ตำนานกรุงศรีอยูธยา ตอนที่ ๑




ตำนานกรุงศรีอยูธยา ตอนที่ ๑



ตำนานกรุงศรีอยูธยา ตอนที่ ๑



ตอนที่ ๑ ประวัติกรุงเก่า


โบราณศาลากรุงเก่า
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖
(พระยาโบราณบุรานุรักษ์)


พระราชพงศาวดารสังเขป


เมืองหนึ่งซึ่งอยู่เหนือจากกรุงเทพมหานครขึ้นไปที่เรียกกันว่ากรุงเก่าในเวลานี้ ใช่จะได้เป็นเมืองหลวงของประเทศสยามฉะเพาะแต่ครั้งที่สมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง) เสด็จมาสร้างเป็นพระนครขึ้นที่หนองโสนเป็นคราวแรกก็หาไม่ ตามตำราโบราณมีพระราชพงศาวดารเหนือเป็นต้น กล่าวความชัดเจนว่า เมืองนี้ก่อนแต่ศักราช ๓๐๐ ขึ้นไป ก็เคยได้เป็นเมืองหลวงของประเทศสยามชื่อว่ากรุงศรีอยุธยา มีกษัตริย์ทรงปกครองสืบต่อมาเป็นหลายพระองค์ แต่ความในพระราชพงศาวดารฉะบับนั้น บกพร่องไม่ใคร่จะติดต่อกันได้ ลงท้ายชื่อกรุงศรีอยุธยาสูญหายกลายเป็นเมืองเรียกว่า เมืองเสนาราชนคร จึงเห็นว่าคงจะเป็นด้วยกรุงศรีอยุธยาเสื่อมถอยลง เมืองอื่นมีอำนาจเข้มแข็งก็กปแผ่ลงมาได้ไปเป็นเมืองขึ้น จึงได้ลดจากกรุงลงมาเป็นเมืองไป


ครั้งเมื่อจุลศักราช ๗๑๒ ปี พระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์เชียงราย ซึ่งเสวยราชสมบัติในเมืองเทพนคร เมืองนี้ทีจะอยู่ใกล้กับเมืองที่มีอำนาจ จะเป็นที่คับแคบ ซึ่งพระเจ้าอู่ทองจะขยายแดนออกไปอีกไม่ได้ หรือกลัวเมืองอื่นจะมาทำอันตรายได้ง่ายในอย่างใด จึงได้เสด็จลงมาสร้างเมืองหลวงขึ้นที่ตำบลหนองโสนข้างทิศตะวันตกกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่ได้ไปตั้งที่กรุงเดิมนั้น ก็คงจะทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้แม่น้ำแต่ด้านเดียว ที่ๆสร้างกรุงใหม่ได้แม่น้ำถึง ๓ ด้าน เมื่อสร้างกรุงแล้วจึงขนานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา ต่อมาเรียกกรุงเทพทวาราวดีบ้าง กรุงศรีอยุธยาบ้าง แต่ชื่อศรีอยุธยาเป็นที่นิยมใช้กันมาก ตลอดถึงต่างประเทศ และพม่า มอญ เขมรลาว ก็เรียกเมืองไทยว่ากรุงศรีอยุธยา แต่ฝรั่งใช้คำห้วนเรียกว่าอยุธยา


ก็เพราะด้วยศรีอยุธยาเคยเป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศสยามมาช้านานแล้ว พระเจ้าอู่ทองเสด็จมาครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดี เฉลิมพระนามบรมนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระรามาธิบดี คือประกาศแสดงความอิสรภาพของประเทศเป็นเอกราช เมื่อสิ้นสุดรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง)แล้ว ก็มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมา ยกเสียแต่ขุนวรวงศาธิราช ซึ่งไม่นับเข้าในลำดับกษัตริย์ในพระราชพงศาวดาร ได้ ๑๕ พระองค์ ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิในระหว่าง ๑๕ รัชกาลนี้ บางแผ่นดินก็ได้มีการยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองและประเทศที่ใกล้เคียง คือ หัวเมืองเหนือและลาว เขมร มลายู หลายครั้ง


