ถ้วยพระราชทานของพระมหากษัตริย์
ฟุตบอลคิงส์คัพ

กีฬาฟุตบอลในแผ่นดินสยาม หากนับต่อเนื่องกันมาตั้งแต่นัดแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๓ ระหว่างทีมบางกอก อันเป็นทีมชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสยามประเทศ กับทีมศึกษาธิการ ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งเล่นกันภายใต้ข้อบังคับของแอสโซซิเอชั่น ต้องถือว่าย่างเข้าถึสู่ปีที่ ๑๐๗ แล้ว

วิวัฒนาการฟุตบอลเมืองสยาม ได้เริ่มต้นการเดินทางกระทังวันที่ ๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๖ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก่อตั้ง “คณะฟุตบอลแห่งสยาม” ก่อนที่จะพระราชทาน “ถ้วยทองหลวง” ให้วงการฟุตบอลไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๕๘ พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ๑ ชุด โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง “สภานายกฟุตบอลถ้วยทอง” ตลอดรัชสมัยของพระองค์ (พ.ศ. ๒๔๕๘ – ๒๔๖๙)

กีฬาที่ชาวสยามเคยเรียกว่า “หมากเตะ” พัฒนาวิวัฒนาการตามความนิยม และกติกาการแข่งขัน และเมื่อสยามประเทศ เปลี่ยนชื่อเป็น “ราชอาณาจักรไทย” ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงทำให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศสยาม ต้องจัดการแก้ไขข้อบังคับลักษณะปกครองของสมาคมเป็นครั้งที่ ๓ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ และเรียกชื่อใหม่ว่า “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ก่อนที่ทีมฟุตบอลชาติไทยจะเดินทางไปร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ ๑๖ ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

กระทั่ง ๑๒ ปีผ่านไป ทีมฟุตบอลชาติไทย สามารถผ่านเข้าสู่รองสุดท้ายกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ ๑๙ ณ นครเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศแม็กซิโก เป็นโอลิมปิกครั้งที่ ๒ ของขุนพลนักเตะตราธงไตรรงค์ และยังไม่เคยปรากฏประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของทีมลูกหนังจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเวทีลูกหนังระดับโลกรายการนี้อีกเลย ...

ในพ.ศ. ๒๕๑๑ กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมอย่างสูงสุดกล่าวกันว่า คือ “ยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลไทย” ในที่สุดการประชุมสภากรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่ง
ประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การนำของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคม จึงมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการจัดแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติขึ้น
ในประเทศ เพื่ออุดมการณ์ ดังนี้

๑. เทิดทูนพระเกียรติบารมีพระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัว
๒. กระชับสัมพันธ์ภาพกับนานาชาติในเครือสมาชิก
๓. ยกระดับมาตรฐานกีฬาฟุตบอล
๔. เผยแพร่ความนิยมกีฬาฟุตบอลแก่นักกีฬา และประชาชน
๕. หารายได้ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล


ภายหลังจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีหนังสือถึงราชเลขาธิการขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล พระมหากรุณาธิคุณขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาต
ดำเนินการจัดแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพขึ้นในปลายปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ เมื่อความได้ทรงทราบใต้เบื้องพระยุคลบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตพร้อมทั้งพระราชทานถ้วยถมทองคำสำหรับเป็นรางวัลแก่ชุดชนะเลิศในการแข่งขัน ถ้วยพระราชทานนี้จะไม่เป็นกรรมสิทธิ์แก่ชุดฟุตบอลใด
แต่จะต้องมีการแข่งขันชิงความชนะเลิศเป็นประจำปี

จากการแข่งขัน ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน – ๒ ธันวาคม ๒๕๑๑ กระทั่งถึงครั้งที่ ๓๗ ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๙ ทีมฟุตบอลหลายชาติ
ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นครองความชนะเลิศ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย หรือแม้แต่เกิดเหตุวุ่นวายจากเกมแห่งศักดิ์ศรีและ
แรงศรัทธาของแฟนลูกหนัง แต่ทุกครั้ง ทุกคนต่างหล่อหลอมหัวใจเป็นหนึ่งเดียวสำหรับฟุตบอลรายการนี้เพื่อ “พ่อหลวง” เพื่อเทิดทูนพระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ที่ทรงปกครองประเทศดั่งพ่อดูแลลูก

