ข้อน่ารู้จากพระไตรปิฎก...๓๑. อานิสงส์ต่าง ๆ ของกายคตาสติ


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เมื่อธรรมอย่างหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วแม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตก (ความตรึก) วิจาร (ความตรอง) ก็ระงับ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา แม้ทั้งสิ้นก็ถึงความเจริญเต็มที ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน? ธรรมอย่างหนึ่ง คือกายคตาสติ (สติอันไปในกาย) ดูก่อนภิกษืทั้งหลาย ! เมื่อธรรมอย่างนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็ระงับธรรมที่เป็นในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้น ก็ถึงความเจริญเต็มที"

(ขึ้นต้นอย่างเดียวกัน หรือคล้ายกัน มีคำแสดงอานิสงส์ของกายคตาสติต่อไปอีกว่า) :

"เมื่อเจริญทำให้มาซึ่งกายคตาสติแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นที่เกิดแล้ว อันบุคคลย่อมละได้"

"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้นที่เกิดแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลยิ่งขึ้น"

"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว อวิชชา อันบุคคลย่อมละได้, วิชชาย่อมเกิดขึ้น, อัสมิมานะ (ความถือตัวว่า เราเป็นนั่นเป็นนี่) อันบุคคลย่อมละได้, อนุสัย (กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องในสันดาน) ทั้งหลายย่อมถึงความถูกถอนราก, สัญโญชน์ (กิเลสที่มัดสัตว์ไว้ในภพ) ทั้งหลาย อันบุคคลย่อมละได้"

"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานในปัญญาเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน (สภาพที่ดับสนิทโดยไม่มีเชื้อเหลือ) "

"อเนกธาตุปฏิเวธ (คำว่า ปฏิเวธ แปลว่า "แทงทะลุง" หรือที่โบราณแปลว่า "แทงตลอด" ตรงกับคำแปลในภาษาอังกฤษ Penetration เมื่อมาในลำดับแห่งปริยัติ (การเรียน) ปฏิบัติ (การกระทำ) หมายถึงการได้รับผลของการปฏิบัติ) (ความตรัสรู้หรือตลอดธาตุเป็นอเนก) นานาธาตุปฏิเวธ (ความตรัสรู้ซาบซึ้งตลอดธาตุต่าง ๆ ) นานาธาตุปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธาตุต่าง ๆ) ย่อมเกิดขึ้นเมื่อเจริญกายคตาสติ "

"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลสกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล"

"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา เพื่อความีปัญญากว้างขวาง เพื่อความไพบูลด้วยปัญญา เพ่อความเป็นผู้มีปัญญามาก เพื่อความเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเต็มที เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไม่มีขอบเขต เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน เพื่อความเป้ฯผู้มีปัญญาอันทำให้บันเทิง เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไหวพริบ เพื่อความเป็นผู้มีปัญญากล้าเพื่อความเป้นผู้มีปัญญาซำแรกกิเลส "


เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๕๗,๕๘