คำปฏิเสธปัดอัตตา



คำพูดเป็นฝ่ายรับ เช่น เอา ใช่ ถูก เห็น รู้ เหล่านี้ เป็นต้น
ผู้พูดต้องรู้จักสิ่งซึ่งตรงกันข้าม อันจะต้องใช้คำเป็นฝ่ายปัดปฏิเสธว่าไม่เอา ไม่ใช่ ไม่ถูก ไม่เห็น ไม่รู้


คำว่า อนตฺตา ภาษามคธ เป็นคำปัดปฏิเสธ แปลเป็นภาษาไทยว่า ไม่ใช่ตัวตน


คำนี้ พระพุทธเจ้าตรัสมีในอนัตตลักขณสูตร คือ ทรงแยกอัตตภาพร่างกายของคนออกแสดงเป็น ๕ หมวด ๕ กอง เรียกว่า ปัญจขันธ์
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วตรัสปฏิเสธด้วยคำว่า อนตฺตา ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งสามัญชนชาวโลกยึดถืออยู่ว่าเป็นอัตตาตัวตนโดยความสำคัญผิด เพราะฤทธิ์อวิชชา ไม่เห็นอัตตาอื่นนอกจากขันธ์ ๕ นั้น


แต่พระองค์ทรงเห็นอื่นนอกจากขันธ์ ๕ นั้น เป็นตัวธรรมลี้ลับอยู่ ณ ภายใน คือ วิมุตติจิต วิมุตติธรรม จึงตรัสปัดปฏิเสธขันธ์ ๕ นั้น ด้วยคำว่า อนตฺตา ไม่ใช่ตัวตนได้คือ ทรงรู้จักสิ่งที่ใช่แล้ว จึงตรัสว่า สิ่งที่ถืออยู่นั้นไม่ใช่


ทรงอธิบายขยายคำ อนตฺตา นั้นไว้ว่า
เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตาติ ดังนี้ แปลว่า
สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่เป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่เป็นอัตตาตัวตนของเรา ดังนี้


เพราะรูปขันธ์ คือ ร่างกาย ก็เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม คุมกันเข้าเรียกสรีรยนต์กลไก มีทางดักจับอารมณ์อยู่ ๕ แห่ง คือ ตาดักรูปภาพ หูดักเสียง จมูกดักกลิ่น ลิ้นดักรส ผิวหนังดักเย็นร้อนอ่อนแข็ง ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๔ นี้ ก็เป็นกิริยาจิตที่รับสัมผัสกับอารมณ์ภายนอกจากทวารนั้นๆ หาใช่ตัวตนไม่


แต่เหล่าพุทธมามกชน ผู้ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนา โดยส่วนมาก เห็นว่า พระพุทธศาสนาถือว่าไม่มีตัวตน ยึดคำว่า อนตฺตา นั้นเป็นหลักอ้าง


คำว่า ไม่มีกับไม่ใช่ หมายความคนละอย่าง

คำปัดปฏิเสธว่าไม่มี หมายถึง สิ่งที่จำนงหวังจะได้ แต่สิ่งที่ต้องการนั้นไม่มี ส่วนคำปัดปฏิเสธว่าไม่ใช่ นั้น หมายถึง สิ่งที่ยึดถืออยู่แล้ว แต่หมายผิด ยึดผิด ถือผิด เข้าใจว่าถูกเพราะฤทธิ์อวิชชา


ผู้รู้ เช่น พระพุทธจ้าตรัสว่า ไม่ใช่ ...สิ่งที่ใช่มีอยู่ แต่สิ่งที่ยึดถืออยู่นั้นไม่ใช่
อนตฺตา ไม่ได้หมายความว่า ตัวตนไม่มี ที่เข้าใจ อนตฺตา ว่าตัวตนไม่มีนั้น ควรจะพูดว่า ไม่รู้จักภาษาคน


จิตบริสุทธิ์พ้นจากอำนาจวัฏฏะ ๓ คือ กิเลส กรรม วิบาก เป็นตัวธรรม เป็นสัจจะธรรม คือ นิโรธสัจจ์ คู่กับ ทุกขสัจจ์นั้น และเป็นอัตตาตัวตน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า


อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา
ธมฺมทีปา วิหรถ ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา แปลว่า
ท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นที่เกาะกุม มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ดังนี้


ตน คือ ธรรม / ธรรม ก็คือ ตน
ธรรม คือ จิตที่บริสุทธิ์ เป็นวิมุตติจิต เป็นอมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย หรือนิพพาน ก็ได้.


