ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เราควรมีเงินสำรองไว้ใช้ “ฉุกเฉิน” เท่าไหร่ดี?

ภาวะ “ช๊อตเงิน” มีผลข้างเคียงที่หนักกว่าการถูก “ไฟช๊อต” มากครับ เยอะจนคุณอาจคิดไม่ถึงทีเดียว ส่วนมากเกิดขึ้นได้บ่อยๆถี่ๆ เป็นติดต่อกันนานหลายวันหรือบางทีกินเวลาเป็นเดือน มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันไม่ทันตั้งตัวหรืออาจมีสัญญาณเตือนบ้างเล็กน้อยแต่ก็ถูกละเลย ลักษณะอาการหลักคือ สีหน้าอาจซีดเซียวจนเป็นสีเหลืองหรืออาจหน้าเขียว มีการชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องการใช้เงินอย่างฉุกเฉิน จนต้องวิ่งหยิบยืมจากญาติพี่น้องเพื่อนฝูงกันให้วุ่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงผิดจังหวะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม โดยเฉพาะตอนพยายามยืมเงินแล้วไม่ได้ ซึ่งภาวะ “ช๊อตเงิน”แบบนี้ไม่ควรให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ โดยจากสำรวจพบว่า มักเกิดขึ้นกับคนที่ประมาทและขาดการวางแผนที่รอบคอบหรือรู้แล้วแต่ละเลย

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ เคยเกิดภาวะแบบนี้บ้างมั้ยครับ? ถ้ายังไม่เคย หรือเคยแล้วแต่ไม่อยากเป็นอีก วันนี้มีทางออก

ตัวอย่างเช่น มีเงินเดือน 70,000 บาท ผ่อนคอนโดเดือนละ 20,000 บาท ผ่อนรถเดือนละ 15,000 บาท รายจ่ายประจำส่วนตัวเดือนละ 15,000 บาท รวมรายจ่ายประจำเดือนละ 50,000 บาท ในกรณีนี้คุณควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 150,000 บาทครับ

เงินสำรองอย่างน้อย 3 เดือน ใช้ได้กับคนทุกกลุ่มหรือไม่ ?
คนเราแต่ละช่วงอายุมีรายได้และความจำเป็นไม่เท่ากัน โดยสามารถแบ่งตามช่วงอายุเป็น 5 ช่วงได้ดังนี้

1.ช่วงวัยทำงาน (ก่อนอายุ 30 ปี) เป็นช่วงเริ่มต้นมีรายได้เป็นของตนเอง ในช่วงปีแรกๆอาจมีรายได้ยังน้อย เริ่มสะสมสินทรัพย์ส่วนตัว รายจ่ายมีสัดส่วนใกล้เคียงกับรายรับ ทำให้เหลือเงินเก็บไม่มากนัก แต่ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้ไม่น้อยกว่า 3 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน

2.ช่วงเริ่มต้นชีวิตคู่ (อายุประมาณ 30-35 ปี) ต้องมีการวางแผนการเงินอย่างเป็นรูปแบบมากยิ่งขึ้น เป็นการเตรียมรองรับสมาชิกใหม่ที่จะมีตามมาในอนาคต การสำรองเงินฉุกเฉินไว้ไม่น้อยกว่า 4.5 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน

3.ช่วงชีวิตครอบครัว จากการใช้ชีวิตคู่มาเริ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น พ่อ,แม่,ลูก ภาระในครอบครัวมีมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และการขยับขยายปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับขนาดครอบครัว การกันสำรองไว้ฉุกเฉินควรไม่น้อยกว่า 6 เดือนของรายจ่ายต่อเดือน

4.ช่วงหน้าที่การงานมั่นคง มีรายได้สูง ฐานะทางการเงินเป็นปึกแผ่น ยังต้องดูแลบุตรที่อยู่ในวัยเรียน และยังมีภาระเพิ่มขึ้นในการดูแลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่ที่สูงอายุ การสำรองเงินไว้ใช้ฉุกเฉินยังคงไม่น้อยกว่า 6 เดือนของรายจ่ายเท่าเดิม(แต่จำนวนมากกว่าเดิมจากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น)

5.ช่วงเตรียมเกษียณอายุ เป็นช่วงที่ลูกๆจบการศึกษาเริ่มดูแลตัวเองได้แล้ว เริ่มเตรียมตัวใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข(เป็นการวางแผนต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้) โดยค่าใช้จ่ายหลักคือด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งตามสถิติด้านประชากรศาสตร์คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น ดังนั้นการสำรองเงินฉุกเฉินในช่วงนี้จึงควรต้องมีมากกว่าช่วงอื่นๆ คือควรกันสำรองไม่น้อยกว่า 7.5 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน

บางที วัน เวลา ดูเหมือนวิ่งผ่านไปรวดเร็ว แม้ยังไม่สายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นวางแผนสำหรับอนาคตที่ดี แต่ก็ไม่ควรใจเย็นปล่อยเวลาผ่านไปโดยขาดการเตรียมพร้อมที่ดีนะครับ

โค้ด PHP:
http://business.yutcareyou.com/index.php?option=com_content&task=view&id=131&Itemid=4