ประธานองคมนตรี กับ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน







ถาม ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คือ อะไร ?
ตอบ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นคำเรียกบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำงานหรือใช้อำนาจในพระนามของกษัตริย์ กรณีกษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ สวรรคต หรือ ไม่สามารถปฏิบัติพระกรณียกิจของกษัตริย์ได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้มีอำนาจและทำหน้าที่เยี่ยงเดียวกับกษัตริย์จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ตามกฎหมายหรือกฎมณเทียรบาลอันแล้วแต่รัฐธรรมนูญจักกำหนดไว้



ถาม ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน กับ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่างกันอย่างไร ?

ตอบ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นคำเรียกในรัฐธรรมนูญไทย กรณีที่มีเงื่อนไขว่า กษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ สวรรคต หรือ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของกษัตริย์ได้โดยรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง หากรัฐสภายังไม่แต่งตั้ง ประธานองคมนตรีจะดำรงตำแหน่งนี้ไปจนกว่ารัฐสภาแต่งตั้ง ส่วนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะมีเมื่อกษัตริย์ไม่อาจปฏิบัติกรณียกิจชั่วเวลาหนึ่ง จึงทรงแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลปฏิบัติงานตามที่มีพระราชประสงค์โดยมีกำหนดเวลาแน่นอน



ถาม เมืองไทยเคยมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินหรือไม่ ?”

ตอบ ยุครัตนโกสินทร์เคยมีหลายครั้งแล้ว เช่น รัชกาลที่ 5 ครองราชย์เมื่อทรงพระเยาว์จึงมีการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและตอนที่ทรงเสด็จประพาสต่างประเทศก็ทรงแต่งตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 ก็ทรงพระเยาว์ตอนเป็นกษัตริย์ก็มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงผนวชก็ทรงแต่งตั้งพระราชินีให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์



ถาม รัฐธรรมนูญไทยมีตำแหน่งนี้หรือไม่ ?

ตอบ สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน กรณีที่รัฐสภายังไม่เห็นชอบแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการหรือกษัตริย์องค์ใหม่ ดังนั้น ตำแหน่งประธานองคมนตรีจึงมีความสำคัญเมื่อเกิดเงื่อนไขทางรัฐธรรมนูญให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เขาจึงควรมีคุณสมบัติสำคัญ คือ ความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ยึดมั่นกับระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นพระประมุข และความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง



ถาม เหตุไฉนบางกลุ่มจึงเพ่งเล็งคุณสมบัติหรือพฤติกรรมของประธานองคมนตรีเป็นพิเศษ ?
ตอบ ถ้าประธานองคมนตรีไม่ดำรงตนอยู่ในพฤติกรรมอันเหมาะควร จักส่งผลร้ายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือพระเกียรติของกษัตริย์อย่างมาก เช่น การแผ่อิทธิพลหรือบารมีควบคุมหรือสามารถสั่งสมาชิกรัฐสภา รัฐบาล ฝ่ายทหาร ฝ่ายตุลาการ และอื่นๆได้ เมื่อเกิดเงื่อนไขให้ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา เขาอาจใช้อิทธิบารมีผ่านหน่วยงานเหล่านั้นมิให้คัดเลือกหรือแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินหรือกษัตริย์องค์ใหม่ ทำให้เขาดำรงตำแหน่งนั้นตามรัฐธรรมนูญทันทีเพราะกำหนดว่า ถ้ายังไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งนั้นจากรัฐสภา ประธานองคมนตรีจะทำหน้าที่นั้นไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการและสามารถใช้พระราชอำนาจเยี่ยงเดียวกับกษัตริย์ ถ้าเขาใช้อิทธิบารมียับยั้งกระบวนการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินหรือกษัตริย์องค์ใหม่ได้ ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปนานเท่าใดก็ได้และเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะมิได้กำหนดเวลาให้ต้องแต่งตั้งไว้ แม้ประเทศจะว่างเว้นพระประมุข แต่ยังมีผู้ใช้อำนาจของกษัตริย์อยู่ งานต่างๆที่ต้องมีการลงพระนามโดยกษัตริย์ก็จะเป็นอำนาจของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน



ถาม หน้าที่ของประธานองคมนตรีคืออะไร ?
ตอบ คณะองคมนตรีมีหน้าที่ชัดเจนว่า เป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประธานองคมนตรีจึงเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของกษัตริย์ คุณสมบัติสำคัญของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะองคมนตรี คือ การไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยเด็ดขาด การใช้ตำแหน่งนี้เพื่อหาประโยชน์ทางธุรกิจ แม้มิได้เป็นข้อห้าม แต่เป็นเรื่องมิบังควรอย่างยิ่ง





จาก magnadream.spaces.live.com