จิตปราศจากกิเลส


ความทุกข์นานาประการที่ต่างได้พบได้เห็น
ได้ประสบกันอยู่ทุกวันนี้ มีกิเลสเป็นเหตุทั้งสิ้น




หมดราคะ โทสะ โมหะแล้ว
จิตผ่องแผ้ว เลิศดี ไม่มีสอง
ย่อมมีค่า สูงจริง ยิ่งเงินทอง
เหมือนสูริย์ส่อง ท้องฟ้า สง่างาม





แทบทุกคนรู้จักคำว่า “กิเลส” รู้ว่ากิเลส หมายถึง ความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ส่วนมากก็สักแต่ว่ารู้เท่านั้น ไม่เข้าใจเพียงพอสมควร จึงไม่รู้ว่าในบรรดาสิ่งที่น่ารังเกียจน่ากลัวทั้งหมด...กิเลสเป็นที่หนึ่ง


กิเลส ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านได้แบ่งประเภทของกิเลสออกเป็นดังนี้ คือ

๑.ราคะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

-ความโลภอย่างแรงจนแสดงออกมา เช่นการลักขโมย ปล้น จี้ ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น (อภิชฌาวิสมโลภะ)

-ความเพ่งเล็งจะเอาของคนอื่นมาเป็นของตัว มีใจอยากได้ของคนอื่นแต่ยังไม่ถึงกับแสดงออก (อภิชฌา)

-ความอยากได้ในทางไม่ชอบ เช่นการยอมรับสินบน การทุจริตเพื่อแลกกับการมีทรัพย์เป็นต้น (ปาปิจฉา)

-ความมักมากเห็นแก่ได้ ด้วยการเอามาเป็นของตนจนเกินพอดี เอาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น (มหิจฉา)

-ความยินดีในกาม ก็คือยังไม่สามารถละกิจกรรมทางเพศได้ ยังมีความรู้สึก มีแรงกระตุ้น มีความพอใจในเรื่องเพศ (กามระคะ)

-ความยินดีในรูปธรรมอันปราณีต ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาณ ปรารถนาในรูปของภพเมื่อทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไป (รูปราคะ)

-ความยินดีในอรูปฌาณ ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาณเมื่อทำสมาธิถึงภพของอรูปพรหม (อรูปราคะ)

๒.โทสะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

-พยาบาท คือการผูกใจอาฆาต มีใจที่ไม่หวังดี การจองเวร

-โทสะ คือการคิดประทุษร้าย เนื่องด้วยมีใจพยาบาทแล้วก็มีใจคิดหมายทำร้าย

-โกธะ คือความโกรธ ความเดือดร้อนใจ ซึ่งล้วนเป็นเหมือนไฟที่เผาตัวเอง

-ปฏิฆะ คือความขัดใจ ความไม่พอใจอันทำให้อารมณ์หงุดหงิด

๓.โมหะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

-ความเห็นผิดเป็นชอบ เช่นการไม่เชื่อในเรื่องบาป เรื่องบุญเป็นต้น (มิจฉาทิฐิ)

-ความหลงผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง (โมหะ)

-การเห็นว่ามีตัวตน เช่นการเชื่อในสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น (สังกายทิฏฐิ)

-ความสงสัย คือสงสัยในพระธรรม คำสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ (วิจิกิจฉา)

-การยึดถืออย่างงมงาย เช่นการไปกราบไหว้สัมพเวสีที่อยู่ตามต้นไม้ ขอลาภเป็นต้น (สีลัพพตปรามาส)

-ความถือตัว คือการสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ (มานะ)

-ความฟุ้งซ่าน คือการที่จิตใจว่อกแวก คิดไม่เป็นสาระ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีสมาธิ หรือการทำสมาธิไม่นิ่ง (อุทธัจจะ)

-ความไม่รู้จริง คือการที่รู้แค่ผิวเผิน หรือการทึกทักเอาเอง ไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรม ยังไม่เกิดปัญญา (อวิชชา)

เพื่อบริหารจิต ควรพยายามพิจารณาให้เห็นความน่ารังเกียจน่ากลัวของกิเลส ซึ่งที่จริงก็มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งเห็นได้ยากจนเกินไปนัก ทุกเวลานาทีกิเลสแสดงความน่ารังเกียจน่ากลัวให้ปรากฏมิได้ว่างเว้น มิได้หลบซ่อน แต่อย่างเปิดเผย อย่างอึกทึกครึกโครมทีเดียว

การประหัตประหารกัน ลักขโมยฉ้อโกงกัน โกงกินกัน ใส่ร้ายป้ายสีแอบอ้างทำลายกันด้วยวิธีต่างๆ ก่อให้เกิดความสูญเสียชอบช้ำ ทุกข์โศกสลดสังเวชมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากอะไรอื่น แต่เกิดจากกิเลส

กิเลสมีอิทธิพลอย่างยิ่ง สามารถก่อให้เกิดดังกล่าวได้ และสามารถก่อได้อย่างไม่หยุดยั้ง อย่างไม่ต้องพักเหนื่อย ความทุกข์นานประการที่ต่างได้พบได้เห็นได้ประสบกันอยู่ทุกวันนี้ มีกิเลสเป็นเหตุทั้งสิ้น

กิเลสตัวโลภะหรือราคะ ปรากฏให้เห็นอยู่กันทั่วไป
โดยเฉพาะกิเลสที่ปรากฏอยู่ในใจของตนเอง

แม้ต้องการจะเห็นโทษ เห็นความน่ารังเกียจน่ากลัวของกิเลส ก็พึงทำใจให้มั่นคงว่าต้องการเช่นนั้นจริง ต้องการจะรู้จักโทษของกิเลสและหน้าตาที่น่าเกลียดน่ากลัวของกิเลสจริง

เมื่อทำความแน่วแน่มั่นคงเช่นนั้นแล้ว ก็จะสามารถรู้จักกิเลสได้อย่างแน่นอน ตั้งแต่ชีวิตเริ่มต้นในวันใหม่ทีเดียว แม้มีสติตั้งใจจะดูหน้าตาของกิเลสก็จะเห็น ไม่ว่ากิเลสของเราเองหรือกิเลสของผู้ใดอื่นก็จะเห็น

กิเลสตัวโลภะหรือราคะปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วบ้างทั่วเมือง ที่ไม่เห็นกันก็เพราะเห็นแล้วไม่มีสติรู้ว่าเห็นกิเลส โดยเฉพาะกิเลสที่ปรากฏอยู่ในใจตนเองยิ่งพากันละเลย มีโลภะหรือราคะอยู่ท่วมหัวใจ ก็หามีสติรู้ไม่ว่านั่นเป็นโลภะหรือราคะ

ความอยากได้นั่นอยากได้นี่ โดยเฉพาะที่จะต้องใช้ความพยายามที่ไม่ชอบ เพื่อให้ได้สมปรารถนา คือ ความโลภที่เด่นชัด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการอยากได้ทรัพย์สินเงินทองข้าวของเท่านั้น การอยากได้ชื่อเสียงสรรเสริญเกียติยศบริวาร โดยเฉพาะที่ไม่สมควร ก็เป็นความโลภหรือราคะเช่นเดียวกัน

พึงทำความเข้าใจในเรื่องของความโลภให้ถูกต้อง

พึงทำความเข้าใจในเรื่องความโลภให้ถูกต้อง ถ้าเข้าใจเพียงแคบๆ ว่า หมายถึง การอยากได้ หรือแสวงหาอย่างไม่ชอบซึ่งสมบัติพัสฐานเท่านั้น ก็จะไม่รู้จักกิเลสอย่างถ่องแท้ จะไม่แก้ไขจิตใจที่มุ่งมาดปรารถนาความมีหน้ามีตา มีบริษัทบริวาร ซึ่งอาจนำให้ทำไม่ถูกไม่ชอบได้ด้วยอำนาจความมุ่งมาดปรารถนาที่เป็นโลภะนั้น

