หิริ-โอตตัปปะ

โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง
ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


วันนี้จะเทศน์ถึงเรื่อง “ความละอายและความกลัวต่อบาป” ให้เข้าใจ เราเคยได้ยินได้ฟัง แต่ฟังเฉยๆ ไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้งถึงธรรมะ ฟังไปๆ ก็เบื่อ แท้ที่จริงธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละบทแต่ละบาทมีความหมายลึกซึ้ง เพราะเกิดจากหทัยวัตถุของพระองค์ เป็นเรื่องที่จะให้สำเร็จประโยชน์อย่างยิ่งในธรรมนั้นๆ

ฉะนั้นจงพากันตั้งใจฟังให้ดี ถ้าฟังไม่ดีจิตวอกแวกไปมันก็เลยจะไม่เข้าใจเสีย ถ้าตั้งใจเด็ดเดี่ยวฟังจริงๆ คงจะรู้ คงจะเข้าใจ เมื่อเกิดความรู้ ความเข้าใจแล้ว จงตั้งใจเอาไปปฏิบัติทดลองดู ถ้าหากว่าไม่ทดลองปฏิบัติดูก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ ธรรมจึงเป็นข้อละเอียด

คำว่า หิริ คือ ความละอายใจ อายมิใช่อายอย่างธรรมดา ที่หนุ่มสาวอายกัน มันอายซึ้งเข้าถึงใจจริงๆ ไม่ใช่อายผิวเผินภายนอก หนุ่มสาวมักอายรูปร่างภายนอก เราคิดจะทำสิ่งใดที่ชั่ว มันละอายขึ้นมาในใจ เพียงแต่คิดเท่านั้น คนอื่นยังไม่เห็นเลยมันเกิดความละอายขึ้นมาแล้ว คิดทำชั่วคืออย่างไร สิ่งใดที่เป็นไปเพื่อความเลวทรามไม่ถูกต้องทางธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอันนั้นเป็นความเลว

อะไรที่มันวัดว่ามันถูกหรือไม่ถูก อันนี้ง่ายนิดเดียว คนที่ไม่เคยรู้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็อาจจะเข้าใจได้ คือถ้าเราทำอะไรลงไป ถ้าหากว่ามันไม่ถูกต้องแล้วมันรู้สึกละอายกระดากในใจตนเอง แต่ตามหลักท่านบอกว่านักปราชญ์ทั้งหลายไม่สรรเสริญ ไม่นิยม นั่นเรียกว่า ผิดจากธรรม

เราไม่ใช่นักปราชญ์ ไม่ใช่นักรู้ แต่เรารู้ภายในของเราเอง อย่างฆ่าสัตว์ มันคิดกระดากในใจ คือเราไม่ฆ่าสัตว์เพียงคิดจะฆ่าก็กระดากในใจ แต่ผู้ที่เขาฆ่าสัตว์มาจนชินแล้วก็ไม่กระดากเท่าไร เรียกว่า มันไม่มีธรรมในตัว เราคิดจะฆ่าเท่านั้นแหละ มันนึกกระเดียมกระดากในตัว เรียกว่า ของไม่ดีคือบาป คนทั้งหลายไม่นิยม นักปราชญ์ไม่นิยม

บรรดาคนทั้งหลายย่อมกลัวความชั่ว คนอื่นก็กลัว ตัวของเราก็กระดาก สัตว์ทั้งหลายแม้เดียรฉานไม่รู้เดียงสา เห็นเราทำท่าทางกิริยาอาการลงมือฆ่าให้เห็นมันก็กลัวแล้ว อันนั้นแหละความชั่ว ถ้าหากเราทำดี อันนี้ตรงกันข้าม เป็นมิตรเป็นสหายพวกพ้อง อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้แต่สัตว์เดียรฉานก็ขุนเชื่องไม่คิดกระดากเป็นมิตรกับเรา เข้าไปในป่ารกมีเสือ หมี ผีร้าย ซึ่งเป็นของดุที่สุด คนกลัวที่สุด ถ้าหากมีเมตตา ไม่ปรารถนาจะทำชั่วช้าแล้ว เขาก็มาสนิทสนมกับเรา ไม่เห็นมีกลัวอะไร นั่นแหละความดี คือความละอายในใจของเรา ไม่กล้าทำชั่ว

ความละอายนี่แหละเป็นต้นเหตุให้ทำความดี ความดีทั้งหมดเกิดจากความละอายนี้ทั้งนั้น ความไม่ดีเกิดจากความไม่ละอายนั่นเอง ศีล ๕ ข้อมีความละอายเป็นเบื้องต้น เป็นสมุฏฐาน หากว่ามีความละอายในใจแล้วไม่กล้าทำ ศีลข้อนั้นก็งดเว้นได้หมด ลักทรัพย์ก็เหมือนกัน ถ้าหากของตกอยู่ในป่า ไม่มีเจ้าของแต่เราไปหยิบเอา เกิดสงสัยว่าจะมีเจ้าของหรือไม่หนอ แล้วก็คิดกระดากในใจยังไม่กล้าที่จะเอา จนแน่ใจตนเองเสียก่อนว่าไม่มีเจ้าของ

อย่างลูกไม้ ผลไม้ มันเกิดในป่าไม่มีเจ้าของหวงแหน แน่แก่ใจแล้วว่าไม่มีเจ้าของจึงถือเอาด้วยความสนิทใจ ถ้าหากของที่ตกเช่นเป็นของในบ้านมาตกในป่า เอ๊ะ นี่มันของคนเขาเอามานี่ มันก็ไม่เอา เอาก็ไม่สนิท นั่นแหละมันจะไปลักไป ขโมยได้อย่างไร การประพฤติผิดมิจฉาจาร มุสาวาท ดื่มสุราเมรัย เหมือนกันหมดทุกอย่าง ศีล ๘ ก็เหมือนกัน ถ้ามีหิริอยู่ในใจละอายใจแล้วไม่กล้าทำทั้งนั้น แม้ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็เหมือนกันหมด

พูดถึงเรื่อง “ธรรม” ความรู้ตัว ความละอายในตัวนั้นแหละเป็นธรรม ความละอายในตัวเกิดรู้สึกขึ้นมามันเป็นธรรมแล้ว ธรรมเกิดพร้อมกันกับศีล เกิดในที่เดียวกันนั่นแหละ คือเกิดจากหัวใจของคนเรา ไม่ใช่เกิดจากที่อื่น ศีลก็เกิดที่หัวใจนั่นแหละ ที่ละอายแล้วไม่กล้าทำ ธรรมก็เกิดที่หัวใจ ความรู้สึกละอายเกิดขึ้นในที่นั่นเรียกว่า หิริ โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัว เมื่อรู้สึกมีความละอายในใจแล้วเกิดความกลัว กลัวความชั่ว กลัวเขาจะรู้ จะเห็น กลัวจะอับอายขายขี้หน้า กลัวผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือผู้บังคับบัญชาท่านจะรู้จะเห็นเอาโทษเอาทัณฑ์ มีความละอาย มีความกลัวละคราวนี้ก็ไม่กล้าทำเท่านั้นเอง

เมื่อมีหิริโอตตัปปะอย่างนี้แล้ว กฎหมายบ้านเมืองทุกมาตราไม่มีใครกล้าทำผิดหรอก อย่าว่าแต่ธรรมเลย การอยู่ด้วยกันเป็นหมู่คณะ เป็นพรรคเป็นพวกหลายคนด้วยกัน ถ้ามีหิริโอตตัปปะแล้ว ไม่มีอิจฉาริษยาเบียดเบียนซึ่งกันและกันมันก็เป็นสุขเท่านั้น หากคิดผิดประทุษร้ายเกิดความละอายและกลัวขึ้นมา นั่นธรรมเตือนขึ้นมาแล้ว เลยไม่กล้าทำความชั่ว ครั้นทำลงไปก็เป็นเหตุให้เดือดร้อนวุ่นวาย ตนเองเดือดร้อนเพราะทำชั่ว คิดชั่ว แล้วก็เป็นเหตุให้คนอื่นเดือดร้อนอีกด้วย

เรียกว่า ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ประพฤติสุจริตก็มี หิริโอตตัปปะ อยู่ในตัวนั่นแหละ เรียกว่า ประพฤติธรรมสุจริต ผู้ประพฤติธรรมดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ มันก็สวมหัวใจของเรามาแต่เบื้องต้นนั่นน่ะซี จะสุขที่ไหน สุขแต่เบื้องต้นที่เราประพฤติดี ประพฤติชอบ มันไม่เดือดร้อนวุ่นวาย คนอื่นก็สุข อยู่หมู่มากด้วยกันก็สุข หมู่น้อยก็เป็นสุขด้วยกันทั้งหมด ไม่มีเดือดร้อนวุ่นวาย จึงว่าธรรมอันนี้เป็นของดี

ธรรมของพระพุทธเจ้าสอน ไม่ใช่เป็นของตื้นๆ ต่ำๆ มีความลึกซึ้งสุดเข้าถึงหัวใจของบุคคล ถ้าปฏิบัติเป็นธรรมแล้วจะอยู่เย็นเป็นสุขด้วยกันหมดทุกคน ฉะนั้นให้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าฟังไม่เข้าใจฟังแล้วก็หายไปเลยไม่สนใจถึงเรื่องธรรมนั้นๆ บางทีเข้าใจว่าธรรมอันนี้เป็นของตื้นต่ำ เลยไม่อยากฟังซ้ำ แท้ที่จริงเราน่ะเป็นคนตื้นฟังไม่ลึกซึ้งถึงธรรมนั้นต่างหาก จึงไม่ซาบซึ้งถึงอรรถธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ถ้าปฏิบัติธรรมซึ้งถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงแล้ว มันไม่ใช่แต่เพียงแค่นั้น มันซึ้งเข้าไปอีกจนเหลือที่จะพูดให้คนฟัง ท่านพูดให้คนอื่นฟังแต่เพียงตื้นๆ แล้ว แต่ความลึกซึ้งของธรรมจริงๆ ในหัวใจของผู้ที่เห็นธรรมปฏิบัติธรรมนั้น ไม่สามารถพูดออกมาได้เมื่อฟังแล้ว เข้าใจแล้ว จงตั้งใจฝึกปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน เมื่อยังไม่เข้าใจก็ให้ตั้งใจสนใจในเรื่องนั้นๆ หากจะค่อยซาบซึ้งเข้าไปเองหรอก เรื่องเหล่านี้มันอยู่ที่ความสนใจและตั้งใจปฏิบัติตาม



................ เอวัง ................










ที่มา พลังจิต คอม