การดำเนินชีวิตอย่าง Slow Life ใช่ว่าจะเป็นเพียงนามธรรม เพราะที่ประเทศญี่ปุ่น พลเมืองชาวคาเกะกาวา จ.ชิซูโอกะ นิยมการใช้ชีวิตอย่างเนิบช้าตามหลักปฏิบัติทั้ง 8 ข้อ ประกอบด้วย

Slow Pace ด้วยการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเดินเท้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ แทนการใช้รถยนต์ เพราะนอกจากจะได้ยืดเส้นยืนสายออกกำลังกายไปในตัว แล้วยังได้ชื่นชมสภาพความเป็นอยู่ของเมืองยามที่เดินผ่าน แถมยังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนได้ด้วย

Slow Wear หันหาเสื้อผ้าอาภรณ์ในแบบพื้นเมืองที่ผลิตจากวัตถุดิบหรือผ้าท้องถิ่น ถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมเครื่องแต่งกายไปในตัว

Slow Food รักษาวัฒนธรรมทางอาหาร รับประทานอาหารเมนูพื้นบ้านที่ปรุงจากวัตถุดิบท้องถิ่น เน้นสะอาด ปลอดสารพิษ เลี่ยงการรับประทานอาหารจานด่วนที่เชื่อว่าทำให้ชีวิตขาดสมดุล

Slow House ปลูกบ้านตามประเพณีและวัฒนธรรมให้เป็นไปตามรูปแบบ เช่น ชาวญี่ปุ่นจะใช้ไม้ ไม้ไผ่ กระดาษ มาเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างและตกแต่งบ้าน สอดคล้องกับลักษณะสภาพภูมิประเทศ

Slow Industry ระบบอุตสาหกรรมต้องใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม กลมกลืนกับเกษตรกรรม ป่าไม้ เน้นใช้แรงคนมากกว่าแรงเครื่องจักร

Slow Education ไม่ใช่การท่องจำบทเรียนและสอบอย่างเคร่งเครียด การเรียนยังต้องเป็นไปอย่างเพลิดเพลิน ควบคู่ไปกับกีฬา และงานอดิเรก

Slow Aging ใส่ใจเติมสิ่งดี ๆ ให้กับร่างกายและจิตใจ เรียนรู้วิถีชีวิตของคนที่มีสุขภาพกาย-ใจที่เข้มแข็ง เพื่อปรับใช้ช่วยชะลอความแก่ และมีอายุที่ยืนยาว

Slow Life ทำได้ทั้ง 7 ข้อข้างต้น ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมีความสุขกับชีวิตที่แช่มช้า และดีกว่า Fast Life
เห็นชาวญี่ปุ่นทำได้ดังนั้นแล้ว ใครพร้อมจะเปิดรับแนวทางแห่งความสุขสูตรนี้ อาจนำข้อปฏิบัติทั้ง 8 ไปปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคุณ ก่อนจะชั่งใจเลือกว่า Slow หรือ Fast Life ชีวิตจะสุขกาย สุขใจ ได้มากกว่ากัน.



takecaredd@gmail.com
ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์