ใจที่มีโลภะหรือราคะท่วมทับ จะเป็นปกติสม่ำเสมอ
ส่วนโทสะ จะเกิดเป็นครั้งคราวเท่านั้น

ยุคนี้สมัยนี้ การฆ่ากันทำลายกันส่วนใหญ่ มิได้เกิดจากมีโทสะความโกรธเป็นเหตุ แต่เกิดจากโลภะความโลภ เป็นเหตุมากกว่า แม้ไม่พิจารณาให้รอบคอบก็จะรู้สึกเหมือนว่า กิเลสกองโลภะ หรือ ราคะ ไม่มีโทษร้ายแรงนัก ที่จริงมีโทษหนักนัก

ใจที่มีโลภะ หรือราคะท่วมทับ จะเป็นไปอยู่เป็นปกติสม่ำเสมอ ส่วนโทสะจะเกิดเป็นครั้งคราวเท่านั้น จึงควรพิจาณากิเลสกองโลภะหรือราคะให้เป็นพิเศษ

การยกย่องคนดี หลีกเลี่ยงคนไม่ดี
แสดงถึงความมีสัมมาทิฐิ...ความเห็นชอบ เห็นถูก

การยกย่องคนดี หลีกเลี่ยงคนไม่ดี เป็นการแสดงความมีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ เห็นถูก

การทำใจว่ากรรมของผู้ใด ผลเป็นของผู้นั้น เป็นสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบเห็นถูก แต่การแสดงออกหรือการปฏิบัติต้องไม่เป็นแบบชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ การปฏิบัติเช่นนั้นไม่ใช่สัมมาทิฐิ เรื่องของใจกับเรื่องการแสดงออก จำเป็นต้องแยกจากกันให้ถูกต้องตามเหตุผล จึงจะเป็นสัมมาทิฐิ

การทำความดีแต่ละครั้งนั้น ไม่ใช่ว่าผู้ทำจะได้รับ
ผลดีด้วยตนเองเท่านั้น แต่ย่อมเกิดแก่ผู้อื่นด้วย

ทุกคนเป็นบุถุชน ย่อมยังต้องการกำลังใจ คือ ต้องการความสนับสนุนจากผู้อื่น เป็นการยากนักที่จะมีผู้ไม่แยแสความสนับสนุนจากภายนอก มีความมั่นใจตนเองเพียงพอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการยกย่องสนับสนุนคนทำดี เพื่อให้มีกำลังใจทำความดีให้ยิ่งขึ้นต่อไป

การที่มีผู้ทำความดีแต่ละครั้งนั้น ไม่ใช่ว่าผู้ทำจะได้รับผลดีด้วยตนเองเท่านั้น แต่ผลดีย่อมจักเกิดแก่ผู้อื่นด้วยเป็นแน่นอน ผลดีหรือความดีที่มียู่หรือที่เกิดขึ้นนั้น มีอานุภาพกว้างขวาง ยิ่งเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่เพียงไร แม้จะเกิดจากการกระทำของผู้ใดผู้หนึ่งเพียงคนเดียวก็ตาม ผลของความดีนั้นก็สามารถแผ่ไกลไปถึงผู้อื่นได้ด้วยอย่างแน่นอน ไม่ใช่ว่าผลดีจะมีขอบเขตจำกัดอยู่เฉพาะผู้ทำเท่านั้น

เพื่อให้เข้าใจชัดเจน พึงพิจารณาความจริงที่ปรากฏอยู่ ผู้ที่ตั้งใจทำความดีนั้น จะไม่มุ่งผลเฉพาะตน เช่นผู้ที่ตั้งใจมั่นจะเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่คิดโกง จะต้องมุ่งผลเพื่อผู้อื่นด้วย เช่นมุ่งรักษาชื่อเสียงวงศ์สกุลของตนและญาติพี่น้องไม่ให้เสื่อมเสีย เพราะความคดโกงของตน ไม่ได้มุ่งจะให้ใครยกย่องสรรเสริญตนเองเท่านั้น

