ซ่อนเร้นคนต่างด้าว



ด้วยความเจริญของเมืองไทยและหลายกิจการขาดแรงงานอย่างหนัก จึงทำให้มีคนงานต่างชาติหลบหนีเข้าไทยเพื่อขายแรงงานแลกค่าจ้างไปเลี้ยงครอบครัวของเขา ส่วนนายจ้างจำเป็นต้องรับแรงงานต่างแดนเหล่านี้เพื่อทำงานในธุรกิจของตนเพราะมิอาจหาคนงานไทยได้ แม้จะเสี่ยงต่ออันตรายหรือผิดกฎหมายก็ตาม คนงานต่างด้าวบางคนอาจก่อคดีอาญาแล้วหลบหนี ทำให้สร้างปัญหาแก่บ้านเมืองมาก รัฐจึงต้องมีกฎหมายเพื่อลงโทษคนที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยเหลือประการใดๆแก่คนต่างชาติที่เข้าเมืองโดยมิชอบเพื่อความมั่นคงแห่งชาติโดยมีบทลงโทษหนักแก่ผู้กระทำ


ปัญหาหนึ่งที่นายจ้างพบบ่อยครั้งเมื่อมีลูกจ้างต่างด้าวซึ่งเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายมาทำงานและให้ที่พักอาศัยด้วย ต่อมาตำรวจจับคนงานไปแล้วยังกล่าวหานายจ้างเพื่อให้รับโทษอาญาด้วย จึงมีกรณีพิพาทขึ้นสู่ศาลฎีกา ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 5592/2543 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 วรรค 1 กำหนดว่า ผู้ที่ให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆเพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ต้องมีโทษอาญา คนงานสัญชาติพม่าเป็นลูกจ้างส่งน้ำแข็งที่ร้านของจำเลย แม้จะให้คนงานทั้งสองพักอาศัยที่บ้านของจำเลย แต่ มีเจตนาให้คนงานทั้งสองทำงานให้จำเลยเท่านั้น หาได้มีเจตนาเพื่อให้พ้นจากการจับกุมตามหลักกฎหมายไม่ เมื่ออัยการไม่มีพยานหลักฐานอื่นสืบให้เห็นว่า จำเลยหรือนายจ้างมีเจตนาให้คนงานพ้นจากการจับกุม จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรานี้ การให้ที่พักอาศัยหรือที่ซ่อนตัวแก่คนต่างด้าวซึ่งต้องถูกลงโทษอาญานั้นขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงซึ่งแตกต่างกันได้ ศาลจักเป็นผู้พิจารณาพฤติกรรมแต่ละคดีด้วยดุลพินิจว่ามีเจตนาเช่นใด ดังนั้น ตอนนี้รัฐบาลมิได้กีดกันแรงงานต่างด้าวในกิจการจำเป็น แต่ต้องการควบคุมเพื่อความมั่นคงของชาติ เหล่านายจ้างจึงควรให้ความร่วมมือกับรัฐอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของตนเองและชาติ โดยต้องตระหนักแก่ใจว่า ไม่มีผู้ใดรักแผ่นดินไทยหรือคนไทย มากเท่ากับคนไทยอีกแล้ว




www.siamlaw.com โดย คุณ ลีลา LAW