สสส.หนุนการพี่งพาตนเอง สร้างสุขภาวะที่ยั่งยืน


“ฟ้าห่วน” หมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง

บ้านฟ้าห่วน ตำบลไร่ขี อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นชุมชนเกษตรที่ประกอบอาชีพหลักคือการทำนาตามฤดูกาล เลี้ยงสัตว์ และทำประมง แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยพบว่าประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ลดลงและมีภาระหนี้สินจำนวนมาก หลายคนต้องทิ้งถิ่นฐานไปทำงานต่างจังหวัด ครอบครัวขาดความอบอุ่น สิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคมด้านต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย

จากการวิเคราะห์สาเหตุพบว่าชุมชนบ้านฟ้าห่วนมี 5 ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขประกอบไปด้วย 1) สมาชิกภายในหมู่บ้านขาดความเสียสละ เห็นแก่ตัว ต่างคนต่างอยู่ 2) สมาชิกในหมู่บ้านไม่สามารถพึ่งตนเองได้ 3) ครอบครัวแตกแยกสมาชิกในครอบครัวขาดความอบอุ่น 4) คนในชุมชนร่างกายไม่แข็งแรงเจ็บป่วยบ่อย และ 5) สมาชิกในชุมชนมีความเสี่ยงต่อยาเสพติดและอบายมุข ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และนำไปสู่การไม่มี “สุขภาวะ” ในชุมชน





ชมรมสร้างสุขภาพบ้านฟ้าห่วน จึงได้ร่วมกับ สถานีอนามัยบ้านฟ้าห่วน จัดทำโครงการ “หมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงบ้านฟ้าห่วน จังหวัดอำนาจเจริญ” ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่มีความสุขบนพื้นฐานการดำเนินชีวิตภายใต้แนวคิด “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นางยุพิน พุฒผา หัวหน้าสถานีอนามัยฟ้าห่วนและที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยว่า เป้าหมายสูงสุดของโครงการฯ ก็คือการพัฒนาให้หมู่บ้านฟ้าห่วนเป็นหมู่บ้านสุขภาวะที่มีความอยู่เย็นเป็นสุข บนพื้นฐานความพอเพียง พออยู่ พอกินตามศักยภาพของตนเองและชุมชน ลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกให้ได้มากที่สุด โดยมีจุดเด่นคือกิจกรรมที่กระจายลงไปสู่ทุกกลุ่มเป้าหมายถึง 13 กิจกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมและแก้ปัญหาทั้ง 5 ด้านที่เกิดขึ้นกับชุมชนให้มากที่สุด อาทิ การสร้างกระบวนการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน, การปลูกพืชผักปลอดสารเคมี, การจัดตั้งกลุ่มเพาะเห็ด, ชมรมแพทย์แผนไทย, ประชาคมหมู่บ้านต้านยาเสพติด ฯลฯ

“ภารกิจสำคัญในการดำเนินโครงการ เริ่มจากการพัฒนาในเรื่องของการให้ความรู้ สร้างความตระหนักเพื่อพัฒนาในเรื่องของจิตปัญญาและองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ในการทำงาน ตามด้วยการจัดกระบวนการกลุ่มตามความสนใจและศักยภาพของแต่ละคน ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินงานจะครอบคุลมทุกกลุ่มเป้าหมายในหมู่บ้านทั้งกลุ่มอาชีพและกลุ่มอายุ จากนั้นจะนำสู่การพัฒนาแกนนำของแต่ละกลุ่มกิจกรรมให้เป็นครูภูมิปัญญาเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นหลังเพื่อสร้างความยั่งยืนของกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านฟ้าห่วนต่อไป” นางยุพินระบุ

นางประยูร กาญจนาวนารี ประธานศูนย์ฝึกอบรมเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติบ้านฟ้าห่วนเล่าว่า ที่ผ่านมาชาวนาเป็นหนี้สินจากการทำการเกษตรเพราะต้องพึ่งพาปุ๋ย ยา และสารเคมีจำนวนมาก โดยมีค่าใช้จ่ายในการทำนาต่อไร่ไม่น้อยกว่า 3,700-4,000 บาท

“ต้นทุนขนาดนี้ไม่มีทางอยู่ได้ถ้าไม่หันมาพึ่งพาตนเองและหาทางลดค่าใช้จ่ายโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ถ้าเราทำเอง ดูแลเอง ใช้ปุ๋ยที่หมักเอง จะมีต้นทุนต่อไร่ไม่เกิน 900 บาท ตอนนี้ก็เริ่มรณรงค์ให้กันกลับมาใช้วีถีการทำนาแบบดั้งเดิม มีการช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าวเพื่อลดค่าใช้จ่าย” คุณป้าประยูรกล่าว

นายสมบูรณ์ วงศ์ตา ประธานชมรมผู้สูงอายุ กล่าวถึงการดำเนินกิจกรรมโครงการฯ ในส่วนของผู้สูงอายุว่าได้มีการจัดตั้ง “กองบุญสวัสดิการท้ายบ้าน” โดยจัดให้มีสวัสดิการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่เจ็บไข้ได้ป่วยไปจนถึงเสียชีวิต

“กองทุนนี้ตั้งมาได้ 2 ปีเศษ มีเงินกองทุนรวมกันกว่า 5 แสนบาท ภาครัฐเองเมื่อรู้ว่าเรามีกองทุนเพื่อสมาชิกในชุมชนแบบนี้ก็เข้ามาสนับสนุนเงินสบทบทุนให้อีก 5 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการออกกำลังกาย โดยชักชวนให้ผู้สูงอายุมาร่วมกิจกรรมอาทิตย์ละ 3 วัน และมีการจัดลานวัฒนธรรมพื้นบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มาถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านต่างๆ ให้กับคนรุ่นใหม่” คุณตาสมบูรณ์ระบุ

นางพุทศรี จุลจรูญ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงผลดีที่เกิดขึ้นกับสมาชิกในชุมชนว่บ้านฟ้าห่วนา ทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกที่ดีขึ้นในการประกอบอาชีพจากการเข้ากลุ่มอาชีพหรือกิจกรรมที่เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง มีทางเลือกในการบริโภคพืชผักที่ปลอดปลอดสารพิษ คนในชุมชนก็มีความรักสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้นผ่านการทำงานและกิจกรรมต่างๆร่วมกัน

“สิ่งที่สร้างกำลังใจให้กับทุกคนในชุมชนก็คือ การที่ส่วนงานราชการต่างๆ เข้ามาส่งเสริม ผลักดันและสนับสนุนในสิ่งที่ชุมชนยังขาดและไม่สามารถทำได้ ทำให้เกิดการพัฒนาและสมาชิกในชุมชนของเราก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอันดีงามอย่างการลงแขกเกี่ยวข้าวก็กลับคืนมา ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แล้วก็มีความฝันร่วมกันคือต้องการที่จะทำให้ชุมชนของเราเป็นหมู่บ้านที่มีความสุขบนพื้นฐานแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง” นางพุทศรีกล่าว
นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. ระบุว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการคิดอย่างมีเหตุผล มีความพอประมาณ และใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต เป็นสิ่งที่สามารถนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพและการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่สามารถอธิบายในเรื่องของความพอเพียงได้เป็นอย่างดี

“เกษตรที่ใช้ปุ๋ยหมักในการทำเกษตรอินทรีย์จะช่วยทั้งเรื่องของสุขภาพของชาวบ้านที่ห่างไกลจากสารเคมี ผลผลิตก็ปลอดสารพิษ คนก็ก็ปลอดภัย หรือในเรื่องของความพอเพียงความประหยัดก็จะมีการทำบัญชีครัวเรือนเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งแนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังตอบโจทย์ในเรื่องของการสร้างสุขภาวะให้กับชุมชน โดยถ้าเราสามารถดำรงชีวิตบนพื้นฐานของความพอเพียงก็จะทำให้สังคม ชุมชน หรือหมู่บ้านนั้นๆ สามารถดำรงตนได้อย่างมีความสุขและมีสุขภาวะมากขึ้น” นางงามจิตต์กล่าวสรุป







ที่มา : สำนักข่าว สสส.