อันความมุ่งคำนึงถึงผู้อื่นด้วยนี้เป็นธรรมดาสำหรับผู้มุ่งทำความดีด้วยใจจริง อาจแตกต่างกันเพียงว่าจะคำนึงถึงผู้อื่นได้ไกลตัวออกไปมากน้อยเพียงไรเท่านั้น ทุกคนพึงตระหนักในความจริงนี้ และให้ความใส่ใจในการทำความดีของผู้อื่น แม้จะเพียงผู้อื่นที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับตนก็ยังดี

เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งทำความดี
ควรแสดงความรับรู้อย่างชื่นชมให้เขาได้รู้เห็น

เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งทำความดี ได้รู้ได้เห็นเข้า อย่างน้อยก็ควรแสดงความรับรู้อย่างชื่นชมให้ผู้ทำความดีนั้นรู้เห็น เพื่อเป็นกำลังใจ เพื่อส่งเสริมให้ไม่ท้อแท้เหนื่อยหน่าย ต่อการที่จะทำความดีต่อไป อย่างมากก็ให้เกิดความซาบซึ้งชื่นชมในความดีของผู้อื่นอย่างจริงจับ และที่ไม่ควรยกเว้นก็คือ ให้คิดว่าผู้ทำความดีนั้นไม่ได้ทำเพื่อตัวเขาเองเท่านั้น แต่เขาทำเพื่อเราด้วย

ความดีนั้นมีอานุภาพยิ่งใหญ่
มีอานุภาพกว้างไกลมหัศจรรย์เป็นยิ่งนัก

อันบรรดาผู้ทำคุณงามความดีเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นั้น ไม่ใช่เป็นผู้เดียวที่ได้รับผลดี เราทุกคนแม้จะได้ร่วมทำความดีนั้นด้วยหรือไม่ได้ทำด้วยเลยก็ตาม ก็ย่อมต้องมีส่วนได้รับผลดีจากการกระทำของบรรดาผู้ทำความดีดังกล่าวด้วยทั้งหมด

ความดีอื่นก็เช่นกัน เช่น บรรดาผู้ถือศีลทั้งหลายเป็นต้น ไม่ได้เป็นผู้เดียวหรือพวกเดียวที่ได้รับผลดีจากการรักษาศีล อันเป็นความดีอย่างยิ่งนั้น แต่บรรดาผู้ไม่ถือศีล ผู้ผิดศีลอย่างมากทั้งหลาย ก็ล้วนมีส่วนได้รับผลดีจากการถือศีลของผู้อื่นทั้งสิ้น กล่าวได้ว่า “ความดีนั้นมีอานุภาพยิ่งใหญ่ กว้างไกลมหัศจรรย์นัก”

คำแนะนำที่ประเสริฐเลิศล้ำเพียงไร
หากไม่ปฏิบัติตาม ก็หาเป็นคุณประโยชน์ไม่

คำแนะนำสั่งสอนตักเตือน แม้ที่ประเสริฐเลิศล้ำเพียงไรก็ตาม หาอาจเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ผู้ใดได้ไม่ หากผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนตักเตือนนั้น





จิตปราศจากกิเลสจิตปราศจากกิเลสจิตปราศจากกิเลส



ชีวิตไม่พอกับตัณหา เวลาไม่พอกับความต้องการ

ไม่มีอะไรเป็นของเรา แม้แต่ตัวของเราเอง

ที่พักครั้งสุดท้าย คือ ป่าช้า

จงมีสติ ตั้งมั่นเป็นกลาง อย่าประมาทชีวิตนี้แล



จิตปราศจากกิเลสจิตปราศจากกิเลสจิตปราศจากกิเลส





ที่มา .....

dhammathai.org/treatment/poem/poem37.php

dhammajak.net/book-somdej5/9.html