ชิงทรัพย์และการปล้นทรัพย์



ชิงทรัพย์

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 บัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 20,000 บาท” ความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นการลักทรัพย์ของผู้อื่น โดยใช้วิธีการทำร้ายหรือใช้คำพูดหรือการกระทำข่มขู่เพื่อให้เจ้าทรัพย์มอบทรัพย์ให้แก่ตน

เช่น แดงชกหน้าดำจนดำล้มลง แล้วแดงล้วงเงินจากกระเป๋าของดำไป หรือแดงซึ่งถือมีดอยู่พูดของเงินจากดำ ดำกลัวจึงยอมมอบเงินให้แดงไป ถือว่าแดงมีความผิดฐานชิงทรัพย์

โทษชิงทรัพย์จะหนักขึ้นหากเป็นการชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน หรือมีอาวุธ หรือการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือรับอันตรายสาหัส หรือเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย




ปล้นทรัพย์

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 บัญญัติว่า “ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 14 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 30,000 บาท”

ความผิดฐานปล้นทรัพย์ เป็นการชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป


เช่น แดง เขียว และส้ม เดินเข้าไปล้อมขาวซึ่งกำลังเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าโดยเขียวกับส้มช่วยกันจับแขนของขาว แล้วแดงชักมีดออกมาพร้อมพูดกับขาวว่า ขอโทรศัพท์มือถือไม่อย่างงั้นจะแทงให้ตาย จนขาวยอมมอบโทรศัพท์มือถือให้แก่แดง ถือว่าแดง เขียว และส้ม มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์


โทษปล้นทรัพย์จะหนักขึ้น หากผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธติดตัวไป หรือใช้ปืนยิง หรือการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย