จางเชียน นักการทูตและนักเดินทางในสมัยฮั่น
ผู้บุกเบิก "เส้นทางสายไหม"





จางเชียน

จางเชียน ผู้บุกเบิก "เส้นทางสายไหม"


การเดินทางครั้งแรก

จางเชียน (Zhang Qian : ปีเกิดไม่แน่ชัด - 113 ปีก่อนคริสตศักราช) เมื่อ 138 ปีก่อนคริสตศักราช ได้รับพระบัญชาจากฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ (Emperor Wu of Han) แห่งราชวงศ์ฮั่น ให้เดินทางไปยังดินแดนทางทิศตะวันตก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับพวกโย่วจือ (Yuezhi) เพื่อจะได้ช่วยกันปราบปรามพวกชนเผ่าซงหนู (Xiongnu) อย่างเด็ดขาด โดยดินแดนตะวันตกในสมัยฮั่นนั้น ก็คือ ดินแดนที่เป็นมณฑลซินเจียง (Xinjiang) ของจีนในปัจจุบัน โดยในสมัยฮั่นเมื่อสองพันกว่าปีก่อนนั้นถือว่าอยู่นอกเหนือการปกครองของราชวงศ์ฮั่น

จางเชียนออกเดินทางจากเมืองฉางอาน (Chang'an) พร้อมด้วยคณะอีกร้อยกว่าคน พร้อมกับของมีค่าที่ฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้สั่งให้นำไปบรรณาการให้กับประเทศต่างๆ ที่จางเชียนเดินทางไปถึง แต่ทว่า เมื่อจางเชียนเดินทางไปถึงพื้นที่ซึ่งก็คือ ระเบียงเหอซี (Hexi Corridor) ในปัจจุบัน เขาก็ต้องประสบกับฝันร้าย

จางเชียนถูกพวกซงหนูจับตัวไว้ แต่ไม่ได้ฆ่าทิ้ง แถมพวกซงหนูยังพยายามโน้มน้าวให้มาเป็นพวก ถึงขนาดหาภรรยาชาวซงหนูให้ แต่จางเชียนก็ไม่เคยลืมภารกิจที่ได้รับมอบหมายมา คิดหาทางที่จะหนีจากพวกซงหนูอยู่ตลอดเวลา จางเชียนถูกกักตัวอยู่นานกว่าสิบปี สุดท้ายก็หนีออกมาได้ จากนั้นจึงเดินทางต่อไปถึงประเทศต้าเอวียน (Dayuan, ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน) เพื่อสานสัมพันธ์ทางการทูตเป็นประเทศแรก จากนั้นเดินทางผ่านคังจวี (Kangju) ไปยังต้าโย่วจือ (Da Yuezhi) เพื่อแสวงความร่วมมือในการสู้รบกับซงหนูต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อจางเชียนเดินทางไปถึงต้าโย่วจือ เขากลับพบว่า ต้าโย่วจือได้ย้ายถิ่นฐานของตนเองไปแล้วหลังจากถูกซงหนูบุกเข้าโจมตี พวกต้าโย่วจือและคนของตนอพยพไกลออกไปทางทิศตะวันตก ไกลถึงพื้นที่ซึ่งเป็นประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน

เมื่อจางเชียนบากบั่นเดินทางตามรอยต่อไป จนพบกับผู้นำของต้าโย่วจือในที่สุด ทว่า ด้วยความหวาดกลัวกับความฉกาจฉกรรจ์และป่าเถื่อนในการรบของพวกซงหนู ประกอบกับต้าเยว่จือมีความสงบสุขดีแล้ว ไม่ต้องการทำสงครามกับซงหนูอีก ผู้นำของต้าโย่วจือจึงตอบปฏิเสธที่จะร่วมมือกับราชวงศ์ฮั่นสู้รบกับซงหนู จางเชียงจึงจำใจต้องเดินทางกลับ

หลังจากออกจากต้าโย่วจือ จางเชียนก็เดินทางกลับมายังเมืองหลวงฉางอาน ผ่านเส้นทางเลียบภูเขาฉีเหลียน ที่อยู่ในเขตของชนเผ่าเชียง แต่ก็ประสบกับเคราะห์อีกเมื่อถูกพวกซงหนูจับตัวไปกักขังอีกร่วมปี ในที่สุดก็สามารถหนีออกมาได้พร้อมกับภรรยาและลูก และเดินทางกลับถึงฉางอานในที่สุด ในปีที่ 126 ก่อนคริสตศักราช รวมเวลาเดินทางทั้งสิ้นถึง 13 ปี

แม้ภารกิจจะล้มเหลว แต่จางเชียนก็กลับมาพร้อมกับเรื่องราวและข้อมูลต่างๆ มากมายเกี่ยวกับดินแดนทางตะวันตก เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แก่จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ ประวัติศาสตร์จีนจึงถือสาเหตุของการเดินทางไปดินแดนตะวันตกในครั้งนั้น และการผจญภัยของจางเชียนเป็นจุดกำเนิดของ "เส้นทางสายไหม"



