มงคลแห่งชีวิต

ในชีวิตประจำวัน ต่างคนต่างพบเรื่องราวไม่เหมือนกัน เหตุการณ์การกระทำที่ถูกใจก็ว่าสุขใจหากตรงกันข้ามก็ว่าทุกข์ใจ ร่างกายได้รับตอบสนองทางบวกอยู่ดีสบายก็ว่าสุขกายหากไม่ก็ทุกข์กาย ทั้งสุขทั้งทุกข์จึงปนๆกันไปแล้วแต่ฐานะและใจจะปรุงแต่ง

ในสังคมทุกวันนี้ถึงแม้จะมีสุขอยู่ในปริมาณที่มากกว่าคนอื่นก็ยังแสวงหาอีกอย่างคือ “มงคล” บ้างก็ได้จากการกราบไหว้บูชาต้นไม้สถานที่ บูชาวัตถุมงคล จัดบ้านต้นไม้สระน้ำเพื่อให้เป็นมงคล หลายต่อหลายคนล้วนหาสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นมงคลให้เกิดมีกับตนแม้ยากจนสักปานใดก็ขอให้มีมงคลบ้างก็อุ่นใจ

วิถีชีวิตของคนไทยเราจึงต่างคนต่างแสวงหาความเป็นมงคลให้กับตนเองทั้งที่เป็นนามธรรมเช่นการท่องคาถาอาคมหรือภาวนาต่างๆ ส่วนที่เห็นเป็นรูปธรรมวัตถุสิ่งของก็มีมากมาย นั้นเป็นความเชื่อส่วนบุคคลทำแล้วไม่เดือดร้อนใครก็ทำไป

จะดีกว่าหรือไม่ถ้าสิ่งที่คิดว่าเป็นมงคลนั้นยึดถือปฏิบัติอยู่พร้อมกับทราบถึงความหมายของคำว่า “มงคล” ได้อย่างถูกต้อง

แล้วมงคลที่มีความหมายถูกต้องนั้นว่าอย่างไร...?

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อประมาณ ๑๒ ปีก่อนพุทธกาล มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับมงคลเหมือนกันว่าคืออะไรกันแน่ เถียงกันอยู่นานบ้างว่าภูเขา ต้นไม้ บางคนก็บอกว่าเทวรูป ท้องฟ้าไม่มีข้อยุติ ความโต้เถียงกันเรื่องมงคลทราบไปถึงภูมิเทวดาท่านก็มาประชุมกันว่าที่มนุษย์เขาเถียงกันนั้นอะไรคือข้อยุติก็สรุปไม่ได้เมื่อทราบถึงอากาศเทวดาก็สรุปไม่ได้ผ่านไปหลายชั้นเทวดาแต่ละชั้นตอบไม่ได้สักชั้นเดียว ในที่สุดมาถึงชั้นที่เรียกว่า สวรรค์ชั้นสุธาวาสเป็นชั้นของ กลุ่มเทวดาที่เป็นมนุษย์บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี ชั้นนี้ท่านทราบดีว่ามงคลคืออะไรแต่ไม่สามารถอธิบายได้ จึงได้ประกาศให้เทวดาทุกชั้นทราบว่าเราทราบแต่ไม่สามารถอธิบายได้อย่างไรเสียก็อย่าหมดหวังเพราะอีกสิบสองปีต่อจากนี้จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสรูธรรมโปรดไปถามพระพุทธองค์ ครบสิบสองปี ณ คืนหนึ่งหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ท้าวสักเทวราชพาเหล่าเทวดาทั้งปวงมาเข้าเฝ้าแล้วให้เทพบุตรถามว่าอะไรคือมงคลแห่งชีวิต พุทธองค์จึงทรงแสดงหลักแห่งมงคลซึ่งมีทั้งหมด ๓๘ ประการ

เรียกว่า “มงคล ๓๘” ประกอบไปด้วย

๑. การไม่คบคนพาล

๒. การคบบัญฑิต

๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

๔. การอยู่ในถิ่นอันสมควร

๕. เคยทำบุญมาก่อน

๖. การตั้งตนชอบ

๗. ความเป็นพหูสูต

๘. การรอบรู้ในศิลปะ

๙. มีวินัยที่ดี

๑๐.กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต

๑๑.การบำรุงบิดามารดา

๑๒.การสงเคราะห์บุตร

๑๓.การสงเคราะห์ภรรยา

๑๔.ทำงานไม่ให้คั่งค้าง

๑๕.การให้ทาน

๑๖.การประพฤติธรรม

๑๗.การสงเคราะห์ญาติ

๑๘.ทำงานที่ไม่มีโทษ

๑๙.ละเว้นจากบาป

๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

๒๒.มีความเคารพ

๒๓.มีความถ่อมตน

๒๔.มีความสันโดษ

๒๕.มีความกตัญญู

๒๖.การฟังธรรมตามกาล

๒๗.มีความอดทน

๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย

๒๙.การได้เห็นสมณะ

๓๐.การสนทนาธรรมตามกาล

๓๑.การบำเพ็ญตบะ

๓๒.การประพฤติพรหมจรรย์

๓๓.การเห็นอริยสัจ

๓๔.การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

๓๖.มีจิตไม่เศร้าโศก

๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส

๓๘.มีจิตเกษม

จากทั้ง ๓๘ ประการนั้น มงคล คือเหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ นำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญหรือมี "มงคลชีวิต" ซึ่งมี ๓๘ ประการข้างต้น

