็หมายถึง จิตบริสุทธิ์ถึงขีดสุดเป็นอรหังเหมือนกัน แต่เข้าถึงทีหลังเท่านั้น


จิตที่บริสุทธิ์นั้นเป็นพระธรรม คือ สันตินิพพาน


พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แยกออกจากกันไม่ได้ ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสกับวักกลิภิกษุว่า โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ดังนี้


ธรรม คือจิตบริสุทธิ์ดังว่าแล้ว ต้องปฏิบัติให้เกิดขึ้นในจิตของตนเองโดยอำนาจแห่งอริยมรรค เมื่อได้เห็นความบริสุทธิ์แห่งจิตของตนเองนั้นแหละ จัดว่าได้พบเห็นพระพุทธเจ้า รู้จักพระพุทธเจ้า ถึงพระพุทธเจ้าแล้ว


ความบริสุทธิ์แห่งจิตนั้นจัดไว้เป็น ๔ ชั้น
ชั้นที่ ๑ เรียกว่าพระโสดา
ชั้นที่ ๒ เรียกว่าพระสกทาคา
ชั้นที่ ๓ เรียกว่าพระอนาคา
ชั้นที่ ๔ เรียกว่าพระอรหันต์จิตบริสุทธิ์ถึงขีดสุดพ้นโดยสิ้นเชิง


พระวักกลิภิกษุ เมื่อรู้สึกตื่นตัวด้วยพระวาจาที่ตรัสนั้น ภายหลังได้พยายามปฏิบัติตนจนบรรลุมรรคผล จิตบริสุทธิ์ถึงขีดสุด เป็นพระอรหันต์หรือสันตินิพพาน ได้เข้าถึงพระพุทธเจ้า รวมกันอยู่กับพระพุทธเจ้าถาวรมั่นคง


นิพพานธรรม เป็นพระพุทธเจ้าๆ เป็นนิพพาน
นิพพานถ้าไม่มีจิตคือผู้รู้ ก็เป็นนิพพานไม่ได้
นิพพานธรรมคือความบริสุทธิ์ของจิต อยู่กับจิต แยกออกจากกันไม่ได้


สันตินิพพานกับโลกย่อมตรงกันข้าม จิตที่เกี่ยวข้องอยู่กับอารมณ์หรือตกอยู่ในอำนาจ ๓ คือ กิเลส กรรม วิบาก ก็เป็นสัตว์โลกตกอยู่ในกองทุกข์
ส่วนจิตที่หลุดพ้นจากอารมณ์หรือพ้นจากอำนาจวัฏฏะ ๓ นั้นแล้ว ก็เป็นจิตสันตินิพพาน สงบเหมือนน้ำลงสู่เส้นระดับ พ้นจากอารมณ์และวัฏฏะ ๓ พ้นจากความเป็นสัตว์โลก


รู้จัก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ท่านช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ดังว่ามานี้ จะรู้จักท่านต้องปฏิบัติดำเนินเข้าไปหาความบริสุทธิ์แห่งจิตของตนเองจึงจักสมหวัง สร้างพระธรรมให้เกิดขึ้นในตนเอง ดีกว่าสร้างพระพุทธรูปไว้บูชา


พระเอย พระธรรม
พระผู้นำ ให้สว่าง แจ่มใส
ชนนิกร ร้อนรุ่ม ดังสุมไฟ
ได้สุขใจ สบเหมาะ เพราะพระธรรม
อย่างต่ำ คือสุจริต คิดประกอบ
ด้วยเห็นชอบ รอบรู้ อุปถัมภ์
อย่างสูง จิตวิมุตติ สุดเลิศล้ำ
ทุกข์ไม่งำ กิเลสหาย ตายหมดเอย



------- เปมงฺกโร ภิกฺขุ --------

จากหนังสือชุมนุมบทความของ
หลวงปู่เปรม (เปมงฺกโร ภิกขุ)
วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร




สร้างพระพุทธรูปขึ้นบูชา


-------------------------------