เรื่องไม่เข้าใจกันของคนไข้กับหมอ




ถาม คนไข้ฟ้องแพทย์กรณีรักษาโรคไม่หายขาดตามที่รับปากไว้ได้หรือไม่ ?

ตอบ การฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต้องเป็นไปตามกฎหมายแพ่งว่าด้วยสัญญาก็ต้องมีการทำผิดสัญญาเกิดขึ้น เช่น แพทย์รับปากว่า รักษาโรคมะเร็งหายได้ ถ้าไม่หาย ก็ฟ้องผิดสัญญา ทั้งนี้คนไข้ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า แพทย์ให้สัญญาไว้ชัดเจนและเป็นที่รับรู้กันหรือไม่ซึ่งอาจต้องอาศัยสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือและรับรู้ด้วยตาหรือหูของเขาเอง มิใช่การบอกเล่าสืบต่อกันมา หากเป็นการฟ้องว่าแพทย์รักษาหรือการดูแลไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้โรคของคนไข้ไม่หายหรือมีอาการหนักขึ้น ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ถ้าแพทย์พิสูจน์ได้ว่าปฏิบัติต่อคนไข้ตามมาตรฐานของการรักษาทั่วไปแล้ว แต่โรคนั้นต้องมีความเป็นไปอย่างนั้นหรือเลือกใช้วิธีรักษาตามที่ควรจะเป็นแล้ว ก็เป็นข้อต่อสู้ที่ศาลรับฟังได้ว่าแพทย์มิได้จงใจไม่รักษาคนไข้หรือรักษาต่ำกว่ามาตรฐาน



ถาม คดีคนไข้ฟ้องแพทย์เพราะไม่พอใจการรักษาของแพทย์นั้นทำได้หรือไม่ ?

ตอบ มาตรฐานการรักษาของแพทย์มีกำหนดไว้ในกฎหมายและระเบียบต่างๆที่ควบคุมการทำงานของแพทย์ไว้เข้มงวดมาก อีกทั้งการต่อสู้คดีในศาลก็ยังใช้วินิจฉัยของแพทย์อื่นมาเปรียบเทียบกับคดีอีกด้วย ความไม่พอใจการรักษาของคนไข้ไม่ใช่สาเหตุที่จะฟ้องแพทย์ต่อศาลได้ ถ้าแพทย์ได้ปฏิบัติและรักษาคนไข้เป็นไปตามมาตรฐานและเต็มความสามารถ ความรู้ ของแพทย์คนนั้นแล้ว




ถาม ปัญหาใดจึงมีคดีคนไข้ฟ้องแพทย์เกี่ยวกับการรักษาบ่อยครั้ง ?

ตอบ การติดต่อสื่อสารกับคนไข้หรือญาติไม่ชัดเจนเพียงพอ การคาดหวังของคนไข้สูงเกินไป ทำให้การเกิดความเข้าใจผิดเมื่อมีผลข้างเคียงจากการรักษาเกิดขึ้น รวมทั้งไม่ได้เอาใจใส่กับกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองการทำงานของแพทย์ บางครั้งก็เปิดโอกาสให้คนไม่ดีนำไปใช้หากินด้วยการฟ้องแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ต้องคำนึงถึงชื่อเสียงเป็นสำคัญแลกกับค่ารักษาราคาแพง จึงเป็นจุดอ่อนให้คนไม่ดีพยายามฟ้องแพทย์เป็นอาจิณ




ถาม ทำอย่างไรให้คดีฟ้องแพทย์ลดน้อยลงหรือหมดไป ?