อนึ่งในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้น กษัตริย์กรุงหงสาวดีทรงพระนามว่าตะเบงซวยตี้ พงศาวดารมอญเรียกพระเจ้ามังส่วย หรืออีกนัยหนึ่งวว่ามังโสถิ์ ตั้งต้นก่อสงครามยกทัพพม่ามอญเข้ามาตีกรุงเทพทวาราวดีถึง ๒ ครั้งก็หาได้ไม่ มาภายหลังเมื่อพระเจ้าตะบเงซวยตี้ดับสูญไปแล้ว บุเรงนองเชื้อพระวงศ์ได้เป็นพระเจ้าหงสาวดี ในพงศาวดารมอญเรียกพระเจ้าฝรั่งมังตรี หรืออีกนัยหนึ่งเรียกพระเจ้าชนะสิบทิศ เพราะเป็นผู้มีอำนาจมาก ยกทัพพม่ามอญมาตีกรุงทวาราวดีอีก ๒ ครั้ง ครั้งหลังตีได้ในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช เมื่อจุลศักราช ๙๑๘ ปี พระเจ้าหงสาวดีจึงตั้งให้พระมหาธรรมราชาครองราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระสรรเพชญ์ นับเป็นพระองค์ที่ ๑ ในพระนามนี้ ครั้งนั้นกรุงเทพทวาราวดีก็ตกไปอยู่ในอำนาจกรุงหงสาวดี


มาจนถึงศักราช ๙๒๗ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้ทรงพระอุตสาหะเริ่มก่อกู้เอาประเทศสยามออกพ้นจากอำนาจกรุงหงสาวดี กลับตั้งขึ้นเป็นเอกราชและมีอำนาจใหญ่ ได้ทำสงครามกับมอญพม่า มีชัยได้แผ่นดินมอญมาเป็นเมืองขึ้น ล่วงมาได้ ๑๕ แผ่นดิน ในระหว่างนี้ก็มีแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ที่ได้ทรงแต่งกองทัพไปตีเมืองพม่ากับเมืองเชียงใหม่


ถึงในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาพระองค์ที่ ๓ นับตามลำดับกษัตริย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๓ พระนามเดิมเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี เมื่อเสวยราชสมบัติแล้วมีพระนามวิเศษอีกอย่างหนึ่งว่า พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ที่ออกพระนามดังนี้ ก็เป็นด้วยเหตุที่โปรดประทับอยู่ในพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ คนทั้งหลายจึงได้เรียกพระนามพระที่นั่ง ในครั้งนั้นข้างฝ่ายพม่า มังลองได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีชื่อใหม่ว่า พระเจ้าอลองพรายี ยกมาตีกรุงเทพทวาราวดี ครั้งที่ ๑ไม่ได้ เลิกทัพกลับไปดับสูญกลางทาง ภายหลังมังระราชบุตรผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่า จึงแต่งให้มังมหานอรธากับเนเมียวเป็นแม่ทัพยกเข้ามาตีกรุงอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัทรินทร์เสวยราชสมบัติได้ ๙ พรรษา เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๙ ปี กรุงเทพทวาราวดีก็เสียแก่กองทัพทัพพม่าข้าศึก พม่าเก็บริบทรัพย์สมบัติและเครื่องศาสตราวุธ แล้วเอาไฟเผาพระราชวังและวัดวาอารามบ้านเรือนข้าราชการเป็นอันตราย กวาดต้อนพระราชวงศานุวงศ์ ครอบครัวข้าราชการ ราษฎรไปเมืองอังวะ ประมาณ ๓๐๐๐๐ เศษ