ขุนพลลูกหนังดาราเอเชีย อาทิ สุจิ๊ปโต้, อับดุลการ์ดี้, อิสวาดี้ ยอดนักเตะจากแอนอิเหนาของ ทีมชาติอินโดนีเซีย หรือจะเป็น อารูมูกัม นายทวารจอมหนึบ, อิซา บาร์ก้า ดาวยิงหน้าติดหนวด, “ไอ้หน้าผี” โช ชิน อัน, ซันโต๊ค ซิงห์, ม็อคตาร์ ดาฮารี, “ไอ้ก้นงอน” ไซนัล อาบีดีน ล้วนแต่เป็นเคยพาเสือเหลือง ทีมชาติมาเลเซีย ก้าวผงาดเป็นเจ้าในฟุตบอลรายการนี้มาแล้วทั้งสิ้น

มิใช่เท่านั้น หากแต่นักเตะ “โสมขาว” ทีมชิตเกาหลีใต้ยังใช้สนามศุภชลาศัย และฟุตบอลคิงส์คัพ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ และสร้างทีมจนแข็งแกร่งเป็นมหาอำนาจชาติหนึ่งในวงการฟุตบอลเอเชียในทศวรรษต่อมา นำทะโดย “ไอ้หน้าแดง” ลี แฮเต็ก, ชา บุม กุน, ซอย ยอง ซู ก่อนจะประสบความสำเร็จในทัวร์นาเมนต์นี้ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเจ้าถิ่น ทีมชาติไทย แม้แต่ “นักเตะโสร่ง” จากปงสาวดีซึ่งเคยมีอดีตอันเรืองรองน่าเกรงขามด้วยนักฟุตบอลระดับดาราเอเชีย ทิน อ่อง ยอดผู้รักษาประตู เอ หม่อง ๑, เอ หม่อง ๒, ซุค บาฮาดูร์ ล้วนแล้วแต่เข้ามาโชว์ความเอกอุเชิงลูกหนังให้แฟนบอลไทยได้ประจักษ์ แต่ “มหาอำนาจฟุตบอลเอเชีย” ทีมชาติพม่า กลับไม่เคยประสบความสำเร็จคว้าถ้วยพระราชทานคิงส์คัพได้เลย เช่นเดียวกันคงไม่มีใครลืมท้าวสมนึก วิสัยสุด นายทวารจอมหนึบ ท้าวก้อนคำ โลสเคียว ดาวยิงลุ่มน้ำโขง และท้าวเพ็งสวรรค์ ยอดหัวหน้าทีมของ “ทีมชาติลาว” ที่สร้างความปวดร้าวบาดลึกอย่างไม่อาจลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลไทย

ในขณะเดียวกันหากเปิดบันทึกของฟุตบอลคิงส์คัพช่วง ๑๙ ปีก่อน นกัเตะของหลายทีมที่เคยมาเหยียบผืนหญ้าสนามศุภชลาศัย เมกะลูกหนังแผ่นดินสยาม ต่อมากลับสร้างชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก คงไม่อาจปฏิเสธขุนพลนักเตะแดนโคนม “ทีมชาติเดนมาร์ก” ที่เข้ามากระชากแชมป์ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ ๑๙ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑

แม้จะเป็นแค่ทีมชุดปรี – โอลิมปิก แต่ภายใต้การทำทีมของ ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซน ไล่เรียงนามผู้เล่นตั้งแต่นายทวาร ปีเตอร์ ชไมเคิล กองหลัง ลาร์ส โอลเซน กองกลาง เคนท์ นีลเซน, คิม วิลฟอร์ด, เจสเปอร์ โอลเซน, ไบรอัน เลาดรู๊ป และเฮนรีค ลาร์เซน ยอดดาวยิงของทีม ต่างก็ขยับตัวเองพัฒนาฝีเท้าไปสร้างเทพนิยายเดนส์ของวงการลูกหนังโลก เมื่อกลายเป๋ยแชมป์ฟุตบอลแห่งชาติยุโรปแบบช็อกโลก ใน ค.ศ. ๑๙๙๒ หลังจากชนะเลิศฟุตบอลคิงส์คัพเพียง ๔ ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ ทีมชาติบราซิล ชุดเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี ที่มีนักเตะดาวรุ่งเมืองกาแฟ นาม โรนัลดินโญ่ เดอ อาสซิส มอริเอรา ก็เคยมาประสบความสำเร็จคว้าถ้วยคิงส์คัพ ครั้งที่ ๓๐เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ ก่อน “โรนัลดินโญ่” จะย้ายจากสโมสรเกรมิโอ (บราซิล) ไปอยู่กับสโมสรปารีส แซงค์ แชร์กแมง (ฝรั่งเศส) และสโมสรบาร์เซโลนา (สเปน) ตามลำดับ โดย “เหยินน้อย” ยังคว้ารางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของฟีฟ่าถึง ๒ ปีซ้อน แถมยังเป็นหนึ่งในทีมชาติบราซิล ชุดใหญ่ ที่เดินทางมาหวดแข้งคิงส์คัพ ในปีถัดมา พร้อมกับ โรเบอร์โต้ คร์ลอส, คาฟู, ริวัลโด้ ฯลฯ

ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ถือได้ว่าเป็นสนามสร้างดาวประดับฟากฟ้าวงการฟุตบอลไทยได้อย่างต่อเนื่องมานานเกือบ ๔ ทศวรรษ อาทิ สราวุธ ประทีปากรชัย “เจ้าแมวป่า”, ชัชชัย พหลแพทย์ “นักเตะจอมฟิต”, ณรงค์ สังข์สุวรรณ “กองหลังดาราเอเชีย”, วิชิต แย้มบุญเรือง “นักเตะสารพัดตำแหน่ง”, นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ “สิงห์สนามศุภ”, พัลลภ มะกลำทอง,
มนัส วิทรมะ, ประพนธ์ ตันตริยานนท์ “จอร์จเบสต์เมืองไทย”, เจษฎากรณ์ ณ พัทลุง “สุภาพบุรุษนักเตะ”, เชิดศักดิ์ ชัยบุตร “ปีกซ้ายมหาภัย”, วิทยา เลาหกุล “ฮาล์ฟอังกฤษ”,
วรวรรณ ชิตะวณิช “เด็กมหัศจรรย์”, ชะลอ หงษ์ขจร “เจ้าหนูถีบจักร”, อำนาจ เฉลิมชวลิต “นายพันกระดูกเหล็ก”, สุทิน ไชยกิตติ “แบ็กหนวดหิน”, พิชัย คงศรี “เจ้าหัวเรดาร์”,เฉลิมวุฒิ สง่าพล “มิดฟิลด์เท้าชั่งทอง”, ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน “เพชฌฆาตหน้าหยก”, ประทีป ปานขาว “จรวดใบ้”, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง “จอมตีลังกา”, ตะวัน ศรีปาน, ฯลฯ

นักเลงฟุตบอลทีมชาติไทยหลายคนประสบความสำเร็จความรุ่งเรืองในชีวิตและหน้าที่การงาน เช่นเดียวกันหลายคนอาจไม่เท่าเทียมกัน มีไม่น้อยที่อาจถูกลืมเลือนชื่อไปบ้างแล้ว แต่เมื่อมาเปิดหน้าประวัติศาสตร์ลูกหนังเมื่อวันก่อน ชื่อของนักเตะในดวงใจของแฟนฟุตบอลไทยหลายคน อาจลอยขึ้นมาเหมือนได้เห็นภาพเก่าๆ เริ่มชัดขึ้น เคียงคู่กับตำนานของฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ตลอดไป

ณ วันนี้...ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ยังคงเปี่ยมล้นไปด้วยเกียรติยศ โดดเด่นและสูงตะหง่าน สมกับเป็นทัวร์นาเมนต์ที่เก่าแก่ที่สุดรายการหนึ่งของเอเชีย หากไม่นับรายการเมอร์เดกา ของมาเลเซีย ที่เริ่มต้นจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ฟุตบอลฉลองเอกราชเวียดนามใต้ พ.ศ. ๒๕๐๑ แต่หากนับความต่อนเองแล้ว คงไม่มีรายการใด
จะยิ่งใหญ่และยืนยง เช่น “ฟุตบอลคิงส์คัพ” เพราะแม้แต่รายการที่เกิดขึ้นในภายหลังอย่าง เมอร์ไลออน ของสิงคโปร์, ปักจุงฮีคัพของเกาหลีใต้, ที่สำคัญกล่าวได้ว่า นักฟุตบอลยอดเยี่ยมของทวีปเอเชียส่วนใหญ่ต้องเคยผ่านศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพกันมาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ดังนั้นไม่เคยมีทัวร์นาเมนต์ใดของเอเชีย ที่จะเกริกเกียรติเท่ากับฟุตบอลถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ของไทยใบนี้

ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่นายกสมาคมและคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมรูปถัมภ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันอังคารที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๒ ความตอนหนึ่ง ว่า

“...การที่สมาคมฟุตบอลได้จัดการแข่งขันนานาชาติเป็นครั้งที่ ๒ นี้ ก็นับว่าเป็นผลสำเร็จที่ดีและเป็นงานที่ไม่ใช่ง่าย เพราะว่าต้องฟันผ่าอุปสรรคหลายด้าน ทั้งในด้านการแข่งขันหรือในด้านกีฬาแท้ๆ ทั้งในด้านการจัดงาน การร่วมมือกันจัดงานซึ่งคงลำบากยากเย็นก็ผ่านพ้นไปด้วยดี และเป็นที่น่ายินดีสำหรับสมาคมฟุตบอล นับว่าเป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่งที่ได้ปฏิบัติมา ก็ขอให้สมาคมฟุตบอลได้สอดส่องกีฬาฟุตบอลให้ดี เพราะว่าคนไทยก็มีศักดิ์มีความสามารถไม่น้อยในการที่จะเล่นกีฬาฟุตบอล ยังอยู่ก็ที่จะต้องช่วยกันด้วยความสามารถด้วยความรู้ และด้วยความสามัคคี เพื่อช่วยกันสร้างนักฟุตบอลให้ดี ช่วยกันสร้างความรู้หรือความสามารถในด้านเชิงฟุตบอล ทั้งในด้านตัวบุคคลและในด้านรวมทีม ที่จะให้นักฟุตบอลของเราสามารถที่จะฟันฝ้าอุปสรรคต่างๆ ไปได้ และมีขัยชนะได้ดียิ่งขึ้น ทั้งขอให้สอดส่องในการความเป็นนักกีฬา
ของนักเตะฟุตบอล ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในกีฬาฟุตบอล คือผู้ที่เป็นฝ่ายจัดการหรือฝ่ายอำนวยการในทีมฟุตบอลต่างๆ ทั้งในด้านการอธิบายให้ผู้ดูสามารถที่จะดูกีฬาฟุตบอลโดย
มีความสรุกครึกครื้น มีความรู้ ความรื่นเริง ความตื่นเต้น และความเรียบร้อย อันนี้ก็เป็นที่หน้าที่ของสมาคมฟุตบอลเหมือนกันที่ควรจะชี้แจงให้คนทั่วๆ ไปทราบถึง
จุดประสงค์ของกีฬา ถ้าทำได้สำเร็จด้วยดีก็จะเป็นชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ของสมาคมฟุตบอล ที่จะทำให้วงการฟุตบอลของเมืองไทยมีมาตรฐานสูงขึ้นในด้านการกีฬา ...”

แม้ในอนาคตฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ อาจมีตัวแปรหลายปัจจัยมากระทบจนทำให้การจัดแข่งขันในแต่ละปีมีความยากลำบากมากขึ้น ในการที่จะนำทีมฟุตบอลระดับชั้นนำมาร่วมการแข่งขันหากแต่เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของฟุตบอล “คิงส์คัพ” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานจะมีอายุครบ ๓๙ ปี ในปี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ คงต้องเป็นหน้าที่ซึ่งสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ต้องใช้ความสามารถ และศักยภาพของบุคลากรทั้งหมดเพื่อทำนุบำรุงฟุคบอลรายการนี้ให้ยืนยงสถาพร สมกับเป็นตำนานหมายเลข ๑ ของทวีปเอเชียอย่างมั่นคง ตลอดกาล

สมกับพระเกียรติ “กษัตริย์แห่งแผ่นดินสยาม” ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลหนึ่งเดียวของวงการฟุตบอลเอเชีย สมกับเกียรติภูมิ ความภาคภูมิใจของคนในวงการฟุตบอลไทย และสมกับศักดิ์ศรี อย่างแท้จริงของนักฟุตบอลทีมชาติไทย ....

ขอขอบคุณ: สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย