เท่าที่ทราบนะครับ ลายปู่ป๋าหลานนี้เป็นลายพิณโบราณที่มีสืบทอดกันต่อเนื่องมายาวนานแล้ว ซึ่งมีที่มาอันมาจากนิทานกรือเรื่องเล่าของชาวอีสานเรื่องหนึ่ง
ซึ่งผู้คนนั้นได้เริ่มรู้จักลายเพลงนี้อย่างแพร่หลายโดยการบรรเลงเดี่ยวพิณลายปู่ป๋าหลานนี้ของอาจารย์ทองใส ทับถนน ทั้งในระหว่างการแสดงในวงหมอลำคณะเพชรพิณทอง (ท่านใดเคยชมบ้าง ถ้าแก่หน่อย จะเกิดทัน) ของลุงแนบ และในภาพยนตร์ไทยหลายๆเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวอีสาน ซึ่ง อ ทองใส ก็ได้ร่วมแสดงอยู่หลายเรื่องเช่นกัน (ดีดพิณโชว์ในภาพยนต์) ลองหาดูได้ครับ

นิทานเรื่องปู่ป๋าหลานนี้มีอยู่โดยย่อว่า (โดยย่อนะครับ) ปู่กับหลานได้เดินทางไกลผ่านมายังทุ่งกุลาร้องไห้นี้ เดินข้ามอย่างไรก็ไม่พ้นสักที ปู่ก็จวนเจียนจะหมดแรงอยู่รอมร่อ ส่วนหลานนั้นก็ได้เอาแต่ร้องไห้งัวเงียด้วยความเหนื่อยล้า ทั้งยังกระหายน้ำจนดูท่าว่าจะเดินทางไปต่อไม่ไหว จนกระทั่งได้พลอยหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย(แต่ก่อนนี้ทุ่งกุลาร้องไห้นี้มีความทุรกันดารมาก ทั้งยังมีพื้นที่ที่กว้างใหญ่มีอาณาเขตติดต่อกันถึงห้าจังหวัด) ปู่จึงได้ใช้ผ้าขาวม้าห่อหุ้มหลานเอาไว้ แล้วนำไปไว้ยังโคนของพุ่มไม้แห่งหนึ่งเพื่อบังแดดให้แก่หลานน้อยนั้นไว้ ปู่จึงได้รีบเดินทางต่อดดยความหวังว่า จะได้พบกับหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดที่ซึ่งมีน้ำเพื่อที่จะนำไปให้หลานดื่มได้ บริเวณนี้เรียกว่า บ้านป๋าหลาน เพราะคำว่าป๋านัน้หมายถึงการทิ้ง เช่น ผัวป๋าเมีย เป็นต้น ซึ่งในบริเวณจังหวัดมหาสารคามนั้นก็มีชื่อหมู่บ้านนี้ว่าเป็นบ้านป๋าหลานอยู่ (ทราบว่าทางร้อยเอ็ดก็มีชื่อบ้านนี้อยู่ด้วย) ในท้องที่ใกล้ๆกับอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคามในปัจจุบัน

เมื่อปู่เดินทางจนมาถึงตีนบ้าน (บริเวณรอบนอกของหมู่บ้าน ก่อนที่จะเข้าสู่บริเวณกลางหมู่บ้านจริงๆ)ปู่ก็ได้รีบเขาไปขอน้ำดื่มจากชาวบ้านในหมู่บ้านนั้น (ผมจำชื่อหมู่บ้านไม่ได้ เดี๋ยวจะค้นมาให้ในภายหลังครับ ซึ่งชื่อหมู่บ้านนี้ก็มีความสอดคล้องกันกับเส้นทางที่ปู่กับหลานนั้นได้เดินทาง) พร้อมกับได้รีบนำน้ำใส่บั้งทิง (บั้งไม้ไผ่สำหรับใส่น้ำ) เพื่อที่จะนำไปให้หลานดื่ม