แต่ที่แตกหนีเที่ยวเร้นซ่อนตามป่าดงและหัวเมืองต่างๆ ทั้งอดอยากล้มตายเสียก็มาก แม่ทัพพม่าตั้งให้พระนายกองอยู่รักษากรุง สำหรับรวบรวมผู้คนซึ่งยังแตกฉานซ่านเซ็นอยู่ในที่ต่างๆ พระนายกองตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้น พระนายกองคนนี้เป็นมอญเก่าอยู่ในกรุง มีความชอบที่เจ้ารับอาสาพม่าไปตีค่ายบางระจันแตก และคงจะทำการรบพุ่งในที่อื่นแข็งแรงจนพม่าไว้ใจ จึงตั้งให้เป็นที่สุกี้ คำไทยเรียกว่าพระนายกอง


คิดอายุกรุงเทพทวาราวดีแต่แรกที่สมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง)ทรงตั้งเป็นเอกราช มาจนเสียกรุงแก่พระเจ้าบุเรงนองกรุงหงสาวดีในแผ่นดินพระมหินทราธิราชนับได้ ๒๐๖ ปี ตกไปอยู่ในอำนาจกรุงหงสาวดี ๙ ปี เมื่อจุลศักราช๙๒๗ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้ทรงก่อกู้ ขาดจากอำนาจกรุงหงสาวดีกลับเป็นเอกราชมาจนเสียกรุงแก่พม่าข้าศึก ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอบยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ นับได้ ๒๐๒ ปี รวมอายุกรุงเทพทวาราวดีแต่แรกสร้างจนเสียแก่พม่าปัจจามิตร ๓ ยุคได้ ๔๑๗ ปี



พระนามสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพทวาราวดี



พระราชวงศ์เชียงราย

๑. สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๑ คือพระเจ้าอู่ทอง

เสวยราชย์ศักราช ๗๑๒(พ.ศ. ๑๘๙๓) อยู่ในราชสมบัติ ๒๐ ปี สุดรัชกาลศักราช ๗๓๑(พ.ศ. ๑๙๑๒)


๒. สมเด็จพระราเมศวร (ครั้งที่ ๑)

เสวยราชย์ศักราช ๗๓๑(๑๙๑๒) อยู่ในราชสมบัติ ๑ ปีหย่อน สุดรัชกาลศักราช ๗๓๒(๑๙๑๓)



พระราชวงศ์สุพรรณภูมิ

๓. สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ที่ ๑ พระเจ้าพฤฒิเดช นัยหนึ่งว่ามหาเดชก็เรียก (ขุนหลวงพงัว)

เสวยราชย์ศักราช ๗๓๒(๑๙๑๓) อยู่ในราชสมบัติ ๑๓ ปี สุดรัชกาลศักราช ๗๔๔(๑๙๒๕)

๔. สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์ พระเจ้าทองลั่นก็เรียก

เสวยราชย์ศักราช ๗๔๔(๑๙๒๕) อยู่ในราชสมบัติ ๗ วัน สุดรัชกาลศักราช ๗๔๔(๑๙๒๕)



พระราชวงศ์เชียงราย

๕. สมเด็จพระราเมศวร (ครั้งที่ ๒)

เสวยราชย์ศักราช ๗๔๔(๑๙๒๕) อยู่ในราชสมบัติ ๖ ปี สุดรัชกาลศักราช ๗๔๙(๑๙๓๐)


๕. สมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช (พระยาราม)

เสวยราชย์ศักราช ๗๔๙(๑๙๓๐) อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๗๖๓(๑๙๔๔)



พระราชวงศ์สุพรรณภูมิ

๖. สมเด็จพระอินทราชา พระองค์ที่ ๑ อีกพระนามเรียกพระมหานัครินทราชาธิราช

เสวยราชย์ศักราช ๗๖๓(๑๙๔๔) อยู่ในราชสมบัติ ๑๗ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๗๘๐(๑๙๖๑)



๗. สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระองค์ที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)

เสวยราชย์ศักราช ๗๘๐(๑๙๖๑) อยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๗๙๖(๑๙๗๗)