จางเชียน






การเดินทางครั้งที่สอง

หลังจากกลับมาถึงฉางอานได้เพียงไม่กี่ปี ต่อมาในปี 119 ก่อนคริสตศักราช ฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ก็ส่งจางเชียนออกไปปฏิบัติภารกิจทางการทูตกับดินแดนตะวันตกอีกเป็นครั้งที่สอง โดยจุดมุ่งหมายของการเดินทางครั้งนี้เป็นการไปสานสัมพันธ์กับเผ่าอูซุน (Wusun) เพื่อโจมตีซงหนูอีกครั้ง

คราวนี้ คณะฑูตของจางเชียน ประกอบด้วยคน-ทหารเพิ่มขึ้นเป็น 300 คน พร้อมกับ ม้า วัว แพะนับหมื่นตัว รวมทั้งเครื่องทองและแพรพรรณมากมาย เพื่อเป็นของขวัญของกำนัลให้แก่กษัตริย์อูซุน
อย่างไรก็ตาม หลังจากได้เข้าเฝ้าแล้ว กษัตริย์เมืองอูซุนก็เป็นปลื้มมาก แต่ก็ไม่กล้าตัดสินใจเป็นพันธมิตรร่วมรบกับราชสำนักฮั่น ด้วยยังเกรงกลัวอิทธิพลของพวกซงหนู จางเชียนพยายามเกลี้ยกล่อมอย่างหนัก ในขณะเดียวกันก็แบ่งผู้ช่วยให้เดินทางไปสร้างสัมพันธ์ยังเมืองอื่นๆ เช่น ต้าเอวียน คังจวี ต้าโย่วจือ ต้าเซี่ย อันสี เซินตู๋ ฯลฯ ปรากฏว่า ภารกิจในการชักชวนเมืองต่างๆ ให้มาร่วมโจมตีพวกซงหนู กลับล้มเหลวอีกครั้ง แต่ก็ประสบความสำเร็จในด้านการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีและการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม กษัตริย์อูซุนจึงส่งคณะทูตตามมาส่งจางเชียนถึงนครฉางอาน ในปี 115 ก่อนคริสตศักราช พร้อมกับถวายเครื่องบรรณาการตอบแทนฮั่นอู่ตี้ หลังจากนั้นในปีต่อๆ มา คณะทูตผู้ช่วยของจางเชียนก็ทยอยกันกลับจากเมืองต่างๆ ทางดินแดนตะวันตก พร้อมกับผู้แทนและของกำนัลแปลกๆ จากแดนไกล

การเดินทางไปเพื่อปฏิบัติภารกิจทางการเมือง-การทูตของจางเชียน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จดังเป้าประสงค์ ก็คือ การแสวงหาความร่วมมือจากชนกลุ่มน้อยเพื่อร่วมกับราชวงศ์ฮั่นในการโจมตีชนเผ่าซงหนู แต่การเดินทางบุกเบิกดินแดนตะวันตกในครั้งแรก และครั้งที่สองของจางเชียน ก็ถือเป็นการถางทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันตกสำเร็จเป็นครั้งแรก ขณะที่ทูตานุทูตคนอื่นๆ ที่ได้รับคำสั่งจากจางเชียนให้เดินทางไปยังประเทศอื่นๆ นั้นก็สามารถเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศทั้งหลายได้เป็นผลดี

ความสำคัญในการเดินทางทั้งสองครั้งของจางเชียนั้น ส่งให้นักวิชาการจีนในปัจจุบัน เมื่อจะกล่าวถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของจีนกับโลกภายนอกแล้ว โดยปกติแล้วก็จะถือเอาว่า การเดินทางของจางเชียนเป็นประวัติศาสตร์หน้าแรกของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของจีน และนับถือว่าจางเชียนเป็นนักการทูตผู้ยิ่งใหญ่คนแรกของประวัติศาสตร์ชาติ

การเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของจางเชียน นอกจากจะมีคุณูปการทางด้านการทูต ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ที่การเดินทางของเขาถูกรวบรวมและบันทึกไว้อย่างละเอียดในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มสำคัญของจีนอย่าง สื่อจี้ ของซือหม่าเชียน และ ฮั่นซู แล้ว คุณูปการที่อาจจะถือว่าสำคัญที่สุดของจางเชียนก็คือ การสร้างความปลอดภัยให้กับเส้นทางจากตะวันตกที่ทอดยาวมาสู่เมืองหลวงฉางอานของจีน หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ การเปิดเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับดินแดนทางทิศตะวันตกขึ้นมาใหม่นั่นเอง



จางเชียน