งาช้าง ไม้แหย่แย้เลี่ยมทอง ถึง แหวนทองคำ



อ่านพบค่ะ เห็นว่ามีประโยชน์ เลยนำมาฝากค่ะ


ถาม การให้จะถือว่ามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายเมื่อไร ?

ตอบ หลักกฎหมายที่ยึดถือกันทั้งในโลกตะวันตกและประเทศไทยนั้นแบ่งเป็นการให้อสังหาริมทรัพย์กับสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายแตกต่างกัน ดังนี้ กรณีอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน เรือ เป็นต้น การให้จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่รัฐจึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ ส่วนสังหาริมทรัพย์อันได้แก่ สิ่งของที่เคลื่อนที่ได้และไม่ติดตรึงถาวร เช่น แก้วแหวนเงินทอง กล่องไม้สักฝังเพชร งาช้าง กรอบพระเลี่ยมทอง เป็นต้น หากมีการหยิบยื่นและผู้รับได้รับสิ่งของนั้นแล้ว ถือว่าการให้สมบูรณ์ สิ่งของนั้นมีการเปลี่ยนเจ้าของตามกฎหมายทันที



ถาม หลักการให้อยู่ในกฎหมายฉบับใด ใช้บังคับกับทุกคน ทุกหน่วยงานหรือไม่

ตอบ ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติเฉพาะกำหนดลักษณะการให้ที่แตกต่างจากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งใช้บังคับในเวลานี้ ก็ต้องยึดกฎหมายแพ่งฯเป็นหลัก หากมีการพิจารณาเรื่องการให้สิ่งของแก่บุคคล ข้าราชการ ก็ต้องยึดคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ตัดสินไว้ตามกฎหมายแพ่งฯ



ถาม ข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมืองรับงาช้างหรือแหวนทองคำในวันหยุดราชการจะใช้เป็นข้ออ้างว่ามิได้รับสิ่งของในขณะดำรงตำแหน่งนั้นแต่รับการให้ในฐานะบุคคลธรรมดาได้หรือไม่ ?

ตอบ กฎหมายกำหนดชัดว่า ข้าราชการจะพ้นสถานภาพต้องตายหรือลาออกหรือเป็นบุคคลต้องห้าม แม้จะเป็นวันหยุดราชการ เขาก็ยังเป็นข้าราชการอยู่ การรับสิ่งของที่เป็นข้อห้ามตามกฎหมายในวันหยุดราชการ จึงใช้อ้างเพื่อยกเว้นความผิดมิได้




ถาม ข้ออ้างว่า ไม่รู้มูลค่าสิ่งของขณะรับการให้นั้น ใช้มาตรฐานใดตัดสินการรับรู้ ?

ตอบ การรับรู้ของบุคคลนั้นต้องใช้หลักวิญญูชนเป็นพื้นฐานเพื่อดูว่า ผู้ถูกกล่าวหารับรู้เรื่องดังกล่าวได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น เขาเรียนจบปริญญาโทจากเมืองนอกและมีถิ่นฐานอยู่ในกทม. พูดอ่านไทยคล่อง มีเพื่อนฝูงเป็นคนไทยมาก เมื่อเป็นข้าราชการแล้วรับแหวนทองคำหนัก 1 สลึง หรือ งาช้างขนาดใหญ่มูลค่าในท้องตลาด 3 แสนบาท โดยมีการถ่ายภาพต่อหน้าสื่อมวลชนและแพร่ภาพไปทั่วโลก เมื่อมีการร้องเรียนว่าข้าราชการการเมืองคนนี้รับสิ่งของมูลค่าเกินสามพันบาทอันผิดต่อกฎหมายปรามการทุจริต เขาอ้างว่าตอนรับไม่ทราบมูลค่าสิ่งของ หลักพิจารณาการรับรู้มูลค่าเป็นปัจจัยสำคัญของข้อกล่าวหานี้ จึงต้องใช้หลักวิญญูชนมาช่วยตรวจสอบว่า บุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเดียวกับเขารู้หรือไม่ว่าสิ่งของเหล่านั้นมีมูลค่าเท่าใดในเวลาที่รับมอบการให้นั้น ถ้าคนอื่นทราบแน่ เขาก็ย่อมรับรู้มูลค่าของมันในเวลากระทำผิดด้วยตามหลักวิญญูชน จึงมิอาจใช้ข้ออ้างว่าเขาเพียงคนเดียวในเมืองไทยที่ไม่รู้มูลค่าของสิ่งของนั้น เคยมีคำพิพากษาฎีกาเรื่องการรับรู้กฎหมาย เมื่อจำเลยอ้างว่าอยู่ในป่าบนดอย จึงไม่รู้ว่าการกระทำของเขาเป็นความผิดต่อกฎหมายไทย ศาลฎีกาตัดสินว่า คนไทยจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไทยมิได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดบังคับว่า คนไทยต้องรู้กฎหมายไทย แม้ข้อเท็จจริงบางคนอาจไม่รู้กฎหมายฉบับนั้นฉบับนี้ก็ตาม กฎหมายตีเหมาว่า บุคคลในแผ่นดินไทยต้องรู้ข้อความในกฎหมายทุกฉบับที่ใช้บังคับในประเทศไทย




ถาม การให้และรับงาช้างหรือแหวนทองคำของนักการเมืองคนหนึ่งถือว่าเป็นการให้และรับตามหลักกฎหมายหรือไม่ ?

ตอบ เวลานี้หลักการให้สำหรับนักกฎหมายไทยยังต้องยึดถือคำวินิจฉัยของศาลฎีกาอยู่ คือ การให้สังหาริมทรัพย์นั้นต้องมีการส่งมอบในฐานะผู้ให้และรับไว้ในฐานะผู้รับ เมื่อต้องพิจารณาว่านักการเมืองรับสิ่งของเกินมูลค่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จึงต้องตีความก่อนว่า เขารับสิ่งของไว้หรือไม่ ถ้ามีการรับมอบสิ่งของจากผู้ให้โดยชัดเจน เช่น มีภาพ มีพยานบุคคล มองเห็นหรือแสดงว่าเขาคือผู้รับสิ่งของ ต่อไปก็ต้องดูว่า ขณะรับมอบสิ่งของเขารู้มูลค่าของมันหรือไม่ ถ้าการให้และการรับรู้มูลค่าครบสมบูรณ์จึงเท่ากับเขามีเจตนารับสิ่งของที่มีมูลค่าเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ ส่วนข้อยกเว้นความรับผิดใด ก็ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดเหล่านั้นทีหลัง หากเป็นกรณีที่ผู้รับมีอาการจิตเภทหรือปัญญาอ่อนตอนที่รับของ จักถือว่า ไม่มีการรับสิ่งของมาแต่ต้น เพราะผู้รับไม่มีสติเพียงพอขณะรับของ อีกกรณีคือ ผู้รับมีไอคิวต่ำ รับรู้ช้า จักยังถือว่าการรับสิ่งของสมบูรณ์อยู่ เพราะเขามีเจตนารับสิ่งของมูลค่าเท่าใด แค่รู้ช้ากว่าคนอื่น




ถาม การตีความเรื่อง การให้ ทำแตกต่างจากคำพิพากษาศาลหรือหลักกฎหมายได้หรือไม่ ?

ตอบ ปกติการตีความในกฎหมายนั้น เป็นเอกสิทธิ์ขององค์คณะในหน่วยงานที่กฎหมายให้อำนาจชี้ขาดได้ กรณีที่เคยมีพฤติกรรมนี้ในศาลมาก่อนและกฎหมายของตนไม่มีบัญญัติเฉพาะไว้ จักนำกฎหมายใกล้เคียงกันมาใช้วินิจฉัย ถ้าไม่เคยมีพฤติกรรมเทียบเคียงกันได้หรือไม่มีกฎหมายใดบัญญัติมาก่อน องค์คณะนั้นจะใช้วิจารณญาณส่วนตนและหลักกฎหมายเท่าที่มีอยู่วินิจฉัยตีความได้ นี่เป็นพื้นฐานของนักกฎหมายทั่วโลกใช้กันอยู่ ทั้งนี้องค์คณะของหน่วยงานต่างๆนั้นมีอำนาจตีความให้แตกต่างจากคำพิพากษาของศาลก็ได้ แต่ไม่มีอำนาจตีความขยายกฎหมายของตนอันถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบและทำลายหลักความเป็นธรรมในการพิจารณาข้อพิพาท





จาก magnadream.spaces.live.com/Blog/