การใช้ประโยชน์จากแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา


สถานศึกษาทุกแห่ง แม้จะมีสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันแต่โดยทั่วไปแล้ว ในพื้นที่อาณาบริเวณของสถานศึกษา จะมีเสธง หอพระ ถนน สนามเด็กเล่น สนามกีฬา แหล่งน้ำ แปลงเกษตร เรือนเพาะชำ สวนป่า หรือหากสถานศึกษาใดตั้งอยู่ในชุมชนเมืองมีพื้นที่จำกัด อย่างน้อยก็จะมีพันธุ์ไม้ยืนต้นที่คอยเป็นร่มเงาให้กับนักเรียนได้วิ่งเล่นอยู่บ้าง

พื้นที่ของสถานศึกษาที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น ถือว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สถานศึกษาสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูล ข่าวสาร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย รวมทั้งผู้สอนก็สามารถสร้างสถานการณ์จากสถานที่นั้นๆ เพื่อฝึกฝนผู้เรียนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องได้ในทุกสาระการเรียนรู้

แหล่งการเรียนรู้ หมายถึง แหล่งข้อมูล ข่าวสาร ความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จากการได้คิดเองปฏิบัติเอง และสร้างความรู้ด้วยตนเอง ตามอัธยาศัยและต่อเนื่อง จนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และสุดท้ายก็จะเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้


ความสำคัญของแหล่งเรียนรู้


พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้ให้ความสำคัญของแหล่งการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ ไว้ในมาตรา 25 ดังนี้


“มาตรา 25 รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬาและนันทนาการแหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ”


สำหรับความสำคัญของแหล่งการเรียนรู้สามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
เป็นแหล่งที่รวมขององค์ความรู้อันหลากหลายพร้อมที่จะให้ผู้เรียนเข้าไปศึกษาค้นคว้า ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เป็นแหล่งเชื่อมโยงให้สถานศึกษาและชุมชนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาแก่บุตรหลานของตน

เป็นแหล่งข้อมูลที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการการเรียนรู้อย่างมีความสุข เกิดความสนุกสนาน และมีความสนใจที่จะเรียนไม่เกิดความเบื่อหน่าย

ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการได้คิดเองปฏิบัติเอง และสร้างความรู้ด้วยตนเองและสร้างความรู้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

ทำให้ผู้เรียนได้รับการปลูกฝังให้รู้และรักท้องถิ่นของตน มองเห็นคุณค่าและตระหนักถึงปัญหาในชุมชนของตน พร้อมที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต



ประเภทของแหล่งเรียนรู้


แหล่งการเรียนรู้ สามารถจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้ 4 ประเภทคือ


แหล่งการเรียนรู้ประเภทบุคคล ได้แก่ บุคคลทั่วไปที่อยู่ในชุมชนซึ่งสามารถถ่านทอดองค์ความรู้ให้กับผู้เรียนได้ เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ช่างฝีมือ พ่อค้า นักธุรกิจ พนักงานบริษัท ข้าราชการ ภิกษุสงฆ์ ศิลปิน นักกีฬา

แหล่งการเรียนรู้ประเภทสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถานที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณสถาน สถานที่ราชการ สถาบันทางศาสนา พิพิธภัณฑ์ ตลอด ร้านค้า ห้างร้าน บริษัท ธนาคาร โรงมโหรสพ โรงงานอุตสาหกรรม ห้องสมุด ถนน สะพาน เขื่อน ฝายทดน้ำ สวนสาธารณะ สนามกีฬา สนามบิน


แหล่งการเรียนรู้ประเภททรัพยากรธรรมชาติ เช่น ภูเขา ป่าไม้ พืช ดิน หิน แร่ ทะเล เกาะ แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง น้ำตก ทุ่งนา สัตว์ป่า สัตว์น้ำ

แหล่งการเรียนรู้ประเภทกิจกรรมทางสังคม ประเพณี และความเชื่อ ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน วรรณกรรมท้องถิ่น ศิลปะพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน

แต่ถ้าจะแบ่งแหล่งการเรียนรู้ ตามสถานที่ตั้ง ก็สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

แหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา ได้แก่ ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดเคลื่อนที่ มุมหนังสือในห้องเรียน ห้องพิพิธภัณฑ์ ห้องมัลติมีเดีย ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องอินเทอร์เน็ต ศูนย์วิชาการ ศูนย์วิทยบริการ ศูนย์โสตทัศนศึกษา ศูนย์สื่อการเรียนการสอน ศูนย์พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน สวนพฤกษศาสตร์ สวนวรรณคดี สวนสมุนไพร สวนสุขภาพ สวนหนังสือ สวนธรรมะ ฯลฯ

แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน เช่น ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์กีฬา ศูนย์เยาวชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์หัตถกรรม วัด มัสยิด ครอบครัว ชุมชน สถานประกอบการ องค์กรภาครัฐและเอกชน ฯลฯ



การจัดแหล่งเรียนรู้


แหล่งการเรียนรู้ที่สถานศึกษาสามารถจัดให้มีขึ้นในสถานศึกษา มีได้หลายชนิดขึ้นอยู่กับพื้นที่ และกำลังความสามารถของสถานศึกษาเอง เช่น หากมีพื้นที่บริเวณกว้างขวาง อาจเลือกจัดแหล่งการเรียนรู้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ สวนวรรณคดี สวนสมุนไพร สวนสุขภาพ สวนสัตว์ ศูนย์กีฬา หรือจัดเป็นที่เรียนที่อ่านหนังสือเคลื่อนที่ เป็นต้น