และอีกเรื่องหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสมีในธัมมนิยามสูตรว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แปลว่า ธรรมทั้งหลายทั้งสิ้นไม่ใช่ตัวตน ดังนี้


ธรรมในที่นี้หมายถึงตัวเหตุ คือ กิเลสกรรมซึ่งสร้างสังขารขึ้น ได้แก่ ตัววิบาก คือ อัตตภาพร่างกายปัญจขันธ์ที่พูดแล้วข้างต้น
หมายความว่า ต้นเหตุทั้งสิ้นซึ่งก่อสร้างสังขารขึ้นนั้นไม่ใช่ตัวตน แปลว่า เราไม่ใช่ตัวต้นเหตุสร้างสังขาร กิเลสกรรมต่างหากมันสร้างขึ้น


แต่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา เข้าใจไปเสียอีกทางหนึ่งว่า ธรรมทั้งหลายทั้งสิ้นในบทว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นั้น กินตลอดถึงสันตินิพพานด้วย แปลว่า จิตบริสุทธิ์ หรือนิพพานอะไรๆ ทั้งสิ้น เป็นอนตฺตา ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น
ก็เมื่อพระนิพพานถูกปัดทิ้งเสีย แล้วจะศึกษาปฏิบัติเรื่องพระนิพพานไปทำอะไร
ไม่มีตัวตน ผลแห่งการทำดี และทำชั่ว นรก สวรรค์ นิพพาน ใครจะเป็นผู้รับ


ถ้าเป็นจริงอย่างที่เข้าใจนั้น ต้องนับว่าเป็นความรู้ที่ไม่มีสาระไร้ประโยชน์

แต่ความจริงหาเป็นอย่างที่เข้าใจนั้นไม่

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งสิ้น ความหมายมิได้กินตลอดถึงนิพพาน
หมายแค่กิเลสกรรม ซึ่งเป็นเหตุสร้างสังขารในภาคโลกียะนี้เท่านั้น


อย่างพระพุทธภาษิตว่า ตณฺหา สมฺภูโต อยํกาโย ร่างกายนี้ตัณหาสร้าง ไม่ใช่เราสร้าง


ในโลกทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความจริง เกิดขึ้นแล้วสลายหมด เท็จทั้งสิ้น เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา


ส่วนสันตินิพพาน เป็นตัวสัจจะธรรม เที่ยงตรงมั่นคงอยู่เสมอ เป็นอสังขตะ ปราศจากเหตุ ไม่นอกไปจากจิตบริสุทธิ์ถึงขีดสุด เป็นตัวธรรมที่รวมพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ เป็นอตฺตาตัวตนแท้


มีของจริงก็ต้องมีของเท็จ มีของตายก็ต้องมีของไม่ตาย มีดีต้องมีชั่ว มีตัวตนก็ต้องมีไม่ใช่ตัวตน


พระพุทธภาษิตว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนของตนเองเป็นที่พึ่งของตน
ตนในที่นี้หมายถึง จิตบริสุทธิ์
ความไม่บริสุทธิ์ไม่ใช่ตัวตนพึ่งพาอาศัยอะไรไม่ได้ โดยประการดังนี้ฯ



------- เปมงฺกโร ภิกฺขุ--------

จากหนังสือชุมนุมบทความของ
หลวงปู่เปรม (เปมงฺกโร ภิกขุ)
วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร



คำปฏิเสธปัดอัตตา