๘. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เสวยราชย์ศักราช ๗๙๖(๑๙๗๗) อยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี สุดรัชกาลศักราช ๘๑๑(๑๙๙๒)


๙. สมเด็จพระอินทราชา พระองค์ที่ ๒

เสวยราชย์ศักราช ๘๑๑(๑๙๙๒) อยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี สุดรัชกาลศักราช ๘๓๒(๒๐๑๓)


๑๐. สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๒

เสวยราชย์ศักราช ๘๓๒(๒๐๑๓) อยู่ในราชสมบัติ ๔๐ ปี สุดรัชกาลศักราช ๘๗๑(๒๐๕๒)


๑๑. สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร

เสวยราชย์ศักราช ๘๗๑(๒๐๕๒) อยู่ในราชสมบัติ ๕ ปี สุดรัชกาลศักราช ๘๗๕(๒๐๕๖)


๑๒. สมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร

เสวยราชย์ศักราช ๘๗๔(๒๐๕๖) อยู่ในราชสมบัติ ๕ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๘๗๖(๒๐๕๗)


๑๓. สมเด็จพระชัยราชาธิราช

เสวยราชย์ศักราช ๘๗๖(๒๐๕๗) อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี สุดรัชกาลศักราช ๘๙๑(๒๐๗๐)


๑๔. สมเด็จพระยอดฟ้า

เสวยราชย์ศักราช ๘๘๙(๒๐๗๐) อยู่ในราชสมบัติ ๒ ปีครึ่ง สุดรัชกาลศักราช ๘๙๑(๒๐๗๒)


๑๕. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(ครั้งที่ ๑)

เสวยราชย์ศักราช ๘๙๐(๒๐๗๑) อยู่ในราชสมบัติ ๒๔ ปี สุดรัชกาลศักราช ๙๑๔(๒๐๙๕)


๑๖. สมเด็จพระมหินทราธิราช(ครั้งที่ ๑)

เสวยราชย์ศักราช ๙๑๔(๒๐๙๕) อยู่ในราชสมบัติ ๒ ปี สุดรัชกาลศักราช ๙๑๖(๒๐๙๗)


๑๕. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(ครั้งที่ ๒)

เสวยราชย์ศักราช ๙๑๖(๒๐๙๗) อยู่ในราชสมบัติ๑ ปี สุกรัชกาลศักราช ๙๑๗(๒๐๙๘)



๑๖. สมเด็จพระมหินทราธิราช(ครั้งที่ ๒)

เสวยราชย์ศักราช ๙๑๗(๒๐๙๘) อยู่ในราชสมบัติ ๑ ปีหย่อน สุดรัชกาลศักราช ๙๑๘(๒๐๙๙)



พระราชวงศ์สุโขทัย

๑๗. สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๑ (พระมหาธรรมราชา)

เสวยราชย์ศักราช ๙๑๘(๒๐๙๙) อยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี สุดรัชกาลศักราช ๙๔๐(๒๑๒๑)


๑๘. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๒ คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เสวยราชย์ศักราช ๙๔๐(๒๑๒๑) อยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี สุดรัชกาลศักราช ๙๕๔(๒๑๓๕)


๑๙. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๓ คือสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช

เสวยราชย์ศักราช ๙๕๔(๒๑๓๕) อยู่ในราชสมบัติ ๘ ปี สุดรัชกาลศักราช ๙๖๓(๒๑๔๔)


๒๐. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๔ (เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์)

เสวยราชย์ศักราช ๙๖๓(๒๑๔๔) อยู่ในราชสมบัติ ๒ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๙๖๔(๒๑๔๕)



พระราชวงศ์ทรงธรรม

๒๑. สมเด็จพระบรมราชา พระองค์ที่ ๑ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม อย่างหนึ่งเรียกว่าพระเจ้าทรงธรรม (พระพิมลธรรม)

เสวยราชย์ศักราช ๙๖๔(๒๑๔๕) อยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๙๘๙(๒๑๗๐)


๒๒. สมเด็จพระบรมราชา พระองค์ที่ ๒ คือพระเชษฐาธิราช

เสวยราชย์ศักราช ๙๘๙(๒๑๗๐) อยู่ในราชสมบัติ ๑ ปี ๗ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๙๙๑(๒๑๗๒)


๒๓. สมเด็จพระอาทิตยวงศ์

เสวยราชย์ศักราช ๙๙๑(๒๑๗๒) อยู่ในราชสมบัติ ๖ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๙๙๒(๒๑๗๓)



พระราชวงศ์ปราสาททอง

๒๔. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๕ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า สมเด็จพระรามาธิเบศร์ คือพระเจ้าปราสาททอง

เสวยราชย์ศักราช ๙๙๒(๒๑๗๓) อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สุดรัชกาลศักราช ๑๐๑๗(๒๑๙๘)


๒๕. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๖ (เจ้าฟ้าชัย)

เสวยราชย์ศักราช ๑๐๑๗(๒๑๙๘) อยู่ในราชสมบัติ ๙ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๑๐๑๘(๒๑๙๙)


๒๖. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๗ (พระศรีสุธรรมราชา)

เสวยราชย์ศักราช ๑๐๑๘(๒๑๙๙) อยู่ในราชสมบัติ ๒ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๑๐๑๘(๒๑๙๙)


๒๗. สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๓ คือสมเด็จพระนารายณ์มหาเอกาทศรฐราช

เสวยราชย์ศักราช ๑๐๑๘(๒๑๙๙) อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สุดรัชกาลศักราช ๑๐๔๔(๒๒๒๕)



พระราชวงศ์บ้านพูลหลวง (แซก)

๒๘. สมเด็จพระมหาบุรุษ อีกพระนามหนึ่งเรียกว่าพระธาดาธิเบศร์ (พระเพทราชา)

เสวยราชย์ศักราช ๑๐๔๔(๒๒๒๕) อยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๑๐๕๙(๒๒๔๐)



พระราชวงศ์ปราสาททอง

๒๙. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๘ อีกพระนามหนึ่งเรียกพระสุริเยนทราธิบดี คือพระพุทธเจ้าเสือ

เสวยราชย์ศักราช ๑๐๕๙(๒)(๒๒๔๐) อยู่ในราชสมบัติ ๙ ปี สุดรัชกาลศักราช ๑๐๖๘(๒๒๔๙)


๓๐. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระภูมินทราชา หรือขุนหลวงทรงเบ็ดก็เรียก คือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

เสวยราชย์ศักราช ๑๐๖๘(๒๒๔๙) อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สุดรัชกาลศักราช ๑๐๙๔(๒๒๗๕)


๓๑. สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระองค์ที่ ๓ เมื่อสวรรคตแล้ว เรียกพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เสวยราชย์ศักราช ๑๐๙๕(๒๒๗๖) อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๑๑๒๐(๒๓๐๑)


๓๒. สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระองค์ที่ ๔ อีกพระนามหนึ่งเรียกพระมหาอุทุมพร มหาพรวินิจ พระนามเดิมเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิจ เมื่อทรงผนวชเรียกกันว่า ขุนหลวงหาวัด

เสวยราชย์ศักราช ๑๑๒๐(๒๓๐๑) อยู่ในราชสมบัติ ๑๐ วัน สุดรัชกาลศักราช ๑๑๒๐(๒๓๐๑)


๓๓. สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระองค์ที่ ๓ พระนามเดิม เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี อีกพระนามหนึ่งเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์


เสวยราชย์ศักราชย์ ๑๑๒๐(๒๓๐๑) อยู่ในราชสมบัติ ๙ ปี สุดรัชกาลศักราช ๑๑๒๙ (๒๓๑๐)(วัน ๓ฯ๙๕ ค่ำ ปีกุน)



ขอบพระคุณ
งานนิพนธ์ ของ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) จากหนังสือ "ตำนานกรุงเก่า"