หากสถานศึกษามีอาคารเรียนเพียงพอ ก็สามารถเลือกจัดแหล่งการเรียนรู้ในลักษณะห้องต่างๆ เช่น ห้องสมุด มุมหนังสือ มุมกระจายข่าว ห้องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ห้องศิลปะ ห้องดนตรี ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องพยาบาล ห้องอินเทอร์เน็ต หรือห้องสื่อการเรียนการสอน เป็นต้น

แต่ถ้าสถานศึกษาใดมีข้อจำกัดทั้งพื้นที่และอาคารเรียน ก็ต้องจัดสิ่งที่มีอยู่แล้วในสถานศึกษาทุกชนิดให้แปรสภาพเป็นแหล่งการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มากที่สุด

การใช้ประโยชน์จากแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา

หากสถานศึกษาใดมีพื้นที่และห้องเรียนจำกัดไม่สามารถจัดแหล่งการเรียนรู้ตามที่กล่าวมาแล้วได้ก็อาจจัดสิ่งที่สถานศึกษามีอยู่อย่างจำกัดนั้น ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ได้เช่นกัน กล่าวคือ หากสถานศึกษามีพันธุ์ไม้ยืนต้นชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ในสถานศึกษาเพียง 1 ต้น เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นมะม่วง ต้นมะพร้าว ต้นมังคุด ต้นขนุน ต้นมะขาม ต้นมะยม ต้นยาง ฯลฯ ก็สามารถเชื่อมโยงบูรณาการพันธุไม้ชนิดนั้นมาสู่การเรียนการสอนได้เช่นกัน ได้ร่วมกันศึกษา เรียนรู้องค์ความรู้จากพันธุ์ไม้นั้นๆ ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ดังนี้


กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนเขียนชื่อพันธุ์ไม้ หาคำแปล แต่งคำประพันธ์หาคำประพันธ์ที่ปรากฏชื่อพันธุ์ไม้นั้นๆ มาฝึกอ่านออกเสียง อ่านในใจ อ่านทำนองเสนาะ ฝึกเขียน ตามคำบอก เขียนเรียงความ คัดลายมือ ฝึกพูดบรรยาย ลักษณะของพันธุ์ไม้ ฝึกโต้วาทีในญัตติ เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ ฯลฯ

กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ให้ผู้เรียนฝึกนับจำนวน คำนวณจำนวน ประมาณการจำนวนผลผลิตของพันธุ์ไม้ ฝึกการวัดและ การคาดคะเนขนาดและความสูงของพันธุ์ไม้ ฝึกหาตำแหน่ง ระยะทาง ทิศทาง ขนาด พื้นที่ รูปร่างของพันธุ์ไม้ เขียนแผนผัง แผนที่ แสดงที่ตั้งของพันธุ์ไม้ ฝึกคำนวณรายได้ที่เกิด จากผลิตผลของพันธุ์ไม้ในแต่ละปี

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับค่านิยม ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ ศึกษาภูมิปัญญาที่เกิดจากพันธุ์ไม้ ฝึกเขียนรายงานจากการสำรวจ สภาพทางกายภาพของพันธุ์ไม้ ศึกษากฎหมายทีเกี่ยวข้องกับพันธุ์ไม้

กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ศึกษาสรรพคุณทางยาของพันธุ์ไม้ การผลิตยาชงสมุนไพรจากผลิตผล ของพันธุ์ไม้ รายชื่ออุปกรณ์กีฬาที่ทำจากพันธุ์ไม้


กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ฝึกวาดภาพระบายสีพันธุ์ไม้ เรียนรู้ชนิดและลักษณะของเครื่องดนตรีที่ทำ จากพันธุ์ไม้


กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ฝึกออกแบบ และสร้างสิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำ จากพันธุ์ไม้นั้นๆ เรียนรู้อาชีพ
ที่ต้องพึ่งพาอาศัยพันธุ์ไม้ การนำผลผลิตของพันธุ์ไม้มาทำเป็นอาหาร รวมทั้ง การถนอมอาหารที่ได้จากพันธุ์ไม้


กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ให้ผู้เรียนเรียนรู้คำศัพท์ และประโยคเกี่ยวกับส่วนประกอบ ของพันธุ์ไม้


กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กำหนดพันธุ์ไม้ที่มีในสถานศึกษาเป็นไม้ประจำสถานศึกษา จัดตั้งขมรม เพื่อสร้างจิตสำนึกในการสงวนและอนุรักษ์
พันธุ์ไม้หายากในท้องถิ่น


จะเห็นได้ว่าพันธุ์เพียงต้นเดียวที่มีในสถานศึกษา ก็สามารถใช้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้


การเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพราะเป็นการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงฝึกปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน การเขียน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล มีการฝึกทักษะ ฝึกกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถจดจำองค์ความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอดไป ดังนั้น สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องให้ความสำคัญในการจัดให้มีแหล่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน และมีการใช้ประโยชน์จากแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ทั้งในสถานศึกษาและในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ที่มาข้อมูล : วารสารวิชาการ ปีที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2548