ส่วนหลานนั้น เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็ไม่พบปู่ ก็ร้องไห้ด้วยความเสียใจ และด้วยความกลัวตามประสาของเด็ก และจึงได้ออกวิ่ง ทั้งเดินเพื่อตามหาปู่ของตนว่าอยู่ไหน ทั้งยังพร่ำบ่นว่า ปู่นั้นได้ทิ้งตนเองไปแล้ว ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่าปู่นั้นไม่รักตนเอง ปล่อยทิ้งให้หลานนั้นอยู่เพียงลำพังคนเดียวด้วยความไม่ไยดี (ที่มาของท่อนช้าในการบรรเลงปู่ป๋าหลานที่มีทั้งความเศร้าโศก และความน้อยใจของหลาน) ซึ่งมีปรากฏเป็นบทกลอนของการลำอยู่ (การจ่ม หรือการบรรเลงเดี่ยวพิณที่มีลักษณะของการบรรเลงเป็นถ้อยคำนั้น ก็มีที่มาอันมาจากกลอนลำบทนี้) จนในที่สุดนั้นหลานก็ได้หมดแรง และล้มลง

ปู่นั้นเมื่อได้น้ำมาแล้ว ก็ได้รีบนำกลับมาให้หลานด้วยความเป็นห่วง แต่เมื่อมาถึงพุ่มไม้ที่ได้วางหลานเอาไว้ ก็กลับไม่พบหลานเลย ปู่จึงได้รีบออกค้นหาหลานไปทัั่วบริเวณนั้น (มีบทกลอนลำที่ปู่นั้นได้ออกค้นหาหลาน และเป็นอีกช่วงทำนองหนึ่งของการจ่มพิณ ที่ปัจจุบันนี้ยังไม่ปรากฏว่าได้มีใครสามารถบรรเลงได้ คือ ที่ต่อๆ เล่นๆปู่ป๋าหลานกันมานั้น มันแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น) จนกระทั่งปู่ก็ได้มาพบหลานนอนตายอยู่กลางแดดจ้าของท้องทุ่งอันแสนกันดารแห่งนี้ มีทั้งมด แมลง ไต่ชอนไชอยู่ตามรูจมูก ใบหูและปากไปทั่ว (สภาพศพของชาวอีสานในสมัยก่อนก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ)
ครั้นเมื่อปู่เห็นสภาพหลานดังนั้นแล้วก็แทบใจขาด น้ำตาร่วงหล่นด้วยความสงสารในชะตากรรมของหลานที่ต้องมาตายอย่างทุกข์ทรมาน ทั้งยังโทษตัวเองว่าทำไมจึงได้ทิ้งหลานไว้ให้อยู่คนเดียว ปู่ได้ค่อยๆอุ้มศพของหลานขึ้นแล้วเดินพาหลานกลับไปยังตีนบ้านแห่งนั้น ด้วความเศร้าโศกเสียใจ ดังกับว่าหัวใจของปู่นั้นจะแตกสลายเสียให้ได้
ต่อมาเมื่อมีความเจริญขึ้นตรงบริเวณนั้นบริเวณบ้านแห่งนั้นก็ถูกเรียกว่าเป็นบ้าน ปะหลาน ซึ่งหมายถึงบริเวณบ้านที่ปู่นั้นไก้พบกับศพของหลานนั่นเอง
ส่วนการเต้ยในตอนท้ายนั้น เป็นแบบขนบของหมอลำที่มักจะมีการเต้ยลาก่อนที่จะจบการแสดง (ลำทำนองเต้ย) ซึ่ง มมส โดยวิทยาลัยดุริยางค์ศิลป์นั้นได้ริเริ่มนำมาใช้บรรเลงต่อท้ายจากการบรรเลงลายปู่ป๋าหลาน (ได้แบบอย่างมาจากศิลปินพื้นบ้านหลายท่าน) การเต้ยลาในตอนท้ายนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกันกับลายปู่ป๋าหลานดังกล่าว

ที่มา: คุณโหวดฟ้า
เรื่องราวของปู่ป๋ะหลานเด้อครับเรื่องราวของปู่ป๋ะหลานเด้อครับ