ตอบ ก่อนอื่นต้องปรับทัศนคติของคนไข้ว่า แพทย์ต้องการให้คนไข้หายจากโรคและทำงานเต็มความสามารถเสมอ แต่บางโรคต้องใช้เวลารักษาหรือไม่อาจรักษาหายขาดได้ ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงแม้จะไม่เกิดกับทุกคน แต่มิได้หมายความว่าจะเกิดกับคนไข้คนนั้นไม่ได้ กล้าซักถามแพทย์เมื่อมีข้อสงสัยเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีรักษา ตั้งใจรับฟังความเสี่ยงใดต่อวิธีรักษาของแพทย์ ยอมรับด้วยว่าการผ่าตัดทุกอวัยวะไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ล้วนมีความเสี่ยงต่อชีวิตทั้งสิ้น ด้านแพทย์ต้องพูดคุยและให้ข้อมูลละเอียดในวิธีรักษาหรือยาที่จะใช้กับคนไข้ รวมทั้งแจ้งความเสี่ยงในการรักษาให้คนไข้และญาติทราบทุกครั้ง โดยเฉพาะการให้ข้อมูลกับคนที่มีอำนาจแท้จริงตามกฎหมายเมื่อต้องมีการให้ความยินยอมเพื่อใช้วิธีรักษาบางอย่าง เช่น การผ่าตัด เป็นต้น คนไข้มีสติก็ต้องให้คนไข้ยินยอมเองต่อหน้าบุคคลที่กฎหมายยอมรับ ถ้าคนไข้ไร้สติก็ต้องดูว่าเขาหรือเธอแต่งงานหรือไม่ ถ้าแต่งงานแล้ว ก็ต้องให้คู่สมรสยินยอม มิใช่ให้พี่น้องมาเซ็นชื่อยินยอมแทนคู่สมรส ถ้าเป็นโสดและมีพ่อแม่ ก็ต้องให้พ่อแม่ให้คำยินยอม ถ้าไม่มีพ่อแม่ก็ให้พี่น้องร่วมสายเลือดให้คำยินยอม เป็นต้น หลักกฎหมายเหล่านี้ต้องให้ความเอาใจใส่เพราะส่งผลต่อการฟ้องคดีในศาลที่อาจทำให้แพทย์เดือดร้อนทั้งที่ทำงานด้วยความสุจริตใจ แต่ไม่เป็นที่พอใจของญาติจึงอยากลงโทษแพทย์หรือสถานพยาบาลหรือไม่อยากจ่ายค่ารักษาเอง



ถาม แพทย์ควรปรับตัวอย่างไรเพื่อไม่ต้องมีคดีกับคนไข้ ?

ตอบ แพทย์ควรมีการพูดคุยหรือให้ข้อมูลอย่างละเอียดด้วยภาษาเข้าใจง่าย และพร้อมตอบทุกคำถามของคนไข้ มีมารยาทและให้เกียรติคนไข้และญาติ ก่อนใช้วิธีรักษาที่มีความเสี่ยงต้องอธิบายให้คนไข้และญาติทราบโดยละเอียดหรือถ้าจำเป็นต้องให้เซ็นคำยินยอมรับความเสี่ยงก็ต้องชี้แจงให้คนไข้เข้าใจถ่องแท้ โดยเฉพาะคำถามปิดท้ายที่ควรติดปากไว้เสมอว่า คุณมีคำถามอีกไหม ? คุณเข้าใจความเสี่ยงเหล่านั้นแล้วใช่ไหม ? นอกจากนั้น เวลาพูดชี้แจงความเสี่ยงหรือข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของวิธีรักษาหรือยา ควรมีบุคลากรทางการแพทย์อีกคนอยู่ร่วมเป็นพยานหรือบันทึกเทปการสนทนาว่า แพทย์ได้พูดคุยข้อมูลสำคัญนี้ให้คนไข้หรือญาติรับทราบแล้วก่อนการรักษาหรือการผ่าตัด มันเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายของแพทย์กรณีคนไข้หรือญาติปฏิเสธว่า แพทย์ไม่เคยบอกสิ่งเหล่านั้นมาก่อน เราต้องไม่ลืมว่า คำพูดก็เสมือนลมปากที่ไร้รูปลักษณ์ จึงต้องเก็บสะสมมันให้เป็นรูปร่างให้ศาลมองเห็นหรือได้ยินชัด จึงยืนยันคำพูดของแพทย์ได้





จาก magnadream.spaces.live.com/Blog/