จดหมายเหตุเพลงลูกทุ่ง
โดย...นักเพลงรากหญ้า
บทเพลงก็เปรียบเสมือนจดหมายเหตุ ที่ครูเพลงหรือนักแต่งเพลงใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆผ่านคำร้องและทำนอง ในช่วงสถานการณ์นั้นๆ เพลงเป็นจดหมายเหตุที่ใช้ศิลปะในการนำเสนอซึ่งบางครั้งก็ใช้คำตรงๆ บางครั้งก็ใช้การอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบเปรียบเปรย ให้คนฟังใช้จินตนาการเอาเอง
การบันทึกเรื่องราวต่างๆไม่ว่าจะเป็น สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ผ่านคำร้องและทำนองอันลื่นไหลนับว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัวของครูเพลงแต่ละท่าน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ ยากที่จะเลียนแบบกันได้ เพลงบางเพลงแค่ฟังสำนวนที่ใช้ในบทเพลง เราก็สามารถคาดเดาได้ว่าใครเป็นคนแต่งหรือประพันธ์เพลงนั้น
ในแต่ละยุคสมัย นักแต่งเพลงได้มีบทบาทในการบันทึกเรื่องราว สถานการณ์ต่างๆไว้ในบทเพลงมากมาย เช่น ครูคำรณ สัมบุณณานนท์ (7 มกราคม พ.ศ. 2463 - 30 กันยายน พ.ศ. 2512) , ครูเสน่ห์ โกมารชุน (14 กันยายน พ.ศ. 2466 - ?) ฯลฯ
“ยุคนั้นเป็นยุคที่หนังคาวบอยกำลังเฟื่องฟู คำรณเขามักจะแต่งชุดชาวนา คาวบอยเมืองไทย เที่ยวร้องเพลง สลับฉากตามโรงละคร บางวันเขาก็ บอกว่า เขาคือ วิลเลี่ยม เมืองไทย" ครูพยงค์ มุกดา เคยเล่าถึงครูคำรณ ไว้ในตอนหนึ่ง
สองขุนพลเพลง ผู้ยิ่งใหญ่ในเวลานั้น เสน่ห์ โกมารชุน และ คำรณ สัมบุณณานนท์ เคยร่วมกัน ทำเพลง สามล้อแค้น จนกระทั่งดังไปถึงโรงพัก นี่เองที่ทุกคนกล่าวขวัญถึงเขา ว่าเป็นนักร้องอันตราย
เสน่ห์ โกมารชุน เป็นคนพูดจาจริงจังโผงผาง ส่วนคำรณ เป็นคนที่กล้าร้องเพลง ที่บอกถึงเรื่องราวการเมือง และเสียดสีอำนาจรัฐ ในยุคนั้น เพราะเขาถือว่าชีวิตนี้ เขาไม่มีอะไรต้องสูญเสียอีกต่อไป คุกก็เข้ามาแล้ว เป็นกบฏ ก็เป็นมาแล้ว เพลงหนักๆ ที่คำรณ เข็นออกมา ท้าทายอำนาจเผด็จการทหารช่วงนั้น เป็นเรื่องกล้าหาญ อย่างที่ไม่มีนักร้องคนใดเทียบติดได้ อย่างเพลง ใครค้านท่านฆ่า หรือ อสูรกินเมือง กล่าวถึงการสังหารโหดทางการเมือง โดย กล่าว ชื่อนาม ของนักการเมือง ในเนื้อร้อง ออกมาอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ครูคำรณมีความรู้สึกอึดอัด กับสภาพ การเมือง ในช่วงนั้นมากที่สุด อย่างเพลงใครค้านท่านฆ่านั้น ท่านได้แต่งร่วมกับพี่ชาย ที่ชื่อว่า อรุณ สัมบุณณานนท์ ตัวของเพลงนั้นแสดงถึง ภาพความคิดของครูคำรณ ไว้อย่างเด่นชัด ครูไพบูลย์ บุตรขันธ์ (4 กันยายน พ.ศ. 2461 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2515) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังงานเพลงของครูคำรณ เป็นกำลังสำคัญ ในการถ่าย ทอดเรื่องราว ทางการเมืองของ ครูคำรณ นอกจากนี้ ยังมี ครูป.ชื่นประโยชน์ สุรพล พรภักดี เป็นต้น
เพลงของครูคำรณ ไม่ได้มีเพียงเพลงสะท้อนภาพทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีเพลงสะท้อนภาพชนชั้นล่าง ในสังคม ทั่วไปอย่างเพลง ชีวิตครู คนขายยา คนเพนจร พ่อค้าหาบเร่ ชีวิตคนเครื่องไฟ ฯลฯ ในจำนวนเพลงทั้งหมดที่กล่าวมา ชาวนาชนชั้นล่าง ของประเทศ มาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ตาสีกำสรวล หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ชาวนากำสรวล ยอมดับคาดิน เป็นต้น เพลงเหล่านี้กลายมาเป็นต้นแบบของเพลงเพื่อชีวิตทุกวันนี้
นอกจากเพลงของครูเพลงทั้ง 3ท่าน ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเพลงของครูเพลงท่านอื่นๆอีกมากมาย ที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม เช่น เพลงน้ำมันแพง ของ ครูสรวง สันติ, เพลงอีสานบ้านเฮา ของ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา,เพลงสยามเมืองยิ้ม ของ ครูลพ บุรีรัตน์,เพลงจดหมายจากแม่ ของ ครูชลธี ธารทอง,เพลงยาใจคนจน ของ ครูสลา คุณวุฒิ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าบทเพลงลูกทุ่งเปรียบเสมือนจดหมายเหตุอีกประเภทหนึ่ง ที่ครูเพลงหรือนักแต่งเพลงใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆในสังคม โดยใช้ศิลปะในการนำเสนอเรื่องราวให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น.