พจนานุกรมนักเรียนฉบับเฉลิมพระเกียรติ พิมพ์ครั้งที่ยี่สิบเอ็ดกุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ (ปรับปรุง) ให้ความหมาย มงคล คือ สิ่งที่นำมาซึ่งความเจริญ,ด้ายที่สวมศีรษะเพื่อเป็นมงคล

พระธรรมเทศนา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ความว่า ...คำว่ามงคล ได้แก่เหตุให้ถึงความสุขความเจริญ ความสุขความเจริญนี้จะมีขึ้นได้ก็เพราะได้กระทำเหตุที่ทำให้ถึงความสุขความเจริญจึงเรียกมงคล...

วันนี้คล้องวัตถุมงคลอยู่ราคาหลายบาท จัดบ้านเรือนตามโหราศาสตร์ ผูกดวงชะตาด้วยพิธีใหญ่โตปานใดหากไร้ซึ่งการปฏิบัติในใน ๓๘ ประการข้างตนก็หามีมงคลไม่ แต่จะมีหรือไม่มีวัตถุมงคลใด จัดบ้านเรือนตามใจสะดวก มิได้ผูกดวงชะตาใดๆเลยหากปฏิบัติแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ถือเป็นมงคล ชีวิตมีมงคล เริ่มง่ายๆของการปฏิบัติตนให้มี “มงคล”คือไม่คบคนพาลคบแต่นักปราชญ์ ดังสุภาษิตอิศรญาณ เป็นเพลงยาวสอนไว้ว่า

อย่าคบมิตรจิตพาลสันดานชั่ว

จะพาตัวให้เสื่อมที่เลื่อมใส

คบนักปราชญ์นั่นแหละดีมีกำไร

ท่านย่อมให้ความสบายหลายประตู

จาก “ธรรมะไทย” ก็มีอยู่กลอนหนึ่งว่า

อย่าคบมิตร ที่พาล สันดานชั่ว

จะพาตัว เน่าดิบ จนฉิบหาย

แม้ความคิด ชั่วช้า อย่ากล้ำกราย

เป็นมิตรร้าย ภายใน ทุกข์ใจครัน

ลักษณะของคนพาล มี ๓ ประการคือ

๑.คิดชั่ว เช่นคิดอยากได้อยากมีในทางทุจริต คิดลามกอนาจาร

๒.พูดชั่ว พูดแล้วหาสาระไม่ได้เช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ

๓.ทำชั่ว เช่นกระทำให้คนอื่นเดือดร้อนผิดศีล ผิดธรรม ลักขโมย ทำร้ายลูกเมีย

จะเห็นว่าเพียงข้อแรกของมงคลทั้ง ๓๘ หากไม่ปฏิบัติโดยไปคบคนพาลแล้วชีวิตนี้มีแต่ยากลำบากกายใจทั้งสิ้นหากไม่ประสงค์จะคบคนพาลดูยากนักปัจจุบันเข้าทำนองหน้าเนื้อใจเสือพระท่านสอนเอาไว้ว่าลักษณะของคนพาลดูไม่ยากสังเกตง่ายๆคือ

จุดสังเกตคนพาล ๕ ประการ

๑.ชอบแนะนำไปในทางที่ผิด เช่นแนะนำให้ไปลักของ ให้ลองยาเสพติด

๒.ชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ เช่นงานตนไม่ทำชอบก้าวก่ายหน้าที่ผู้อื่น

๓.ชอบทำผิด ประเภทเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ช่วยเหลือคนชั่ว

๔.ใครเตือนทางที่ดีก็โกรธ

๕.ไม่มีระเบียบวินัย เช่นไม่ชอบเข้าแถวตามลำดับ เล่นเกมส์ในเวลางาน

ของดีเมื่อได้มาก็ต้องรักษาเช่นกันมิตรภาพเพื่อนที่ดีได้คบหาแล้วต้องรักษาไว้ให้ดีเชียว ยิ่งหายากอยู่ด้วยในสังคมทุกวันนี้ด้วยคำกลอน (สุภาษิตอิศรญาณ)

จะคบมิตรสนิทนักมักเป็นโทษ

เกิดขึ้งโกรธต่างต่างเพราะวางจิต

ทันระวังตัวที่ไหนไม่ทันคิด

เหตุสักนิดแล้วก็ได้ขัดใจกัน

ที่บ้าน หมู่บ้าน ในที่ทำงาน สังคมโดยส่วนรวมถึงแม้จะมีคำกล่าวที่ว่าไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ถาวรนั้น คงต้องกลับมาพิจารณาใหม่เสียแล้วหากเลือกคบหาสมาคมอย่างถูกต้องอย่างน้อยตามหลักมงคล ๓๘ ประการเกี่ยวกับการคบมิตร คงได้พบกับมิตรแท้และศัตรูที่ไม่ถาวรโดยจะเปลี่ยนมาเป็นมิตรแท้ในที่สุดจะเป็นเช่นว่านี้ได้ก็อยู่ที่เราได้เป็นมิตรแท้ของใครหรือยัง...?




:heart::heart::heart::heart::heart::heart::heart::heart:






ที่มา พลังจิต.คอม